มองโครงสร้างภาคธุรกิจไทยผ่านข้อมูลงบการเงิน
excerpt
บทความนี้นำเสนอผลการศึกษาโครงสร้างของภาคธุรกิจไทยโดยใช้ข้อมูลงบการเงินของบริษัทกว่า 750,000 แห่ง ผลการศึกษาชี้ว่าภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวสูง บริษัทขนาดกลางและขนาดเล็กมีข้อจำกัดในการดำเนินการมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ และชี้ว่าอำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา โดยอำนาจตลาดที่เพิ่มขึ้นส่งผลทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจในการพัฒนาตนเองและในการขยายตลาดไปสู่ผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ หรือประเทศผู้ซื้อรายใหม่ ๆ นอกจากนี้ ยังพบว่าพลวัตธุรกิจของไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และส่งผลทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างไม่มีประสิทธิภาพ โดยการที่บริษัทที่มีผลิตภาพต่ำและไม่สามารถแข่งขันในตลาดได้แต่กลับสามารถอยู่รอด ทำให้บริษัทที่มีผลิตภาพสูงกว่าไม่สามารถเติบโตได้อย่างเต็มที่และตัดโอกาสในการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่
บทความนี้เป็นบทความต่อเนื่องจากบทความ aBRIDGEd ฉบับที่แล้ว (กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ ชานนทร์ บรรเทิงหรรษา, 2019) ที่ศึกษาข้อมูลการถือหุ้นของบริษัทในประเทศไทยและเครือข่ายบริษัทภายในกลุ่มทุน ในบทความนี้ เราจะศึกษาโครงสร้างของภาคธุรกิจไทยและผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจในระดับมหภาค โดยนำเสนอข้อเท็จจริง 8 ประการที่ได้จากการศึกษาข้อมูลงบการเงินรายบริษัทและนัยต่อประสิทธิภาพของภาคธุรกิจไทย ข้อเท็จจริงสามข้อแรกสะท้อนให้เห็นถึงการขาดประสิทธิภาพของภาคธุรกิจที่มีสาเหตุมาจากข้อจำกัดในการดำเนินการของบริษัทขนาดกลางและขนาดเล็ก ข้อเท็จจริงสามข้อถัดมาชี้ให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพที่มีสาเหตุมาจากแรงจูงใจที่ถูกบิดเบือนโดยอำนาจตลาด และข้อเท็จจริงสองข้อสุดท้ายสะท้อนให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพที่มีสาเหตุมาจากพลวัตธุรกิจที่ลดลง
Banternghansa et al. (2019) ศึกษาภูมิทัศน์ของภาคธุรกิจไทยโดยใช้ข้อมูลงบการเงินรายบริษัทของกรมพัฒนาธุรกิจการค้า กระทรวงพาณิชย์ ที่ประกอบไปด้วยข้อมูลของบริษัทจำนวนกว่า 750,000 แห่ง ระหว่างปี 2549–2559
รูปที่ 1 แสดงการกระจุกตัวในภาคธุรกิจไทย โดยในแกนนอนได้แบ่งบริษัทออกเป็น 20 กลุ่ม เรียงจากกลุ่มบริษัทที่มีรายรับต่ำที่สุด 5% (กลุ่มที่ 1) ไปหากลุ่มบริษัทที่มีรายรับสูงที่สุด 5% (กลุ่มที่ 20) ส่วนแกนตั้งแสดงสัดส่วนรายรับสะสม จากรูป จะเห็นได้ว่าบริษัทที่มีรายรับสูงที่สุด 5% ของประเทศ มีสัดส่วนรายรับสูงถึง 85% ของรายรับรวมของภาคธุรกิจไทย นอกจากนี้ ยังพบว่ารูปแบบการกระจุกตัวของรายรับไม่มีการเปลี่ยนแปลงมากนักระหว่างปี 2549 และปี 2559 ซึ่งชี้ให้เห็นว่าการกระจุกตัวในภาคธุรกิจไทยไม่ได้เพิ่งเกิดขึ้น แต่มีมามากกว่า 10 ปีแล้ว และเมื่อพิจารณาในกลุ่มบริษัทที่มีรายรับสูงที่สุด 5% ในปี 2559 จะพบว่าอุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนสูงที่สุด 5 อันดับแรก ได้แก่ อุตสาหกรรมค้าส่ง อุตสาหกรรมค้าปลีก อุตสาหกรรมการผลิตยานยนต์ อุตสาหกรรมการผลิตถ่านโค้กและการกลั่นปิโตรเลียม และอุตสาหกรรมค้าส่ง ค้าปลีก และการซ่อมยานยนต์
นอกจากนี้ Apaitan et al. (2019) ได้ศึกษาผลของ “กลุ่มทุน” หรือกลุ่มบริษัทที่เชื่อมโยงกันผ่านการถือหุ้นต่อการกระจุกตัวของภาคธุรกิจไทย จากการศึกษาพบว่าในปี 2559 บริษัทในกลุ่มทุนมีจำนวนเพียงร้อยละ 5 ของบริษัททั้งหมด แต่มีส่วนแบ่งยอดขายถึงร้อยละ 46 และมีส่วนแบ่งกำไรถึงร้อยละ 60 ของยอดขายและกำไรทั้งหมดของภาคธุรกิจ ข้อเท็จจริงดังกล่าวชี้ให้เห็นว่า กลุ่มทุนมีความสำคัญต่อการศึกษาการกระจุกตัวของภาคธุรกิจไทย
Banternghansa et al. (2019) ชี้ให้เห็นถึงความไม่มีประสิทธิภาพในการจัดสรรทรัพยากร (ทุน) ระหว่างบริษัทในประเทศไทย โดยรูปที่ 2 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์และระดับการกู้ยืมของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทย โดยเริ่มจากการแบ่งบริษัทออกเป็น 10 กลุ่มตามระดับรายรับ เรียงจากบริษัทขนาดเล็กที่สุด (กลุ่มที่ 1) ไปหาบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด (กลุ่มที่ 10) จากนั้น พิจารณาการกระจายตัวของบริษัทในแต่ละกลุ่ม โดยแบ่งบริษัทออกเป็น 20×20 กลุ่ม ตามอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ (แกนนอน) และระดับการกู้ยืม (แกนตั้ง)
จากรูป จะเห็นได้ว่าบริษัทในกลุ่มที่ 9 และ 10 หรือบริษัทขนาดใหญ่ที่สุด มีการกระจุกตัวทางด้านซ้ายบน ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่ำแต่มีอัตราการกู้ยืมสูง ในขณะที่บริษัทในกลุ่มที่ 2 และ 3 หรือบริษัทขนาดเล็กที่สุด มีการกระจุกตัวทางด้านซ้ายล่าง ซึ่งชี้ให้เห็นว่าบริษัทในกลุ่มนี้ส่วนใหญ่มีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์ต่ำและมีอัตราการกู้ยืมที่ต่ำเช่นกัน สำหรับบริษัทขนาดปานกลาง หรือบริษัทในกลุ่มที่ 4, 5 และ 6 จะพบว่ามีการกระจุกตัวทางด้านขวากลาง ๆ แสดงว่าบริษัทในกลุ่มนี้หลาย ๆ บริษัทมีอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์สูงและมีอัตราการกู้ยืมปานกลาง โดยสรุป อาจกล่าวได้ว่าเราสามารถแบ่งบริษัทในประเทศไทยออกเป็น 3 กลุ่มใหญ่ ๆ ตามอัตราผลตอบแทนต่อสินทรัพย์และระดับการกู้ยืม ดังนี้ กลุ่มแรก คือ บริษัทขนาดใหญ่ ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนไม่สูงนักแต่สามารถเข้าถึงแหล่งทุนได้ดี โดยจะเห็นได้จากอัตราการกู้ยืมที่สูง กลุ่มที่สอง คือ บริษัทขนาดเล็ก ที่มีผลิตภาพต่ำและให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำจึงไม่มีแรงจูงใจที่จะลงทุนเพิ่มเติม ในขณะเดียวกัน ผลประกอบการที่ไม่สู้ดีนักก็อาจทำให้บริษัทกลุ่มนี้ไม่สามารถขอสินเชื่อจากธนาคารได้ทำให้มีอัตราการกู้ยืมที่ต่ำ และกลุ่มสุดท้าย คือ บริษัทขนาดกลาง ที่ได้รับผลตอบแทนจากการลงทุนสูงแต่ยังเผชิญกับข้อจำกัดด้านการกู้ยืม ทำให้ไม่สามารถขอสินเชื่อเพื่อมาขยายกิจการได้ ข้อค้นพบดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าเกิดปัญหาการจัดสรรทรัพยากรอย่างไม่มีประสิทธิภาพในภาคธุรกิจไทย
Banternghansa et al. (2019) ยังพบว่าบริษัทที่มีขนาดต่างกันมีประสิทธิภาพการบริหารเงินทุนหมุนเวียน (working capital) ที่ต่างกันอีกด้วย รูปที่ 3 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างขนาดของบริษัทและวงจรเงินสด (cash conversion cycle หรือ CCC) โดยในแกนนอน เราแบ่งบริษัทออกเป็น 10 กลุ่มตามขนาดของรายรับ โดยเรียงจากบริษัทที่มีรายรับต่ำที่สุด (กลุ่มที่ 1) ไปหาบริษัทที่มีรายรับสูงที่สุด (กลุ่มที่ 10) ส่วนแกนตั้งแสดงจำนวนวันของ CCC ของบริษัทในแต่ละกลุ่ม โดยเส้นสีน้ำเงินแสดงค่ามัธยฐาน (median) ของกลุ่ม ส่วนเส้นสีแดงแสดงค่าสัมประสิทธิ์ของตัวแปรหุ่นของแต่ละกลุ่มที่ได้จากการประมาณค่าสมการถดถอยโดยควบคุมความแตกต่างระหว่างอุตสาหกรรมแล้ว1
จำนวนวันของ CCC สะท้อนถึงระยะเวลาในการถือสินทรัพย์หมุนเวียนโดยนับตั้งแต่เมื่อบริษัทต้องจ่ายเงินเพื่อซื้อวัตถุดิบจนถึงเมื่อบริษัทได้รับการชำระเงินค่าสินค้าจากลูกค้า และเนื่องจากสินทรัพย์หมุนเวียนส่วนใหญ่ไม่ให้ผลตอบแทนทางการเงิน บริษัทที่มีจำนวนวันของ CCC สูงจึงมีค่าเสียโอกาสจากการถือสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าบริษัทที่มีจำนวนวันของ CCC ต่ำหรือมีประสิทธิภาพในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนต่ำกว่า จากรูป จะเห็นได้ว่าบริษัทขนาดเล็กมีประสิทธิภาพในการบริหารเงินทุนหมุนเวียนต่ำกว่าบริษัทขนาดใหญ่ โดยบริษัทขนาดเล็กที่สุด (กลุ่มที่ 4) จะมีระยะเวลาถือสินทรัพย์หมุนเวียนมากกว่าบริษัทขนาดใหญ่ที่สุดถึงประมาณ 4 เดือน นอกจากนี้ ยังพบว่าความแตกต่างของประสิทธิภาพการบริหารเงินทุนหมุนเวียนดังกล่าว ส่วนใหญ่เกิดจากความแตกต่างของประสิทธิภาพการบริหารสินค้าคงคลัง (Inventory management)
Apaitan et al. (2019) ศึกษาแนวโน้มของการแข่งขันในภาคธุรกิจไทยและผลกระทบของอำนาจตลาดต่อการตัดสินใจของบริษัท โดยวัดอำนาจตลาดจาก Markup หรือสัดส่วนระหว่างราคาขายและต้นทุนผันแปรหน่วยสุดท้าย2 ซึ่งการที่บริษัทมี Markup สูง อาจเกิดจากความสามารถของบริษัทในการตั้งราคาสินค้าของตนเองให้สูงหรือความสามารถในการกดราคาปัจจัยการผลิตให้ต่ำก็ได้
รูปที่ 4 แสดงค่า Markup เฉลี่ยของบริษัทจดทะเบียนในประเทศไทยระหว่างปี 2549 ถึงปี 2559 จากรูป จะพบว่า Markup มีค่าค่อนข้างคงที่ในช่วงก่อนปี 2554 และมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องนับตั้งแต่ปี 2554 เป็นต้นมา ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า อำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วงทศวรรษล่าสุด นอกจากนี้ ยังพบว่าการเพิ่มขึ้นของอำนาจตลาดส่วนใหญ่เป็นผลมาจากการที่บริษัทเดิมมี Markup สูงขึ้น มากกว่าการที่บริษัทที่มี Markup สูงมีส่วนแบ่งตลาดเพิ่มขึ้นหรือบริษัทที่เข้ามาใหม่มี Markup สูงกว่าบริษัทเดิม
จากการศึกษาพบว่า โดยเฉลี่ยแล้ว บริษัทในภาคบริการจะมี Markup สูงกว่าบริษัทในภาคการผลิต โดยหากพิจารณาสัดส่วนอุตสาหกรรมของบริษัทที่มี Markup สูงที่สุด 5% แรกของประเทศ จะพบว่า 5 อันดับแรกประกอบไปด้วย อุตสาหกรรมค้าปลีก ค้าส่ง ร้านอาหาร โรงแรม และการผลิตอาหาร และเมื่อพิจารณาการเปลี่ยนแปลงของ Markup ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา จะพบว่า 5 อุตสาหกรรมที่ Markup เฉลี่ยเพิ่มขึ้นมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมการขนส่งทางน้ำ กิจกรรมตัวแทนธุรกิจการเดินทางและธุรกิจจัดนำเที่ยว คลังสินค้า ธุรกิจบันเทิง และอุตสาหกรรมภาพยนตร์และรายการโทรทัศน์ ส่วน 5 อุตสาหกรรมที่ Markup เฉลี่ยลดลงมากที่สุดได้แก่ อุตสาหกรรมโทรคมนาคม สิ่งพิมพ์ กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง กิจกรรมบริการสารสนเทศ และร้านอาหาร
หากเปรียบเทียบการเปลี่ยนแปลงของอำนาจตลาดระหว่างบริษัทสองกลุ่ม คือ บริษัทที่มี Markup สูง และบริษัทที่มี Markup ปานกลาง3 ดังแสดงในรูปที่ 5 จะพบว่าอำนาจตลาดของบริษัทที่มี Markup สูง เพิ่มขึ้นเร็วกว่าอำนาจตลาดของบริษัทที่มี Markup ปานกลางถึงสองเท่า แสดงว่าความแตกต่างของอำนาจตลาดระหว่างบริษัทในประเทศไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
การที่บริษัทในกลุ่มทุนเดียวกันมีความเชื่อมโยงกันผ่านการถือหุ้นอาจทำให้ขอบเขตของกิจการพร่าเลือนไป โดยการตัดสินใจทางธุรกิจของบริษัทหนึ่งในกลุ่มทุน อาจทำไปเพื่อให้ผลกำไรของกลุ่มทุนมีค่าสูงสุดแทนที่จะเป็นผลกำไรของบริษัท นอกจากนี้ บริษัทในกลุ่มทุนเดียวกันอาจรวมตัวกันเพื่อสร้างอำนาจต่อรองเหนือคู่ค้าทางธุรกิจได้ง่ายกว่า ดังนั้น การเป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มทุนจึงอาจส่งผลต่ออำนาจตลาดของบริษัท ซึ่ง Apaitan et al. (2019) พบว่าในภาคธุรกิจไทย บริษัทในกลุ่มทุนมีแนวโน้มที่จะมี Markup สูงกว่าบริษัทที่ไม่ได้อยู่ในกลุ่มทุน
นอกจากนี้ ลักษณะของกลุ่มทุนยังส่งผลต่ออำนาจตลาดของบริษัท ดังแสดงในรูปที่ 6 เมื่อเปรียบเทียบผลของขนาดกลุ่มทุนต่ออำนาจตลาดของบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่และบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนขนาดปานกลาง4 ผลการศึกษาชี้ว่า บริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนขนาดใหญ่มีแนวโน้มที่จะมี Markup สูงกว่าบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนขนาดปานกลาง ไม่ว่าจะวัดขนาดของกลุ่มทุนจากจำนวนบริษัทในกลุ่มทุนหรือรายรับรวมของกลุ่มทุน และเมื่อเปรียบเทียบผลของความหลากหลายของอุตสาหกรรมภายในกลุ่มทุน ระหว่างบริษัทในกลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมปานกลางและบริษัทในกลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมมาก ผลการศึกษาชี้ว่า บริษัทในกลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมมากมีแนวโน้มที่จะมี Markup ต่ำกว่าบริษัทที่อยู่ในกลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมปานกลาง5
การที่บริษัทมีอำนาจตลาดสูง นอกจากจะส่งผลต่อสวัสดิการของผู้บริโภคที่ต้องซื้อสินค้าในราคาที่สูงขึ้นแล้ว ยังส่งผลต่อระบบเศรษฐกิจโดยรวมอีกด้วย โดยบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง อาจขาดแรงจูงใจที่จะลงทุนและยกระดับผลิตภาพของตนเอง เนื่องจากไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขัน รูปที่ 7 แสดงความสัมพันธ์ระหว่างอำนาจตลาดและอัตราการเติบโตของผลิตภาพ ในกรณีของบริษัทที่มีอำนาจตลาดต่ำ อำนาจตลาด (และผลกำไร) ที่เพิ่มขึ้นจะช่วยสร้างแรงจูงให้บริษัทยกระดับผลิตภาพของตนเองได้ ในทางกลับกัน สำหรับบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูง ๆ อำนาจตลาดจะมีความสัมพันธ์เชิงลบกับการเติบโตของผลิตภาพ
นอกจากนี้ อำนาจตลาดยังส่งผลต่อการตัดสินในการส่งออกของบริษัท โดยบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงมีแนวโน้มที่จะส่งออกต่ำกว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดต่ำด้วยเหตุผลสองข้อด้วยกัน ข้อแรก คือ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงไม่ต้องเผชิญกับแรงกดดันจากการแข่งขันในตลาดภายในประเทศ จึงขาดแรงจูงใจที่จะส่งออกไปยังตลาดต่างประเทศที่มักต้องเผชิญกับการแข่งขันที่สูงกว่า ข้อที่สอง คือ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงมีอัตราการเติบโตของผลิตภาพต่ำ ดังแสดงในรูปที่ 7 จึงทำให้ไม่สามารถแข่งขันในตลาดต่างประเทศได้
เมื่อเปรียบเทียบพฤติกรรมการส่งออกของบริษัทสองกลุ่ม คือ บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงและบริษัทที่มีอำนาจตลาดปานกลาง ผลการศึกษาสนับสนุนสมมุติฐานข้างต้น โดยพบว่า บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงมีแนวโน้มที่จะส่งออกต่ำกว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดปานกลาง ดังแสดงในรูปที่ 8 นอกจากนี้ ยังพบว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงมีแนวโน้มที่จะส่งออกติดต่อกัน 2 หรือ 3 ปี ต่ำกว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดปานกลางอีกด้วย ผลการศึกษาดังกล่าวชี้ว่า ถึงแม้บริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงจะตัดสินใจส่งออก ก็มีโอกาสอยู่รอดในตลาดต่างประเทศต่ำ
Apaitan et al. (2019) ยังพบอีกว่า อำนาจตลาดส่งผลทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจในการขยายตลาด ไม่ว่าจะเป็นการส่งออกไปยังประเทศใหม่หรือการส่งออกผลิตภัณฑ์ใหม่ โดยบริษัทที่มีอำนาจตลาดสูงมีแนวโน้มที่จะมีจำนวนประเทศผู้ซื้อปลายทางและจำนวนผลิตภัณฑ์ที่ส่งออก น้อยกว่าบริษัทที่มีอำนาจตลาดปานกลาง
ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา พลวัตธุรกิจของไทยซึ่งวัดจากอัตราการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่และอัตราการออกจากตลาดของบริษัทเก่ามีแนวโน้มลดลง ดังแสดงในรูปที่ 9 และส่งผลทำให้อายุเฉลี่ยของบริษัทไทยเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ดังแสดงในรูปที่ 10 แนวโน้มดังกล่าวเป็นที่น่ากังวลเนื่องจากโดยปกติแล้ว พลวัตธุรกิจเป็นกลไกสำคัญในการยกระดับผลิตภาพการผลิตผ่านกระบวนการ Creative destruction โดยการแข่งขันจะบีบให้บริษัทเก่าที่มีผลิตภาพต่ำต้องออกจากตลาดไปและเปิดโอกาสให้บริษัทใหม่ที่มีผลิตภาพสูงกว่าเข้ามาสู่ตลาด ดังนั้น การลดลงของพลวัตธุรกิจจึงอาจส่งผลกระทบต่อการเติบโตของระบบเศรษฐกิจไทย
Paweenawat and Samphantharak (2019) ศึกษาผลกระทบของการที่บริษัทบางแห่งมีกำไรจากการดำเนินงานต่ำกว่ารายจ่ายดอกเบี้ยอย่างต่อเนื่องและน่าจะต้องปิดตัวลง แต่กลับยังคงสามารถอยู่รอดในตลาดได้ โดยงานวิจัยทางเศรษฐศาสตร์เรียกบริษัทเหล่านี้ว่า “บริษัทผีดิบ” หรือ “Zombie firms”6 งานวิจัยที่ผ่านมาพบผลกระทบทางลบของบริษัทผีดิบต่อระบบเศรษฐกิจในหลายประเทศ เนื่องจากการที่บริษัทผีดิบยังคงอยู่ทำให้โอกาสในการเข้าสู่ตลาดของบริษัทใหม่ลดลงและทำให้ทรัพยากรการผลิต เช่น ทุนหรือแรงงาน ไม่ถูกจัดสรรไปยังบริษัทที่มีผลิตภาพสูงกว่า การศึกษาโดย Paweenawat and Samphantharak (2019) พบผลดังกล่าวในกรณีของประเทศไทยเช่นกัน โดยสัดส่วนของบริษัทผีดิบที่เพิ่มขึ้นในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ส่งผลกระทบทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดในอุตสาหกรรมนั้นและอัตราการลงทุนของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยเฉพาะอย่างยิ่ง บริษัทที่มีอายุไม่เกิน 5 ปี รูปที่ 11 แสดงผลกระทบจากสัดส่วนของบริษัทผีดิบที่เพิ่มขึ้น 1 percentage point ในอุตสาหกรรมหนึ่ง ๆ ต่ออัตราการลงทุนของบริษัทอื่น ๆ ในอุตสาหกรรมเดียวกัน โดยในปี 2559 อุตสาหกรรมที่มีสัดส่วนของบริษัทผีดิบสูงสุด 5 อุตสาหกรรมแรก7 ได้แก่ อุตสาหกรรมการก่อสร้าง โรงแรม กิจกรรมกีฬาและความบันเทิง การผลิตโลหะพื้นฐาน และกิจกรรมการศึกษา
ผลการศึกษาที่พบในบทความนี้มีนัยเชิงนโยบายหลายประการด้วยก้น ผลการศึกษาที่พบว่าภาคธุรกิจไทยมีการกระจุกตัวสูงในกลุ่มบริษัทขนาดใหญ่ที่ให้ผลตอบแทนจากการลงทุนต่ำแต่มีสัดส่วนสินเชื่อสูง ในขณะที่บริษัทขนาดกลางจำนวนหนึ่งมีสัดส่วนสินเชื่อปานกลางถึงแม้ว่าจะให้ผลตอบแทนจากการลงทุนที่สูง อาจเกิดจากการที่บริษัทขนาดปานกลางเหล่านี้มีความเสี่ยงสูงหรือกำลังเผชิญกับข้อจำกัดด้านสินเชื่อ ดังนั้น นโยบายที่ช่วยให้บริษัทในกลุ่มนี้เข้าถึงสินเชื่อได้เพิ่มขึ้นจะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น อย่างไรก็ดี จากผลการศึกษาที่พบว่ามีบริษัทขนาดเล็กจำนวนมากที่ให้อัตราผลตอบแทนจากการลงทุนที่ต่ำทั้ง ๆ ที่มีสัดส่วนสินเชื่อที่ต่ำ ชี้ให้เห็นว่าบริษัทกลุ่มนี้มีระดับผลิตภาพต่ำ ดังนั้น ในการสนับสนุนวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (small and medium enterprises หรือ SMEs) การใช้นโยบายที่ช่วยเพิ่มการเข้าถึงสินเชื่ออย่างเดียวจึงไม่เพียงพอ แต่จำเป็นต้องใช้นโยบายที่จะช่วยยกระดับผลิตภาพของบริษัทควบคู่ไปด้วย
ผลการศึกษาในส่วนถัดมาที่พบว่าอำนาจตลาดของบริษัทไทยมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น บริษัทในกลุ่มทุนมีอำนาจตลาดสูงกว่าบริษัททั่วไป และอำนาจตลาดส่งผลทางลบต่อประสิทธิภาพการจัดสรรทรัพยากรโดยทำให้บริษัทขาดแรงจูงใจในการลงทุนเพื่อเพิ่มผลิตภาพ ในการส่งออก รวมทั้งในการขยายตลาดไปยังประเทศปลายทางใหม่ ๆ หรือผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ชี้ว่าการเพิ่มการแข่งขันภายในประเทศมีความจำเป็นอย่างยิ่ง นอกจากนี้ ผู้กำกับดูแลด้านการแข่งขันควรที่จะนำมิติด้านโครงสร้างความเป็นเจ้าของมาพิจารณาประกอบการดำเนินนโยบายด้วย
ผลการศึกษาในส่วนสุดท้ายชี้ว่าพลวัตธุรกิจไทยมีแนวโน้มลดลงอย่างต่อเนื่อง และการที่บริษัทผีดิบหรือบริษัทที่มีผลการดำเนินงานติดลบอย่างต่อเนื่องสามารถอยู่รอดในตลาดได้ ส่งผลทางลบต่อโอกาสที่บริษัทใหม่จะเข้าสู่ตลาดและต่อการเติบโตของบริษัทอื่น ๆ ที่อยู่ในอุตสาหกรรมเดียวกัน ดังนั้น นโยบายที่ทำให้บริษัทเก่าที่ไม่สามารถทำกำไรได้ออกจากตลาดเร็วขึ้น เช่น การปรับปรุงกฎหมายล้มละลายในกรณีของต่างประเทศ หรือนโยบายที่ช่วยให้บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้น เช่น การแก้ไขกฎระเบียบเพื่อลดขั้นตอนและระยะเวลาในการตั้งบริษัทใหม่ จะช่วยทำให้การจัดสรรทรัพยากรเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น และการที่บริษัทใหม่ ๆ เข้าสู่ตลาดได้ง่ายขึ้นจะช่วยยกระดับการแข่งขันในตลาดให้เพิ่มขึ้นและลดอำนาจตลาดของบริษัทอีกด้วย
กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ และ ชานนทร์ บรรเทิงหรรษา. 2019. “มองโครงสร้างภาคธุรกิจไทยผ่านข้อมูลผู้ถือหุ้น เจาะลึกโครงสร้างความเป็นเจ้าของภาคธุรกิจและกลุ่มทุนไทย” PIER aBRIDGEd Issue 19 / 2019.
Adalet McGowan, Müge, Dan Andrews, and Valentine Millot. 2017. “The Walking Dead? Zombie Firms and Productivity Performance in OECD Countries.” OECD Economic Department Working Paper No. 1372.
Apaitan, Tosapol, Chanont Banternghansa, Archawa Paweenawat, and Krislert Samphantharak. 2019. “Common Ownership, Market Power, and Business Dynamism: Evidence from Thailand.” PIER Discussion Paper (forthcoming).
Banternghansa, Chanont, Archawa Paweenawat, and Krislert Samphantharak. 2019. “Understanding Corporate Thailand I: Finance.” PIER Discussion Paper No. 112.
De Loecker, Jan, and Frederic Warzynski. 2012. “Markups and Firm-Level Export Status.” American Economic Review 102(6): 2437–2471.
Paweenawat, Archawa, and Krislert Samphantharak. 2019. “Zombie Firms in Thailand.” PIER Discussion Paper (forthcoming).
- สำหรับการวิเคราะห์ในรูปนี้ Banternghansa et al. (2019) พิจารณาเฉพาะบริษัทที่มีรายรับรวมมากกว่า 30,000 บาทในแต่ละปี จึงไม่มีข้อมูลของบริษัทในกลุ่มที่ 1–3↩
- Apaitan et al. (2019) ประมาณค่า Markup โดยใช้วิธีของ De Loecker and Warzynski (2012)↩
- บริษัทที่มี Markup สูงหมายถึง บริษัทที่มี Markup เท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ในแต่ละปี ส่วนบริษัทที่มี Markup ปานกลางหมายถึง บริษัทที่มี Markup เท่ากับค่ามัธยฐานในแต่ละปี↩
- กลุ่มทุนขนาดใหญ่หมายถึง กลุ่มทุนที่มีจำนวนบริษัท หรือมูลค่ารายรับ เท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ส่วนกลุ่มทุนขนาดปานกลางหมายถึง กลุ่มทุนที่มีจำนวนบริษัท หรือมูลค่ารายรับ เท่ากับค่ามัธยฐาน↩
- กลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมมากหมายถึง กลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมเท่ากับเปอร์เซ็นไทล์ที่ 90 ส่วนกลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมปานกลางหมายถึง กลุ่มทุนที่มีจำนวนอุตสาหกรรมเท่ากับค่ามัธยฐาน↩
- Paweenawat and Samphantharak (2019) ใช้นิยามของ OECD (Adalet McGowan et al., 2017) ในการพิจารณาว่าบริษัทใดบริษัทหนึ่งเป็นบริษัทซอมบี้หรือไม่ โดยจะนับว่าบริษัทหนึ่ง ๆ เป็นบริษัทซอมบี้ ถ้าหากว่ากำไรจากการดำเนินงานของบริษัทต่ำกว่าค่าใช้จ่ายด้านดอกเบี้ยติดต่อกัน 3 ปีขึ้นไปและบริษัทมีอายุตั้งแต่ 10 ปีขึ้นไป↩
- นับเฉพาะอุตสาหกรรมที่บริษัทผีดิบมีมูลค่าสินทรัพย์รวมตั้งแต่ 10 ล้านบาทขึ้นไป↩