
เมื่อวันที่ 31 มีนาคม 2564 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ร่วมกับ IMF Capacity Development Office in Thailand (CDOT) ได้จัดงาน CDOT-PIER Joint Seminar โดยได้รับเกียรติจาก Satoshi Fukuda (PhD) จาก Bocconi University มาบรรยายในหัวข้อ “Epidemics with Behavior”
โดย Satoshi และคณะวิจัยได้นำแบบจำลอง SIR ซึ่งเป็นแบบจำลองการแพร่เชื้อของโรคระบาด มาดัดแปลงให้มีพฤติกรรมการรักษาระยะห่างของคนมาเป็นตัวแปรหนึ่งในแบบจำลอง ซึ่งเป็นตัวแปรทางพฤติกรรมที่ความเข้มข้นในการรักษาระยะห่างของคนส่งผลต่อโอกาสในการติดโรคโดยตรง ต้นทุนของการรักษาระยะห่าง (cost of distancing) อาจเป็นรายได้ที่ต้องสูญเสียหรือกิจกรรมทางสังคมที่ต้องงดไป และประโยชน์จากการรักษาระยะห่างนั้นคือโอกาสการสัมผัสโรคที่น้อยลง
นโยบายการควบคุมการระบาดที่ลดอัตราการส่งผ่านของโรค (transmission rate) อาทิ การให้ใส่หน้ากากนั้น ในระยะยาวจะทำให้ขนาด และความชุกของการระบาดลดลง อย่างไรก็ดี อัตราการส่งผ่านที่ลดลงอาจทำให้เกิดพฤติกรรมแบบ Risk compensation ที่เมื่อความเสี่ยงน้อยลงคนก็รักษาระยะห่างน้อยลง ซึ่งอาจทำให้้ความชุกสูงสุด (peak prevalence) ของการระบาดเพิ่มขึ้นในระยะสั้นก็เป็นได้ ก็อาจเป็นเหตุผลที่ทำให้เราพบเห็น second wave ของการระบาด
อย่างไรก็ดี แบบจำลองพบกว่าการลดต้นทุนของการรักษาระยะห่างนั้นทำให้ความชุกและอัตราการระบาดลดลง หากนโยบายเข้ามาช่วยลดต้นทุนในการรักษาระยะห่างโดยตรง ก็จะทำให้คนมีพฤติกรรมการรักษาระยะห่างมากขึ้น มีโอกาสสัมผัสเชื้อน้อยลง ซึ่งทำให้ความชุกสูงสุด และจำนวนการติดโรคทั้งหมดน้อยลงไปด้วย