Thailand Long-term strategies and Net-zero targets

เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2564 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้จัดงาน Policy Forum: Discourses on Sustainability โดยได้รับเกียรติจาก รศ.ดร.บัณฑิต ลิ้มมีโชคชัย จากสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร (SIIT) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มาบรรยายในหัวข้อ “Thailand Long-term strategies and Net-zero targets”
ดร.บัณฑิต ได้อธิบายถึงแผนระยะยาว (roadmap) ของประเทศไทย ในการไปสู่การไปถึงเป้าของการมี net-zero emission ในปี 2090 ซึ่งตรงกับเป้าหมายในการป้องกันไม่ให้อุณภูมิของโลกสูงขึ้นเกิน 2 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมของคณะกรรมการระหว่างรัฐบาลว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Intergovernmental Panel on Climate Change: IPCC) ผ่านแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์แบบ CGE (computable general equilibrium) ว่า ภายในปี 2050 ประเทศไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงมาถึง 52% จากทิศทางที่เป็นอยู่ (business-as-usual: BAU) และเพิ่มพื้นที่ป่าเพื่อให้ดูดซับก๊าซเรือนกระจกได้เพิ่มขึ้น 20% จาก BAU โดยอุตสาหกรรมที่จะมีส่วนสำคัญ คือ อุตสาหกรรมพลังงาน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการผลิตไฟฟ้า ซึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกประมาณ 66% จาก BAU และการขนส่ง ซึ่งต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกถึง 85% นอกจากนี้ ภาคส่วนอื่น ๆ ไม่ว่าจะเป็นภาคครัวเรือน ภาคการผลิต หรือการกำจัดของเสีย ก็ต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกลงอย่างมีนัยสำคัญเช่นกัน
การเปลี่ยนแปลงทั้งหมดนี้ จะต้องมีการลงทุนในภาคการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นอีก 62% และหากไม่มีการปรับแผนยุทธศาสตร์ของหน่วยงานราชการต่าง ๆ จะทำให้ GDP ลดลง 2.61% ในปี 2030 และมากถึง 18.01% ในปี 2050 ดังนั้น การวางแผนยุทธศาสตร์โดยคำนึงถึงการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกจึงเป็นเรื่องที่จำเป็น
ทั้งนี้ IPCC มีฉากทัศน์ที่อุณภูมิของโลกจะสูงขึ้นไม่เกิน 1.5 องศาเซลเซียสเทียบกับยุคก่อนอุตสาหกรรมเช่นกัน แต่ ดร.บัณฑิต ชี้ให้เห็นว่า ในฉากทัศน์นี้ ประเทศไทยต้องลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกตั้งแต่ปี 2020 เป็นต้นไป เพื่อให้มี net-zero emission ภายในปี 2050 และไม่น่าจะสามารถเกิดขึ้นได้จริงภายใต้ข้อสมมติของแบบจำลอง