การเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าในโลก และผลกระทบต่อรูปแบบการค้า การส่งออกและการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างของประเทศไทย
excerpt
บทความนี้พิจารณาถึงปัจจัยที่ทำให้รูปแบบการค้าโลกเกิดการเปลี่ยนแปลงและเข้าสู่ยุคใหม่ รวมถึงผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับรูปแบบการส่งออกและโครงสร้างเศรษฐกิจของประเทศไทย ผลการศึกษาเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นว่าการเปลี่ยนแปลงมูลค่าทางการค้าโดยเฉพาะการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกทางตรงส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนมูลค่าเพิ่มของผลผลิตและค่าจ้างของแรงงานในแต่ละภาคการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ นอกจากนั้น ผลการศึกษาสะท้อนให้เห็นความจำเป็นที่ประเทศไทยต้องมีการปรับตัวเชิงโครงสร้างทางเศรษฐกิจเพื่อให้สอดรับกับการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกไปสู่ความปกติในรูปแบบใหม่ มิฉะนั้นประเทศไทยจะประสบปัญหาการหดตัวของการส่งออกจากความปกติในรูปแบบใหม่ดังกล่าว ซึ่งจะส่งผลกระทบเชิงลบต่อเศรษฐกิจของประเทศไทยทั้งในด้านผลผลิตและการจ้างงาน
รูปแบบการค้าระหว่างประเทศในโลกมีการเปลี่ยนแปลงไปตามช่วงเวลาโดยปัจจัยสำคัญที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกคือการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงทางด้านการเมือง หากพิจารณาการเปลี่ยนแปลงรูปแบบการค้าโลกนับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90s เป็นต้นมา จะถือว่าการค้าระหว่างประเทศในยุคนี้เป็นช่วงที่มีการแบ่งขั้นตอนการผลิต (fragmentation) ซึ่งจะเรียกรวมกันว่า “unbundling periods” โดยเราสามารถแบ่งรูปแบบการค้านับตั้งแต่ช่วงทศวรรษที่ 90s ออกเป็น 3 ยุค คือยุค “first unbundling” ที่ประเทศที่พัฒนาแล้วย้ายฐานการผลิตไปยังประเทศกำลังพัฒนาที่อยู่ใกล้เคียงกัน อันเป็นผลมาจากการเพิ่มขึ้นของต้นทุนการผลิตในประเทศที่พัฒนาแล้ว และการลดลงของต้นทุนในการขนส่ง ซึ่งทำให้เกิดรูปแบบการค้าในลักษณะของกลุ่มการค้า ในขณะที่ยุคที่ 2 หรือ “second unbundling” เป็นผลมาจากการพัฒนาเทคโนโลยีการติดต่อสื่อสาร ไอที และคอมพิวเตอร์ ซึ่งทำให้เกิดการแบ่งแยกขั้นตอนการผลิตไปดำเนินการผลิตในประเทศต่าง ๆ ได้ ประกอบกับการสิ้นสุดของสงครามเย็น ซึ่งทำให้ประเทศคอมมิวนิสต์เดิม เช่น จีน ยุโรปตะวันออก มีการเปิดประเทศ จึงเกิดการย้ายฐานการผลิตในขั้นตอนการผลิตที่เน้นใช้แรงงานสูงไปยังประเทศเหล่านี้ ซึ่งทำให้รูปแบบการค้าโลกในยุคนี้อยู่ในลักษณะของห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่งเป็นหลัก โดยมีประเทศจีนเป็นศูนย์กลางทางการค้าที่สำคัญ และประเทศที่กำลังพัฒนามีบทบาทเพิ่มขึ้นในการค้าระหว่างประเทศของโลกเป็นอย่างมาก
อย่างไรก็ตาม นับตั้งแต่การเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในปี ค.ศ. 2008–2009 เป็นต้นมา รูปแบบการค้าโลกเริ่มมีการเปลี่ยนไปอีกครั้ง โดยการเปลี่ยนแปลงที่สำคัญ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการลดลงของมูลค่าการค้าโลกโดยที่มีการฟื้นตัวที่ช้ามาก แม้ว่าอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของโลกจะฟื้นตัวมาอยู่ในระดับที่ใกล้เคียงก่อนเกิดวิกฤตการณ์ทางการเงินโลกแล้วก็ตาม อีกทั้งรูปแบบการลงทุนทางตรงระหว่างประเทศก็เริ่มมีการเปลี่ยนแปลงไป โดยประเทศที่กำลังพัฒนาก้าวเข้ามามีบทบาทมากขึ้นในฐานะผู้ลงทุน ทั้งในลักษณะของการออกไปลงทุนในประเทศที่พัฒนาแล้ว และในประเทศที่กำลังพัฒนาซึ่งงานศึกษาหลายชิ้นคาดการณ์ว่าการเปลี่ยนแปลงของรูปแบบการค้าโลกครั้งนี้จะเป็นจุดเริ่มต้นของการเข้าสู่ยุคใหม่ หรือ “third unbundling” ซึ่งจะทำให้รูปแบบการค้าโลกเข้าสู่ความปกติในรูปแบบใหม่
งานวิจัยชิ้นนี้จะมุ่งเน้นการศึกษาถึงปัจจัยที่ส่งผลให้เกิดความปกติในรูปแบบใหม่ ในรูปแบบการค้าโลกที่สำคัญ อันประกอบไปด้วย การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี และการเปลี่ยนแปลงในรูปแบบห่วงโซ่อุปทานโลก รวมถึงผลกระทบของปัจจัยเหล่านี้ที่มีต่อรูปแบบการค้าของประเทศไทย รวมไปถึงผลกระทบต่อเนื่องไปยังตัวแปรสำคัญทางเศรษฐกิจของประเทศไทย
หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีแล้วจะพบว่า แนวโน้มของเทคโนโลยีใหม่ที่มีผลกระทบต่อโครงสร้างทางเศรษฐกิจและรูปแบบการค้าประกอบไปด้วยเทคโนโลยีดิจิตอล และเทคโนโลยีพลังงาน ซึ่งการเปลี่ยนแปลงเทคโนโลยีทั้งสองด้านนี้ จะทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงทั้งในรูปแบบการผลิตและการบริโภค ในด้านของการผลิตเทคโนโลยีใหม่จะช่วยเพิ่มผลิตภาพในการผลิตและลดต้นทุนการผลิตให้กับประเทศที่มีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือสามารถเรียนรู้เทคโนโลยีใหม่ได้เร็ว ซึ่งทำให้ความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนของประเทศกำลังพัฒนาลดลง และความแตกต่างระหว่างผลิตภาพการผลิตของประเทศที่พัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนาสูงขึ้น ในด้านการบริโภค การเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยีก่อให้เกิดความต้องการผลิตภัณฑ์ใหม่แทนที่ผลิตภัณฑ์เดิม หรือรูปแบบการบริโภคที่เปลี่ยนไป ซึ่งคณะผู้วิจัยได้ทำการศึกษาความสัมพันธ์ระหว่างระดับความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี โครงสร้างพื้นฐานเพื่อรองรับทางเทคโนโลยี และการวิจัยและพัฒนารวมถึงระดับการสร้างนวัตกรรม ที่มีต่อความสามารถในการส่งออกและผลิตภาพการผลิต และพบว่าปัจจัยทางเทคโนโลยีเหล่านี้ล้วนมีผลต่อความสามารถในการส่งออกและผลิตภาพการผลิตอย่างมีนัยสำคัญ โดยผลของการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีที่มีต่อรูปแบบการค้าถูกสรุปไว้ในรูปที่ 1
หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานโลกแล้ว จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีทำให้ประเทศพัฒนาแล้วมีความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีสูงและมีผลิตภาพการผลิตเพิ่มขึ้น รวมถึงความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตและค่าจ้างแรงงานของประเทศกำลังพัฒนา ที่เป็นฐานการผลิตหลักเริ่มลดต่ำลง ส่งผลให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญ คือการเปลี่ยนรูปแบบห่วงโซ่อุปทานแนวดิ่งระหว่างประเทศพัฒนาแล้วกับประเทศกำลังพัฒนา มาเป็นห่วงโซ่อุปทานในแนวนอนมากขึ้น และมีการสร้างห่วงโซ่อุปทานในแนวดิ่งระหว่างประเทศกำลังพัฒนาด้วยกันเอง ดังจะเห็นได้จากการที่ประเทศที่กำลังพัฒนาหลายประเทศเริ่มเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มสูงขึ้น คืออุตสาหกรรมต้นน้ำ ใกล้เคียงกับประเทศที่พัฒนาแล้ว และยังมีสัดส่วนการส่งออกสินค้าที่เน้นใช้เทคโนโลยีขั้นสูงเพิ่มขึ้น นอกจากนี้การเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญอีกประการหนึ่งคือการเปลี่ยนแปลงผู้นำตลาดในหลายอุตสาหกรรมที่มีความไม่แน่นอนทางเทคโนโลยีสูง เช่น อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ โดยผลของการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลกที่มีต่อรูปแบบการค้าโลกถูกสรุปไว้ในรูปที่ 2
เมื่อพิจารณาถึงผลกระทบของปัจจัยที่ทำให้เกิดความผิดปกติในรูปแบบใหม่ ในรูปแบบการค้าโลกต่อประเทศไทยแล้ว ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 3 จะพบว่า ปัจจัยเหล่านี้ล้วนแต่ส่งผลให้ประเทศไทยมีความสามารถในการแข่งขันด้านการผลิตและการส่งออกที่ลดลง โดยการเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโลยีสร้างผลกระทบเชิงลบต่อประเทศไทย เนื่องจากประเทศไทยมีจุดอ่อนในเรื่องการวิจัยและพัฒนา การศึกษา และการสร้างนวัตกรรมและความรู้ ซึ่งคณะผู้วิจัยพบว่าปัจจัยดังกล่าวเป็นปัจจัยทางเทคโนโลยีที่สำคัญที่ต่อความสามารถในการส่งออกของประเทศ
หากพิจารณาถึงการเปลี่ยนแปลงห่วงโซ่อุปทานโลก จะพบว่าการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวส่งผลด้านลบต่อประเทศไทยเช่นเดียวกัน จากจุดอ่อนทางด้านความก้าวหน้าทางเทคโนโลยีที่กล่าวมาแล้วในข้างต้น ส่งผลให้ประเทศไทยไม่สามารถย้ายไปร่วมห่วงโซ่อุปทานในกิจกรรมที่มีมูลค่าเพิ่มที่สูงขึ้น หรือเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานสินค้าที่เน้นใช้เทคโนโลยีสูงหรือเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้ อีกทั้งประเทศไทยยังมีความเชื่อมโยงในระดับที่สูงกับห่วงโซ่อุปทานของประเทศญี่ปุ่น โดยเฉพาะในหมวดเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ และเครื่องจักร อีกทั้งประเทศไทยยังไม่สามารถเข้าร่วมห่วงโซ่อุปทานของผู้นำตลาดใหม่ ๆ ในอุตสาหกรรมดังกล่าว เช่น เกาหลี จีน หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ เช่น แท็บเล็ต และสมาร์ทโฟนได้
ดังนั้น การเปลี่ยนแปลงทางด้านเทคโนโลยีและห่วงโซ่อุปทานโลก จึงส่งผลกระทบต่อความสามารถในการแข่งขันด้านต้นทุนการผลิตและการส่งออกของประเทศไทย ซึ่งส่งผลให้ประเทศไทยมีการเติบโตของมูลค่าการส่งออกที่ลดลง ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 4 ซึ่งจะเห็นได้ว่า ในช่วงปี ค.ศ. 1999–2007 ประเทศไทยมีอัตราการเติบโตในการส่งออกที่สูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก อย่างไรก็ตามในระยะ 3–4 ปีที่ผ่านมาประเทศไทยกลับมีค่าเฉลี่ยของการเติบโตในมูลค่าการส่งออกที่ต่ำกว่าโลก ซึ่งแสดงให้เห็นถึงความถดถอยของความสามารถในการส่งออกของประเทศไทย
นอกจากนี้ โครงสร้างสินค้าส่งออกของประเทศไทยยังมีการเปลี่ยนแปลงไปจากในอดีต ดังแสดงให้เห็นในรูปที่ 5 ซึ่งจะเห็นได้ว่าจากเดิมที่ฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์เป็นสินค้าส่งออกที่สำคัญที่สุดของประเทศไทย แต่เนื่องจากความต้องการบริโภคคอมพิวเตอร์ส่วนบุคคลที่ลดลงส่งผลให้ยอดขายฮาร์ดดิสก์ไดรฟ์ลดต่ำลง ในปี ค.ศ. 2014 สินค้าส่งออกสำคัญที่สุดของประเทศไทยจึงกลายมาเป็นยานยนต์และชิ้นส่วน ในขณะที่การส่งออกของเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ เช่น ทีวี แผงวงจรไฟฟ้า มีมูลค่าที่ลดลงเป็นอย่างมาก เนื่องจากการสูญเสียส่วนแบ่งตลาดในอุตสาหกรรมดังกล่าวของบรรษัทข้ามชาติจากญี่ปุ่น และการย้ายฐานการผลิตของบรรษัทข้ามชาติจากเกาหลีออกจากประเทศไทย รวมถึงการลดลงของมูลค่าในการส่งออกในผลิตภัณฑ์ที่เน้นใช้แรงงานเข้มข้น เช่น เครื่องนุ่งห่ม และรองเท้า
หากพิจารณาความสัมพันธ์ระหว่างการส่งออกและอัตราการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยแล้วจะพบว่า การเจริญเติบโตของมูลค่าการส่งออกมีความสำคัญมากในการผลักดันการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศ โดยรูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่าการเจริญเติบโตของการส่งออก
สามารถอธิบายการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศไทยได้ประมาณร้อยละ 46 นอกจากนี้ ผู้เขียนได้ทำการศึกษาถึงผลกระทบของการเปลี่ยนแปลงมูลค่าการส่งออกที่มีต่อตัวแปรทางเศรษฐกิจที่สำคัญ ได้แก่ ผลผลิต มูลค่าเพิ่มของผลผลิต และค่าจ้างรวมรายภาคการผลิต ดังแสดงในรูปที่ 7 ซึ่งพบว่า การเติบโตในมูลค่าการส่งออกมีความสัมพันธ์เชิงบวกกับตัวแปรทางเศรษฐกิจทั้งสามที่กล่าวมาอย่างมีนัยสำคัญ
ความสามารถในการส่งออกที่ลดลงอาจก่อให้เกิดผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศโดยทำให้การเติบโตของผลผลิต การสร้างมูลค่าเพิ่ม และการจ้างงานลดลง นอกจากนี้ อุตสาหกรรมของประเทศไทยมีความสามารถในการส่งออกที่ลดลงมาก ซึ่งได้แก่อุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ ยังเป็นอุตสาหกรรมที่พึ่งพิงการส่งออกมากกว่าอุตสาหกรรมอื่นโดยเฉลี่ย ดังนั้นการลดลงของความสามารถในการส่งออกของอุตสาหกรรมนี้จึงส่งผลเสียต่อเศรษฐกิจของประเทศได้มากกว่าอุตสาหกรรมอื่น ๆ ซึ่งทำให้ประเทศไทยจำเป็นต้องปรับปรุงโครงสร้างเศรษฐกิจและอุตสาหกรรมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ทั้งด้านเทคโนโลยีและการเปลี่ยนแปลงในห่วงโซ่อุปทาน มิฉะนั้นการชะลอตัวของการส่งออกที่กำลังเกิดขึ้น อาจจะส่งผลเสียต่อการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจของประเทศในระยะยาว ทำให้ประเทศไทยติดกับสู่ภาวะทศวรรษที่สูญหาย (Lost decades)เหมือนที่ประเทศญี่ปุ่นประสบมาก่อนได้