Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
Discussion Paper ล่าสุด
Building Thailand’s Beveridge Curve: New Insights of Thailand’s Labour Markets with Internet Job Platforms
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
งานประชุมเชิงนโยบายล่าสุด
World Bank x PIER Climate Finance Policy Forum
Market Design in Practice
งานสัมมนาล่าสุด
Market Design in Practice
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/43f30d3e0a1dc083e2127b648f7f54fb/41624/cover.jpg
7 ตุลาคม 2558
20151444176000000

การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าในโลก และผลกระทบต่อรูปแบบการค้า การส่งออกและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศไทย

โครงสร้างการค้าโลกเปลี่ยนแปลงอย่างไรและส่งผลกระทบอย่างไรต่อเศรษฐกิจไทย
กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์ธนะพงษ์ โพธิปิติภาณุทัต สัชฌะไชยณัฐ บัณฑิตวัฒนาวงศ์อาภากร นพรัตยาภรณ์
การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าในโลก และผลกระทบต่อรูปแบบการค้า การส่งออกและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
excerpt

บทความนี้พิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้รูปแบบการค้าโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่ยุคใหม่ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรูปแบบการส่งออกและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ผลการศึกษาเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงมูลค่าทางการค้าโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกทางตรงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนมูลค่าเพิ่มของผลผลิตและค่าจ้างของแรงงานในแต่ละภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกไปสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ มิฉะนั้นประเทศไทยจะประสบปัญหาการหดตัวของการส่งออกจากความปกติในรูปแบบใหม่ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งในด้านผลผลิตและการจ้างงาน

รูปแบบการค้าระหว่างประเทศในโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาโดยปัจจัยสำคัญที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90s เป็นต้นมา จะถือว่าการค้าระหว่างประเทศในยุคนี้เป็นช่วงที่มีการแบ่งขั้นตอนการผลิต (fragmentation) ซึ่งจะเรียกรวมกันว่า “unbundling periods” โดยเราสามารถแบ่งรูปแบบการค้านับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90s ออกเป็น 3 ยุค คือยุค “first unbundling” ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ใกล้เคียงกัน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว และการลดลงของต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการค้าในลักษณะของกลุ่มการค้า ในขณะที่ยุคที่ 2 หรือ “second unbundling” เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ไอที และคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้นตอนการผลิตไปดำเนินการผลิตในประเทศต่าง ๆ ได้ ประกอบกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น ซึ่งทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์เดิม เช่น จีน ยุโรปตะวันออก มีการเปิดประเทศ จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตในขั้นตอนการผลิตที่เน้นใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งทำให้รูปแบบการค้าโลกในยุคนี้อยู่ในลักษณะของห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่งเป็นหลัก โดยมีประเทศจีนเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ และประเทศที่กำลังพัฒนามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการค้าระหว่างประเทศของโลกเป็นอย่างมาก

อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008–2009 เป็นต้นมา รูปแบบการค้าโลกเริ่มมีการเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของมูลค่าการค้าโลกโดยที่มีการฟื้นตัวที่ช้ามาก แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกแล้วก็ตาม อีกทั้งรูปแบบการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศที่กำลังพัฒนาก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้ลงทุน ทั้งในลักษณะของการออกไปลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว และในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งงานศึกษาหลายชิ้นคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าโลกครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคใหม่ หรือ “third unbundling” ซึ่งจะทำให้รูปแบบการค้าโลกเข้าสู่ความปกติในรูปแบบใหม่

รูปที่ 1: ผลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อรูปแบบการค้าโลก

ผลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อรูปแบบการค้าโลก

ที่มา: ผู้เขียน

งานวิจัยชิ้นนี้จะมุ่งเน้นการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความปกติในรูปแบบใหม่ ในรูปแบบการค้าโลกที่สำคัญ อันประกอบไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ที่มีต่อรูปแบบการค้าของประเทศไทย รวมไปถึงผลกระทบต่อเนื่องไปยังตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้วจะพบว่า แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและรูปแบบการค้าประกอบไปด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล และเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทั้งสองด้านนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปแบบการผลิตและการบริโภค ในด้านของการผลิตเทคโนโลยีใหม่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้กับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ได้เร็ว ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของประเทศกำลังพัฒนาลดลง และความแตกต่างระหว่างผลิตภาพการผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาสูงขึ้น ในด้านการบริโภค การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่แทนที่ผลิตภัณฑ์เดิม หรือรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับทางเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนารวมถึงระดับการสร้างนวัตกรรม ที่มีต่อความสามารถในการส่งออกและผลิตภาพการผลิต และพบว่าปัจจัยทางเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความสามารถในการส่งออกและผลิตภาพการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อรูปแบบการค้าถูกสรุปไว้ในรูปที่ 1

หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลกแล้ว จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทำให้ประเทศพัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงและมีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานของประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นฐานการผลิตหลักเริ่มลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ คือการเปลี่ยนรูปแบบห่วงโซ่อุปทานแนวดิ่งระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา มาเป็นห่วงโซ่อุปทานในแนวนอนมากขึ้น และมีการสร้างห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่งระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น คืออุตสาหกรรมต้นน้ำ ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงผู้นำตลาดในหลายอุตสาหกรรมที่มีความไม่แน่นอนทางเทคโนโลยีสูง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยผลของการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีต่อรูปแบบการค้าโลกถูกสรุปไว้ในรูปที่ 2

รูปที่ 2: ผลของการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีต่อรูปแบบการค้าโลก

ผลของการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีต่อรูปแบบการค้าโลก

ที่มา: ผู้เขียน

เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติในรูปแบบใหม่ ในรูปแบบการค้าโลกต่อประเทศไทยแล้ว ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 3 จะพบว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการส่งออกที่ลดลง โดยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโลยีสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา การศึกษา และการสร้างนวัตกรรมและความรู้ ซึ่งคณะผู้วิจัยพบว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่ต่อความสามารถในการส่งออกของประเทศ

หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลด้านลบต่อประเทศไทยเช่นเดียวกัน จากจุดอ่อนทางด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถย้ายไปร่วมห่วงโซ่อุปทานในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น หรือเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่เน้นใช้เทคโนโลยีสูงหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีความเชื่อมโยงในระดับที่สูงกับห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร อีกทั้งประเทศไทยยังไม่สามารถเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานของผู้นำตลาดใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น เกาหลี จีน หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนได้

รูปที่ 3: ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าโลกที่มีต่อประเทศไทย

ผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบการค้าโลกที่มีต่อประเทศไทย

ที่มา: ผู้เขียน
รูปที่ 4: การเติบโตในมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยเปรียบเทียบกับโลก

การเติบโตในมูลค่าการส่งออกของประเทศไทยเปรียบเทียบกับโลก

ที่มา: UNCTAD

ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทานโลก จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตและการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีการเติบโตของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 4 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1999–2007 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตในการส่งออกที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก อย่างไรก็ตามในระยะ 3–4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยกลับมีค่าเฉลี่ยของการเติบโตในมูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่าโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความถดถอยของความสามารถในการส่งออกของประเทศไทย

นอกจากนี้ โครงสร้างสินค้าส่งออกของประเทศไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 5 ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากเดิมที่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย แต่เนื่องจากความต้องการบริโภคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลงส่งผลให้ยอดขายฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดต่ำลง ในปี ค.ศ. 2014 สินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของประเทศไทยจึงกลายมาเป็นยานยนต์และชิ้นส่วน ในขณะที่การส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าที่ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าวของบรรษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่น และการย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติจากเกาหลีออกจากประเทศไทย รวมถึงการลดลงของมูลค่าในการส่งออกในผลิตภัณฑ์ที่เน้นใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า

รูปที่ 5: โครงสร้างสินค้าส่งออกของประเทศไทยเปรียบเทียบระหว่างปี ค.ศ. 1995 และ 2014

โครงสร้างสินค้าส่งออกของประเทศไทยเปรียบเทียบระหว่างปี ค.ศ. 1995 และ 2014

ที่มา: Ministry of Commerce, Office of the Permanent Secretary, Information and Communication Technology Center with cooperation of the Customs Department
รูปที่ 6: ความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตในมูลค่าการส่งออกและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตในมูลค่าการส่งออกและการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทย

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้วจะพบว่า การเจริญเติบโตของมูลค่าการส่งออกมีความสำคัญมากในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตของการส่งออก

รูปที่ 7: ความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของการส่งออกประเทศไทยต่อการเจริญเติบโตของผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจ้างงาน

ความสัมพันธ์ระหว่างการเจริญเติบโตของการส่งออกประเทศไทยต่อการเจริญเติบโตของผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจ้างงาน

ที่มา: จากการคำนวณของผู้เขียน

สามารถอธิบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ประมาณร้อยละ 46 นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกที่มีต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิต มูลค่าเพิ่มของผลผลิต และค่าจ้างรวมรายภาคการผลิต ดังแสดงในรูปที่ 7 ซึ่งพบว่า การเติบโตในมูลค่าการส่งออกมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับตัวแปรทางเศรษฐกิจทั้งสามที่กล่าวมาอย่างมีนัยสำคัญ

ข้อสรุป

ความสามารถในการส่งออกที่ลดลงอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยทำให้การเติบโตของผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจ้างงานลดลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความสามารถในการส่งออกที่ลดลงมาก ซึ่งได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการส่งออกมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉลี่ย ดังนั้นการลดลงของความสามารถในการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้จึงส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน มิฉะนั้นการชะลอตัวของการส่งออกที่กำลังเกิดขึ้น อาจจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยติดกับสู่ภาวะทศวรรษที่สูญหาย (Lost decades)เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นประสบมาก่อนได้

กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์
กรกรัณย์ ชีวะตระกุลพงษ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ธนะพงษ์ โพธิปิติ
ธนะพงษ์ โพธิปิติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ภาณุทัต สัชฌะไชย
ภาณุทัต สัชฌะไชย
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
ณัฐ บัณฑิตวัฒนาวงศ์
ณัฐ บัณฑิตวัฒนาวงศ์
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
อาภากร นพรัตยาภรณ์
อาภากร นพรัตยาภรณ์
ธนาคารกรุงศรีอยุธยา
Topics: International Trade
Tags: exportsglobal value chainstructural change
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email