อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ
บทสรุปผู้บริหาร
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญต่อเศรษฐกิจไทย โดยเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่ทำรายได้สูงสุดให้กับประเทศไทยมานานหลายทศวรรษ และมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของประเทศในห้วง 10 ปีที่ผ่านมา นอกจากนี้ ประเทศไทยยังมีความพร้อมเพียงพอที่จะก้าวเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคและของโลกได้
จุดเด่นสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (พลอยสี) ของภูมิภาค รวมทั้งความสามารถของช่างฝีมือไทยในการเผาพลอยสีและเจียระไนพลอยที่มีคุณภาพและประณีต อย่างไรก็ตาม อุตสาหกรรมมีความจำเป็นต้องนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศ เนื่องจากแหล่งวัตถุดิบในประเทศมีทรัพยากรเหลือน้อยและไม่เพียงพอสำหรับการผลิตอีกต่อไป
สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างหนัก โดยเฉพาะยอดคำสั่งซื้อที่ลดลงจากในอดีต ทั้งจากการส่งออกสินค้าที่มีข้อจำกัดและนักท่องเที่ยวต่างชาติที่หายไป ส่งผลให้ธุรกิจขาดสภาพคล่อง และสูญเสียการจ้างแรงงานที่มีฝีมือไปบางส่วน
ปัญหาและข้อจำกัดของอุตสาหกรรม ได้แก่ อุตสาหกรรมต้นน้ำขาดแคลนวัตถุดิบและพึ่งพิงการนำเข้าเป็นหลัก อุตสาหกรรมกลางน้ำขาดแคลนแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม และขาดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ส่วนอุตสาหกรรมปลายน้ำขาดการออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ทันสมัย รวมถึงขาดการพัฒนาช่องทางการจัดจำหน่ายและสร้างแบรนด์ให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก
โอกาสสำหรับอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ ความได้เปรียบในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมและการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับในช่วงที่คู่แข่งและผู้ส่งออกสำคัญของโลกอื่น ๆ ดังเช่น สหรัฐอเมริกา จีน ฮ่องกง และอินเดีย ประสบปัญหาจากสงครามการค้าและความไม่มีเสถียรภาพทางการเมืองในประเทศ รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรง
อย่างไรก็ดี ความท้าทายสำคัญของอุตสาหกรรมนี้ ด้านอุปสงค์ คือ ผู้บริโภครุ่นใหม่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย ต่างจากคนรุ่นก่อน รวมถึงแนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลงในคนรุ่นใหม่อาจทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับน้อยลง ขณะที่ด้านอุปทาน ได้แก่ การสร้างแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมเป็นไปได้ยาก และต้องใช้เวลานานในการสร้างความเชี่ยวชาญ และข้อจำกัดในการพัฒนาสินค้าให้ทันสมัย มีคุณภาพและมาตรฐาน สอดคล้องกับความต้องการของผู้บริโภคยุคใหม่
ข้อเสนอแนะสำคัญต่อภาครัฐ แบ่งออกเป็น ระยะสั้น การให้สภาพคล่องช่วยเหลือผู้ประกอบการด้วยสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ และการลดภาษีที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้สามารถพยุงธุรกิจให้อยู่รอดได้ในช่วงวิกฤต ระยะยาว การมีทิศทางและเป้าหมายที่ชัดเจนต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ซึ่งจะนำมาสู่นโยบายสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมนี้ต่อไป ไม่ว่าจะเป็นนโยบายด้านการค้าต่างประเทศ ด้านการคลังและภาษี ด้านการศึกษาและพัฒนาแรงงาน ด้านการพัฒนาเทคโนโลยี ด้านการพัฒนาคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และด้านการพัฒนาการตลาดและการสร้างแบรนด์ เป็นต้น
อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นอุตสาหกรรมที่มีความสำคัญสำหรับประเทศไทย โดยมีมูลค่าการส่งออกสูงเป็นอันดับ 3 ของมูลค่าการส่งออกทั้งหมดมาอย่างต่อเนื่องไม่น้อยกว่า 10 ปี และเป็น 1 ใน 10 อุตสาหกรรมส่งออกที่สร้างรายได้สูงสุดให้กับประเทศมานานหลายทศวรรษ โดยทำหน้าที่เป็นทั้งผู้ผลิตอัญมณีและเครื่องประดับส่งออก และเป็นผู้ค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับที่สำคัญในระดับโลก ดังนั้น ประเทศไทยจึงมีความพร้อมที่จะก้าวเป็นอันดับหนึ่งของภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ และมีศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับของภูมิภาคและของโลกได้
นอกจากนี้ อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทย ยังเป็นอุตสาหกรรมที่มีผู้ประกอบการและแรงงานในอุตสาหกรรมจำนวนมาก เนื่องจากเป็นอุตสาหกรรมที่เติบโตมาจากธุรกิจ SMEs การผลิตต้องใช้ทักษะฝีมือ ความชำนาญเฉพาะ และความประณีต ที่ผ่านมาจึงเป็นอุตสาหกรรมที่ใช้แรงงานอย่างเข้มข้น ทำให้เกิดการจ้างงานสูง อย่างไรก็ตาม การจ้างงานมีแนวโน้มลดลง เนื่องจากกิจการขนาดเล็กบางส่วนทยอยปิดตัว ขณะที่ผู้ประกอบการรายใหญ่นำเทคโนโลยีและเครื่องจักรมาใช้ทดแทนในกระบวนการผลิตมากขึ้น
โครงสร้างอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แบ่งเป็น 2 กลุ่มหลัก ได้แก่ อุตสาหกรรมอัญมณี และอุตสาหกรรมเครื่องประดับ โดยอุตสาหกรรมอัญมณี ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเจียระไนเพชร และพลอย ขณะที่อุตสาหกรรมเครื่องประดับ ประกอบด้วย อุตสาหกรรมเครื่องประดับแท้ (เครื่องประดับเงิน เครื่องประดับทอง) และเครื่องประดับเทียม (อัญมณีสังเคราะห์) ทั้งนี้ แต่ละอุตสาหกรรมมีโครงสร้างภายในที่แตกต่างกัน มีรายละเอียดและลักษณะเฉพาะของแต่ละอุตสาหกรรม
จุดแข็งสำคัญของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทย คือ ความสามารถของช่างฝีมือในการเผาพลอยสีและเจียระไนพลอยที่มีฝีมือดี และมีคุณภาพดีที่สุดในโลกก็ว่าได้ ซึ่งมีความแตกต่างจากฝีมือช่างต่างประเทศ เช่น ช่างจีน หรือเวียดนาม โดยแรงงานไทยส่วนใหญ่มีทักษะระดับกลางถึงสูง
ในอดีต ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งหลาย ๆ ด้าน ไม่ว่าจะเป็นการมีแรงงานราคาถูก ความสามารถในการเผาพลอยสีที่โดดเด่น แหล่งวัตถุดิบภายในประเทศ และเป็นประเทศแรกที่มีการเปิดรับการลงทุนจากต่างชาติในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ แต่ในปัจจุบันกลับพบว่า ความได้เปรียบเหนือประเทศคู่แข่งลดลง และบริษัทขนาดใหญ่เริ่มมีการย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศอื่น ๆ อาทิ จีน เวียดนาม ซึ่งมีค่าแรงที่ต่ำกว่า ขณะที่การผลิตอัญมณีและเครื่องประดับของไทยปัจจุบันต้องพึ่งพาวัตถุดิบจากต่างประเทศ โดยเฉพาะทองคำ เพชร และพลอย เนื่องจากวัตถุดิบภายในประเทศเหลือน้อย จึงทำให้อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในประเทศไทยจำกัดอยู่ในขั้นกลางถึงปลายน้ำ
อุตสาหกรรมต้นน้ำ ขาดแคลนวัตถุดิบในประเทศ และต้องพึ่งพิงการนำเข้าวัตถุดิบจากต่างประเทศจำนวนมาก ซึ่งต้องแบกรับความเสี่ยงด้านราคาและความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน ภาษีศุลกากร รวมถึงนโยบายการค้าระหว่างประเทศ
อุตสาหกรรมกลางน้ำ ขาดแคลนแรงงาน โดยเฉพาะแรงงานที่มีทักษะฝีมือ ซึ่งเป็นปัญหาที่สำคัญในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับที่ควรเร่งแก้ไข โดยแรงงานเมื่อมีอายุมากขึ้นจะลาออกจากวงการอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ขณะที่คนรุ่นใหม่ไม่ได้ให้ความสนใจในอุตสาหกรรมนี้เท่าที่ควร ทำให้ขาดการถ่ายทอดองค์ความรู้และขาดแรงงานใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรม นอกจากนี้ ประเทศไทยยังต้องนำเข้าเทคโนโลยีในการผลิตเพราะขาดการพัฒนาเทคโนโลยีในประเทศ ขณะที่ประเทศคู่แข่ง โดยเฉพาะจีน มีการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตเงิน ทองและโลหะ อันโดดเด่น ส่วนอินเดียมีการพัฒนาเทคโนโลยีในอุตสาหกรรมเจียระไนเพชรที่มีคุณภาพระดับโลก
อุตสาหกรรมปลายน้ำ มีอุปสรรคที่สำคัญคือ การออกแบบและพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่ไม่ทันสมัย ช่องทางการจัดจำหน่ายที่จำกัด และข้อจำกัดในการสร้างแบรนด์และมาตรฐานให้เป็นที่ยอมรับในระดับโลก ทำให้ยังไม่สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภครุ่นใหม่ที่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย เน้นสินค้าที่มีมาตรฐาน และนิยมหาข้อมูลเปรียบเทียบราคาผ่านอินเทอร์เน็ตก่อนตัดสินใจซื้อสินค้า นอกจากนี้ อุตสาหกรรมปลายน้ำในปัจจุบันยังได้รับผลกระทบจากเงินบาทที่โน้มแข็งค่า ทำให้ไม่สามารถแข่งขันกับต่างประเทศได้
ผลกระทบของการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ส่งผลต่ออุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับอย่างหนัก โดยเฉพาะยอดการสั่งซื้ออัญมณีและเครื่องประดับที่ลดลงอย่างมาก อีกทั้งคนทั่วไปในประเทศไทยมักเข้าใจว่าสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับเป็นสินค้าประเภทฟุ่มเฟือย เมื่อมีวิกฤตเศรษฐกิจก็จะลดการใช้จ่ายในสินค้าฟุ่มเฟือยลง รวมทั้งการที่คนไทยส่วนใหญ่ให้ความนิยมในสินค้าประเภททองคำมากกว่า จึงทำให้ที่ผ่านมาสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับอื่น ๆ ต้องเน้นการส่งออกมากกว่าจำหน่ายในประเทศ ซึ่งในช่วงเกิดวิกฤตโควิด-19 การค้าขายอัญมณีและเครื่องประดับไปยังต่างประเทศก็ประสบปัญหา และส่งผลกระทบต่อการดำเนินธุรกิจอย่างมาก ทำให้ผู้ประกอบการขาดสภาพคล่องในการดำเนินธุรกิจ
ผลการวิจัยและพัฒนา (R&D) ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับยังไม่สามารถนำมาแก้ไขปัญหาในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้จริง และยังไม่เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดโลก เช่น การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมเครื่องเจียระไน โดยเมื่อทำได้ระยะหนึ่งกลับพบว่า เครื่องเจียระไนที่พัฒนาขึ้นมายังไม่สามารถสู้เครื่องเจียระไนของจีน ซึ่งเป็นประเทศคู่แข่งที่สำคัญได้ จึงมีความจำเป็นต้องเร่งปิดช่องว่างของการวิจัยกับการดำเนินธุรกิจ เพื่อให้การวิจัยและพัฒนาช่วยเพิ่มโอกาสในการแข่งขันของอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับได้จริง
ประเทศไทยยังมีความได้เปรียบในการเป็นผู้นำอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับและการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับ จากสถานการณ์สงครามการค้าระหว่างสหรัฐอเมริกาและจีน ประกอบกับเหตุการณ์ความขัดแย้งทางการเมืองระหว่างจีนและฮ่องกง รวมทั้งการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ที่รุนแรงในอินเดีย ซึ่งทั้งหมดเป็นประเทศผู้ส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับสำคัญ และเป็นคู่แข่งของไทย ทำให้โดยรวมไทยยังคงศักยภาพในการเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกได้ ซึ่งเมื่อสถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 คลี่คลาย และนักท่องเที่ยวกลับมายังประเทศไทยอีกครั้ง โอกาสที่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับจะกลับมาเติบโตและนำรายได้เข้าประเทศ เพิ่มการจ้างงานก็มีมากขึ้น
ผู้ประกอบการส่วนใหญ่ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับไทยยังเป็นคนไทย และเป็นธุรกิจ SMEs มีต่างชาติเข้ามาทำธุรกิจนี้ไม่มาก ดังนั้น อุตสาหกรรมนี้จึงยังถือเป็นอุตสาหกรรมของคนไทย ซึ่งช่วยสร้างรายได้และเพิ่มการจ้างงานให้กับคนในประเทศ สร้างทักษะฝีมือ และสินค้าที่มีเอกลักษณ์เป็นของไทย ไม่ใช่ผลิตเป็นอุตสาหกรรมขนาดใหญ่แบบประเทศอื่น
การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณี (พลอยสี) ของภูมิภาค จากความสามารถในการเผาพลอยสี ยังคงเป็นจุดแข็งสำคัญของไทยที่ต้องรักษาไว้ โดยเฉพาะการรักษาองค์ความรู้ในการเผาพลอยและทักษะความประณีตที่อยู่ในตัวแรงงานทักษะขั้นสูงที่ต้องส่งต่อและถ่ายทอดองค์ความรู้นี้ไปยังคนรุ่นหลัง ซึ่งต้องอาศัยระยะเวลานานในการบ่มเพาะความเชี่ยวชาญ
นโยบายสนับสนุนจากภาครัฐที่ได้รับการดำเนินการอย่างต่อเนื่อง และการดำเนินการตามนโยบายของหน่วยงานต่าง ๆ ที่มีความสอดคล้องกันและเท่าทันกับการเปลี่ยนแปลงของตลาด จะเป็นโอกาสที่ช่วยสนับสนุนการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทยให้สามารถแข่งขันและเป็นผู้นำในตลาดโลกได้
ความท้าทายประการสำคัญของอุตสาหกรรม คือ วัตถุดิบ ที่ยังต้องพึ่งพิงการนำเข้าจากต่างประเทศ ทั้งทองคำ เพชร และพลอยเนื่องจากวัตถุดิบในประเทศเหลือน้อยและไม่เพียงพอกับความต้องการ
การผลิตแรงงานรุ่นใหม่เข้าสู่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เป็นความท้าทายสำคัญอีกประการของอุตสาหกรรม ซึ่งแท้จริงแล้วประเทศไทยเป็นประเทศแรกในโลกที่เปิดหลักสูตรอัญมณีและเครื่องประดับในระดับปริญญาตรี ในมหาวิทยาลัย/สถาบันอุดมศึกษา แต่ปัญหาที่พบคือ นักศึกษาที่สนใจศึกษาในหลักสูตรนี้มีจำนวนน้อย ทำให้ไม่สามารถตอบโจทย์ปัญหาการขาดแคลนแรงงานที่มีทักษะด้านนี้ได้
ความท้าทายในด้านอุปสงค์ของผู้บริโภครุ่นใหม่ ที่ไม่นิยมเครื่องประดับทอง เพชร พลอย เหมือนคนรุ่นก่อน รวมถึงแนวโน้มการแต่งงานที่น้อยลงในคนรุ่นใหม่อาจทำให้ความต้องการอัญมณีและเครื่องประดับลดน้อยลงด้วย ดังนั้น จึงต้องมีการปรับเปลี่ยนผลิตภัณฑ์ สร้างคุณค่าและการรับรู้ให้สอดคล้องกับรสนิยมและพฤติกรรมของผู้บริโภค
การเข้าถึงสินเชื่อเพื่อเสริมสภาพคล่องด้านการเงิน โดยเฉพาะในกลุ่ม SMEs
การปรับลดภาษีให้สอดคล้องกับสภาพการดำเนินธุรกิจ เพื่อช่วยลดภาระของผู้ประกอบการ
- การมีความชัดเจนในการออกนโยบายเพื่อส่งเสริมอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับให้เป็นอุตสาหกรรมเป้าหมายในการสร้างรายได้ให้ประเทศ กำหนดหน่วยงานเจ้าภาพที่รัฐบาลให้อำนาจในการดูแลอย่างชัดเจน กำหนดทิศทาง เป้าหมาย และวางตำแหน่งอุตสาหกรรม อัญมณีและเครื่องประดับไทยในตลาดโลกให้ชัด และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องมีการดำเนินการตามนโยบายที่สอดคล้องกัน ที่ผ่านมาแต่ละหน่วยงานมีการดำเนินการภายในที่เข้มแข็งอยู่แล้ว แต่ยังขาดการบูรณาการการทำงานร่วมกัน
- การส่งเสริมกระบวนการผลิตแรงงานที่มีทักษะเข้าสู่อุตสาหกรรมให้มากขึ้น มีหลักสูตร re-skill up-skill และแบบ non-degree การออกแบบหลักสูตรที่สนับสนุนความต้องการของผู้ใช้งานมากขึ้น
- การสนับสนุนให้สินค้าอัญมณีและเครื่องประดับมีมาตรฐานด้านราคาและคุณภาพ โดยอยู่ในลักษณะ standard policy และมีการตั้ง standard price ที่ใช้ร่วมกันในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย ซึ่งในขณะนี้จีนได้เริ่มทำแล้ว เพื่อให้ผู้ซื้อได้รับสินค้าที่มีคุณภาพ ส่งผลดีในระยะยาวต่ออุตสาหกรรมในอนาคต
- การปรับโครงสร้างภาษีที่เกี่ยวข้อง อาทิ ภาษีมูลค่าเพิ่ม จะช่วยสนับสนุนการทำธุรกิจของผู้ประกอบการรายย่อย และทำให้ระยะยาวช่วยส่งเสริมความสามารถในการแข่งขัน ช่วยเชื่อมห่วงโซ่อุปทานภายในประเทศและต่างประเทศ และช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมเครื่องประดับของไทยด้วย
- การสนับสนุนการวิจัยและพัฒนา (R&D) ที่สามารถใช้งานได้จริง เท่าทันการเปลี่ยนแปลงของตลาดและคู่แข่ง เพื่อช่วยสนับสนุนอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับในทุก ๆ ด้าน ทั้งการพัฒนาฝีมือแรงงาน การพัฒนาเทคโนโลยี การพัฒนาคุณภาพของสินค้า การพัฒนาตลาดและการสร้างแบรนด์ เป็นต้น
- การส่งเสริมและสร้างความสัมพันธ์อันดีกับประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะประเทศที่ไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าวัตถุดิบ เพื่อให้สามารถนำเข้าวัตถุดิบที่มีคุณภาพและราคาถูก รวมถึงการผลักดันการค้าเสรีให้เกิดเป็นรูปธรรม ลดการกีดกันด้วยมาตรการที่ไม่ใช่ภาษี จะเป็นการเพิ่มโอกาสให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันกับประเทศคู่แข่ง