Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/4c83872eb77554bf0959875c8abc604f/41624/cover.jpg
17 มีนาคม 2564
202116159392000001615939200000

ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน

แก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน โดยสร้างโอกาสในการหารายได้ และปฏิรูปการใช้จ่ายภาษีและเงินโอนของภาครัฐ
ลดความเหลื่อมล้ำ นำไทยสู่การเติบโตอย่างยั่งยืน
excerpt

ความเหลื่อมล้ำเป็นปัญหาที่ฝังรากลึกอยู่ในสังคมไทยมาเป็นเวลานาน และคาดว่าจะยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นหลังการระบาดของโควิด-19 สิ้นสุดลง บทความนี้ได้วิเคราะห์ปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยใน 3 ด้าน ได้แก่ ด้านผลลัพธ์ โอกาส และผลกระทบ พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบ โดยมุ่งเน้นที่การสร้างโอกาสในการหารายได้ให้กับครัวเรือน ควบคู่ไปกับการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้ภาษีและรายจ่ายเงินโอนของภาครัฐ เพื่อให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เข้มแข็ง ทั่วถึง และยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว

ปัจจุบันนโยบายเศรษฐกิจในหลายประเทศไม่ได้มุ่งเน้นเฉพาะการขยายตัวเพียงอย่างเดียว แต่ยังให้ความสำคัญกับการเติบโตอย่างทั่วถึงด้วย ปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงได้รับความสนใจมากขึ้น เพราะเป็นกระจกสะท้อนว่าครัวเรือนแต่ละกลุ่มจะได้รับผลดีจากการขยายตัวของเศรษฐกิจทั่วถึงมากน้อยเพียงใด นอกจากนี้ ความเหลื่อมล้ำที่อยู่ในระดับสูงมาเป็นเวลานานยังอาจบั่นทอนอัตราการเติบโตและเสถียรภาพโดยรวมของเศรษฐกิจได้ บทความนี้จะนำเสนอให้เห็นว่าปัญหาความเหลื่อมล้ำสามารถมองจากด้านใดได้บ้าง สถานการณ์ของไทยล่าสุดเป็นอย่างไร รวมถึงนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนไทยนั้นเพียงพอแล้วหรือไม่ และมีอะไรที่สามารถทำเพิ่มเติมได้บ้าง

ความเหลื่อมล้ำมองได้ 3 ด้าน : Outcome / Opportunity / Impact

ความเหลื่อมล้ำ (Inequality) สะท้อนถึงความไม่เท่าเทียมกันทางเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งงานศึกษาของ UNESCAP (2018) ได้แบ่งนิยามความเหลื่อมล้ำออกเป็น 3 ด้าน ดังนี้

รูปที่ 1: Lorenz Curve ของไทย (2009 vs 2019)

Lorenz Curve ของไทย (2009 vs 2019)

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยผู้เขียน

ด้านผลลัพธ์ (Outcome)

สะท้อนจากข้อมูลทางเศรษฐกิจของครัวเรือน โดยนิยมวัดจาก 3 มิติ ได้แก่ รายได้ รายจ่ายเพื่อการบริโภค และความมั่งคั่ง ซึ่งในทางปฏิบัติสามารถวัดได้หลายวิธี เช่น การหาค่า Gini Index / Coefficients ที่เปรียบเทียบข้อมูลหลายประเทศกันได้ การสร้าง Lorenz Curve ที่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของความเหลื่อมล้ำในแต่ละช่วงเวลา (รูปที่ 1) และการคำนวณหาอัตราการเปลี่ยนแปลงของรายได้ รายจ่ายเพื่อการบริโภค หรือความมั่งคั่ง สำหรับครัวเรือนในแต่ละกลุ่มรายได้ในช่วงเวลาหนึ่งเทียบกับอีกช่วงเวลาหนึ่ง โดยการวัดความเหลื่อมล้ำด้านผลลัพธ์มักใช้เป็นจุดเริ่มต้นสำหรับการวิเคราะห์ความเหลื่อมล้ำด้านอื่น ๆ

ด้านโอกาส (Opportunity)

พิจารณาจากความสามารถในการเข้าถึงสิทธิและบริการขั้นพื้นฐานที่แตกต่างกัน ส่งผลให้ครัวเรือนแต่ละกลุ่มมีคุณภาพชีวิตที่แตกต่างกัน เช่น การเข้าถึงความช่วยเหลือด้านที่อยู่อาศัย การเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณสุข บริการทางการเงิน ข้อมูลข่าวสารด้านเทคโนโลยี รวมถึงการใช้สิทธิลดหย่อนภาษีเงินได้ที่แตกต่างกันตามระดับรายได้ โดยความเหลื่อมล้ำด้านโอกาสสามารถประเมินได้ทั้งในเชิงปริมาณ เช่น การนับจำนวนผู้มีสิทธิเข้าถึงการให้บริการขั้นพื้นฐานด้านต่าง ๆ และในเชิงคุณภาพ เช่น การวัดคุณภาพการให้บริการของโรงพยาบาลตามมาตรฐานสากล

ด้านผลกระทบ (Impact)

พิจารณาจากผลของปัจจัยภายนอก (External Shocks) ที่กระทบต่อครัวเรือน อาทิ ภัยธรรมชาติ โรคระบาด และการเปลี่ยนแปลงทางเทคโนโลยี โดยขนาดของผลกระทบสำหรับแต่ละกลุ่มครัวเรือนมักไม่เท่ากันจาก 2 สาเหตุหลัก คือ

  1. ปัจจัยภายนอกที่มีผลต่อครัวเรือนต่างกัน เช่น เกิดน้ำท่วมเฉพาะในพื้นที่ภาคใต้ ทำให้รายได้เฉลี่ยของครัวเรือนในภาคใต้ลดลง และ
  2. ปัจจัยภายในของครัวเรือนที่มีทรัพยากรพื้นฐาน (Endowment) ต่างกัน ทำให้แม้ครัวเรือนจะเผชิญ shocks ลักษณะเดียวกัน แต่อาจได้รับผลกระทบไม่เท่ากัน เช่น การระบาดของโควิด-19 ส่งผลกระทบต่อธุรกิจที่สามารถปรับตัวไปขายสินค้าผ่านช่องทาง online น้อยกว่าธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ หรือคนที่อาศัยในชุมชนแออัดและสภาพแวดล้อมไม่เหมาะสมมีโอกาสติดโรคระบาดได้ง่ายขึ้น เป็นต้น

ทั้งนี้ ไม่ว่าความเหลื่อมล้ำด้านผลกระทบจะเกิดจากสาเหตุใดก็ตามล้วนยิ่งตอกย้ำความแตกต่างของโอกาสและผลลัพธ์ให้ชัดเจนมากยิ่งขึ้น

ประเด็นสำคัญคือ ความเหลื่อมล้ำทั้ง 3 ด้านเชื่อมโยงซึ่งกันและกัน โดยรูปที่ 2 แสดงให้เห็นถึงต้นตอของปัญหาความเหลื่อมล้ำที่บรรเทาได้ด้วยการทำนโยบาย ยกเว้น ความเหลื่อมล้ำที่เกิดจากทรัพยากรพื้นฐานบางอย่าง เช่น ความสามารถโดยกำเนิด (innate ability) ที่ไม่เท่ากัน อย่างไรก็ตาม การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนควรมุ่งไปที่ 2 ด้าน ทั้งการเพิ่มโอกาสและการสร้างเกราะลดแรงกระแทกจากปัจจัยภายนอกให้กับครัวเรือน

รูปที่ 2: การทำนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

การทำนโยบายแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืน

ที่มา: ผู้เขียน

การทำนโยบายที่มุ่งแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเพียงด้านใดด้านหนึ่ง เช่น การจ่ายเงินโอนเพื่อเพิ่มรายได้ให้แก่ผู้มีรายได้น้อย แม้จะช่วยลดความเหลื่อมล้ำด้านผลกระทบได้ แต่ยังไม่ถือเป็นการแก้ปัญหาอย่างยั่งยืน เนื่องจากผู้มีรายได้น้อยยังขาดโอกาสในการเข้าถึงทรัพยากรที่จะช่วยเพิ่มความสามารถในการสร้างรายได้ให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิต ทำให้ต้องพึ่งพาความช่วยเหลือจากภาครัฐอย่างต่อเนื่อง และยิ่งไปกว่านั้น แรงงานกลุ่มรายได้น้อยที่มีทักษะต่ำยังมีโอกาสได้รับผลกระทบจากวิกฤตเศรษฐกิจในระดับที่รุนแรงกว่า และต้องใช้เวลาปรับตัวนานกว่าแรงงานกลุ่มอื่น จึงตกเป็นภาระของภาครัฐที่ต้องจ่ายเงินเยียวยาจำนวนมหาศาลเพื่อประคับประคองคนกลุ่มนี้

สถานการณ์ความเหลื่อมล้ำล่าสุดของไทย : แม้ปรับดีขึ้น แต่ยังอยู่ในระดับสูง

ในปี 2019 สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) พบว่า ความเหลื่อมล้ำที่วัดจากด้านรายได้และรายจ่าย ของครัวเรือนไทยมีแนวโน้มลดลงต่อเนื่องในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา แต่ยังสูงกว่าค่าเฉลี่ยของโลก (รูปที่ 3) อย่างไรก็ตาม เมื่อวัดจากด้านความมั่งคั่ง พบว่า ความเหลื่อมล้ำยังอยู่ในระดับสูงต่อเนื่องมา 6 ปี1 โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติพบว่า ครัวเรือนกลุ่มรายได้สูง (Top 10%) ครอบครองสินทรัพย์ทางการเงินคิดเป็นมูลค่าเกือบครึ่งหนึ่งของทั้งประเทศ2 สอดคล้องกับข้อมูลเงินฝากในธนาคารพาณิชย์ ณ เดือนธันวาคม ปี 2019 (รูปที่ 4) ซึ่งร้อยละ 87.6 ของบัญชีเงินฝากประเภทบุคคลธรรมดามียอดเงินฝากไม่ถึง 5 หมื่นบาท และมีเพียงร้อยละ 1.3 ที่มีเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาท นอกจากนี้ โควิด-19 ยังทำให้ความเหลื่อมล้ำดังกล่าวเร่งขึ้น สะท้อนจากยอดคงค้างเงินฝากมากกว่า 1 ล้านบาทที่ขยายตัวเร่งขึ้นต่อเนื่องมากกว่ากลุ่มอื่น (รูปที่ 5) ขณะที่กลุ่มคนจนและกลุ่มคนเกือบจน3 อาจถูกซ้ำเติมจากการระบาดของโควิด-19

รูปที่ 3: Gini Index by Region (as of 2015)

Gini Index by Region (as of 2015)

หมายเหตุ: * excludes EU28 ที่มา: Darvas (2019) and Solt (2019)
รูปที่ 4: สัดส่วนจำนวนบัญชีและจำนวนเงินฝากประเภทบุคคลธรรมดา ณ เดือนธันวาคม ปี 2019 (จำแนกตามยอดเงินฝาก)

สัดส่วนจำนวนบัญชีและจำนวนเงินฝากประเภทบุคคลธรรมดา ณ เดือนธันวาคม ปี 2019 (จำแนกตามยอดเงินฝาก)

ที่มา: ธปท.
รูปที่ 5: Contribution to Personal Saving Growth

Contribution to Personal Saving Growth

ที่มา: ธปท.

สำหรับความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส บทความนี้จะขอกล่าวถึงตัวชี้วัดจาก 2 มิติสำคัญ ได้แก่

  1. การเข้าถึงบริการทางการศึกษาและสาธารณสุข สศช. พบว่า

    • เมื่อพิจารณาในเชิงปริมาณ ไทยมีพัฒนาการโดยรวมที่ดีขึ้นในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา สะท้อนจากการเพิ่มขึ้นของอัตราการเข้าเรียนสุทธิ โดยเฉพาะในระดับชั้นอนุบาลที่เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 65.1 ในปี 2010 เป็นร้อยละ 78.1 ในปี 2019 และสัดส่วนประชากรที่เข้าถึงระบบประกันสุขภาพที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง หลังรัฐบาลจัดตั้งโครงการหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้าขึ้นในปี 2001
    • อย่างไรก็ตาม เมื่อพิจารณาในเชิงคุณภาพกลับพบว่า การให้บริการทางการศึกษาและสาธารณสุขในแต่ละพื้นที่ของไทยยังคงเหลื่อมล้ำสูง โดยเป็นผลจาก 2 ปัจจัยหลัก คือ (1) ประสิทธิภาพในการจัดสรรบุคลากรและอุปกรณ์ทางการแพทย์และการศึกษาที่ไม่เท่าเทียมกัน และ (2) ภาวะความยากจนที่ทำให้ครัวเรือนจำนวนหนึ่งไม่สามารถเข้าถึงระบบสาธารณสุขและการศึกษาที่มีคุณภาพได้
  2. การครอบครองที่อยู่อาศัย จากแผนยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579) ซึ่งจัดทำโดยกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ พบว่า อัตราการครอบครองที่อยู่อาศัยของครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยมีแนวโน้มลดลงตั้งแต่ปี 2007 เป็นต้นมา4 โดยในปี 2015 ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่ไม่มีกรรมสิทธิ์ในที่อยู่อาศัยของตัวเองมีประมาณ 3.6 ล้านครัวเรือน หรือร้อยละ 17.0 ของครัวเรือนทั้งหมด 21.3 ล้านครัวเรือน เพิ่มขึ้นจากร้อยละ 12.2 ในปี 2007

นโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนไทยในปัจจุบัน : เน้นแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ

การแก้ปัญหาความเหลื่อมล้ำเป็นสิ่งที่ทุกรัฐบาลให้ความสำคัญมาอย่างต่อเนื่อง แต่การดำเนินนโยบายส่วนใหญ่ยังเป็นการแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ ไม่ใช่การแก้ปัญหาในระยะยาว เช่น การจ่ายเงินช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยผ่านโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ซึ่งส่งผลให้ภาระทางการคลังเพิ่มขึ้น โดยข้อมูลจากการสำรวจภาวะเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือนในปี 2562 ของสำนักงานสถิติแห่งชาติ (รูปที่ 6) ชี้ให้เห็นว่า ครัวเรือนกลุ่มที่ฐานะทางเศรษฐกิจต่ำที่สุด (1st Quintile) มีแหล่งรายได้หลักมาจากเงินโอนของภาครัฐ ซึ่งคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 60 ของรายได้ต่อเดือนที่เป็นตัวเงินทั้งหมด สะท้อนว่าครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยยังไม่สามารถพึ่งพาตนเองได้

รูปที่ 6: สัดส่วนที่มาของรายได้ที่เป็นตัวเงินของครัวเรือนไทย (หน่วย: ร้อยละ)

สัดส่วนที่มาของรายได้ที่เป็นตัวเงินของครัวเรือนไทย (หน่วย: ร้อยละ)

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ คำนวณโดยผู้เขียน

การดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนอย่างยั่งยืน : มุ่งเพิ่มรายได้ครัวเรือน ควบคู่กับการปฏิรูปการใช้จ่ายด้านภาษีและเงินโอนของรัฐ

การออกแบบนโยบายเพื่อลดความเหลื่อมล้ำแก่ครัวเรือนต้องทำเป็นระบบ ตั้งแต่การเพิ่มความสามารถในการหารายได้ทั้งจากการทำงานและการลงทุน (Labour and Capital Income) ให้กับครัวเรือน ไปจนถึงการเพิ่มประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้ภาษีและรายจ่ายเงินโอนของภาครัฐ (Redistribution) โดย

  • นโยบายเพิ่มรายได้ครัวเรือน วัดประสิทธิผลผ่านทุกช่องทางทั้งค่า Gross Inequality ที่คำนวณจากรายได้รวมของครัวเรือน (Household Market Income) และค่า Net Inequality ที่คำนวณจากรายได้ที่ใช้จ่ายได้ของครัวเรือน(Household Disposable Income) ซึ่งเท่ากับรายได้รวมหลังหักภาษีบวกกับเงินโอนที่ได้รับจากภาครัฐ
  • นโยบายด้านภาษีและเงินโอน วัดประสิทธิผลจากส่วนต่างระหว่างค่า Gross และ Net Inequality เพื่อเปรียบเทียบความเหลื่อมล้ำด้านรายได้ของครัวเรือนก่อนและหลังการดำเนินนโยบายด้านภาษีและเงินโอน โดยส่วนต่างที่มีค่ามากสะท้อนถึงการจัดเก็บภาษีที่ไม่ได้เพิ่มความเหลื่อมล้ำหรือช่วยลดความเหลื่อมล้ำได้ และประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้ภาษีเพื่อลดความเหลื่อมล้ำผ่านการจ่ายเงินโอนของภาครัฐ

ซึ่งท้ายที่สุดการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างเป็นระบบนี้จะให้ผลลัพธ์เป็นการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจที่ทั่วถึงและยั่งยืน (Inclusive and Sustainable Growth) ดังแสดงในรูปที่ 7

รูปที่ 7: กรอบแนวคิดการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนอย่างยั่งยืน

กรอบแนวคิดการดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำของครัวเรือนอย่างยั่งยืน

ที่มา: OECD (2012), IMF (2014) และผู้เขียน

นโยบายลดความเหลื่อมล้ำอย่างยั่งยืนต้องแก้ที่ต้นตอของปัญหาในแต่ละจุด สำหรับประเด็นเรื่องการเพิ่มรายได้ครัวเรือนนั้น

  • ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยที่ยังพึ่งพาตนเองไม่ได้ ต้องเน้นเพิ่มรายได้จากการทำงานให้เพียงพอต่อการดำรงชีวิตเสียก่อน
  • ครัวเรือนกลุ่มรายได้ปานกลาง ให้เสริมความสามารถในการสร้างรายได้จากการลงทุนเข้าไป โดยเฉพาะการลงทุนในสินทรัพย์ทางการเงินเพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านความมั่งคั่งไปพร้อม ๆ กัน

ด้านการปฏิรูปการใช้จ่ายด้านภาษีและเงินโอนของรัฐ ควรเน้นทำนโยบายเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการจัดสรรรายได้ภาษีและรายจ่ายเงินโอน (Redistributive Policy) เนื่องจากข้อมูลล่าสุดแสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายด้านภาษีและเงินโอนของไทย แม้จะบรรเทาความเหลื่อมล้ำได้ แต่น้อยกว่าของประเทศอื่น โดยเฉพาะประเทศในแถบยุโรป (แสดงด้วยแท่งส่วนที่เป็นสีส้มในรูปที่ 8 ซึ่งไทยมีน้อยกว่าหลายประเทศ) ควบคู่ไปกับการเพิ่มสัดส่วนการใช้จ่ายเพื่อยกระดับผลิตภาพการผลิตรวม (Total Factor Productivity: TFP) นอกจากนี้ ภาครัฐยังควรส่งเสริมให้คนวัยทำงานออมเงินระยะยาวไว้สำหรับใช้จ่ายหลังเกษียณ เพราะนอกจากจะช่วยลดภาระทางการคลังที่เพิ่มขึ้นจากรายจ่ายสวัสดิการเพื่อรองรับสังคมสูงวัยแล้ว ยังเป็นช่องทางในการระดมทุนสำหรับโครงการลงทุนขนาดใหญ่ของภาครัฐได้ด้วย

รูปที่ 8: Gross Inequality by Country (as of 2016)*

Gross Inequality by Country (as of 2016)*

หมายเหตุ: * Gross inequality is estimated from household gross income (pre-tax, pre-transfer) Net inequality is estimated from household disposable income (post-tax, post-transfer) * Redistribution = gross inequality – net inequalityที่มา: Solt (2019)

ไทยสามารถดำเนินนโยบายลดความเหลื่อมล้ำเพิ่มเติมได้ทั้งในแง่ของ

1. การเสริมสร้างความแข็งแกร่งพื้นฐานให้ครัวเรือน

  • การเพิ่มอัตราการเข้าถึงข้อมูลข่าวสารและแหล่งความรู้ (Access to Information & Knowledge) ให้กับครัวเรือนทั้งในเขตเมืองและชนบทผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ต เพื่อลดความเหลื่อมล้ำด้านโอกาส ทั้งด้านการศึกษาและการหารายได้ ซึ่งจากข้อมูลล่าสุดพบว่าประชาชนในหลายพื้นที่ยังไม่สามารถเชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตได้ (รูปที่ 9)
รูปที่ 9: สัดส่วนครัวเรือนไทยที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปี 2561 (หน่วย: ร้อยละ)

สัดส่วนครัวเรือนไทยที่เชื่อมต่ออินเทอร์เน็ตในปี 2561 (หน่วย: ร้อยละ)

ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ
  • การปรับปรุงคุณภาพการเรียนการสอนในสถานศึกษา (Quality of Education) ที่ควรดำเนินการให้สอดคล้องกันในทุกพื้นที่และทุกระดับชั้น เพื่อป้องกันไม่เกิดความเหลื่อมล้ำมากขึ้น ซึ่งการลงทุนใน digital infrastructure น่าจะช่วยแก้ปัญหานี้ได้ระดับหนึ่ง รวมถึงอาจพิจารณาอุดหนุนอุปกรณ์ hardware สำหรับการศึกษาพร้อมบริการอินเทอร์เน็ต เฉพาะกับครัวเรือนที่มีรายได้น้อย โดยอาจคัดกรองและรับรองกลุ่มที่ควรได้รับการอุดหนุนผ่านคณะกรรมการซึ่งประกอบด้วยผู้ที่เข้าใจปัญหาระดับท้องถิ่น เช่น ครูหรือผู้บริหารในพื้นที่

2. การสร้างโอกาสในการหารายได้และเพิ่มความก้าวหน้าในอาชีพให้กับลูกจ้าง

  • การเพิ่มโอกาสในการหางานทำ (Job Opportunities) อาทิ สร้างระบบเก็บข้อมูลแรงงานและติดตามสถานะการจ้างงานไว้รองรับการหางานทำ การเปลี่ยนงาน และการสร้าง platform ช่วยหางาน/ขายสินค้าและบริการทั้งในระบบและนอกระบบที่เอื้อต่อการหารายได้เสริมในระดับชุมชน เพื่อให้ครัวเรือนมีรายได้จากหลายแหล่ง ซึ่งจะช่วยเป็นเกราะอีกชั้นในการลดทอนผลกระทบจาก shocks ที่เกิดขึ้นในระบบเศรษฐกิจ

  • การสร้างแรงจูงใจหรือให้รางวัล (Incentives & Rewards) ที่สอดคล้องกับแนวคิด upskill/reskill โดยนายจ้างต้องชี้ให้ลูกจ้างเห็นว่าทักษะใหม่ ๆ สามารถนำมาประยุกต์ใช้กับการทำงานได้จริง และสนับสนุนการเรียนรู้ทักษะที่ทั้งตรงกับความต้องการขององค์กรและเป็นประโยชน์ต่อความก้าวหน้าในเส้นทางอาชีพของตัวลูกจ้างด้วย เช่น การส่งแรงงานที่มีฝีมือไปอบรมทักษะการใช้ภาษาอังกฤษ เพื่อให้สามารถสื่อสารกับวิศวกรชาวต่างชาติที่เข้ามาถ่ายทอดเทคโนโลยีใหม่ ๆ ได้

3. การเสริมประสิทธิภาพการจัดสรรรายได้และเงินโอน

  • การปฏิรูปโครงสร้างการจัดเก็บภาษี (Tax Reform) โดยเรียกเก็บภาษีที่ดินและมรดกในอัตราที่สูงขึ้น รวมทั้งขยายฐานภาษีด้วยการสร้างแรงจูงใจให้เข้าสู่ระบบภาษีได้มากขึ้น เพื่อให้ภาครัฐมีรายได้เพียงพอสำหรับรายจ่าย โดยเฉพาะรายจ่ายลงทุนในทุนมนุษย์ (Human Capital) ที่จะช่วยให้ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยสามารถสร้างรายได้ได้เองโดยไม่ต้องพึ่งพาสวัสดิการจากภาครัฐในระยะยาว

ข้อสรุปและนัยสำคัญเชิงนโยบาย

ที่ผ่านมาปัญหาความเหลื่อมล้ำของไทยแม้จะปรับดีขึ้นบ้าง แต่ยังถือว่าอยู่ในระดับสูงเมื่อเทียบกับค่าเฉลี่ยของโลก ซึ่งปัญหาความเหลื่อมล้ำที่สะสมมาเป็นเวลานานย่อมมีส่วนบั่นทอนการเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว โดยคาดว่าหลังวิกฤตโควิด-19 สิ้นสุดลง ปัญหาความเหลื่อมล้ำจะยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อยเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบมากที่สุดผ่านทั้งด้านรายได้และการศึกษา

การลดความเหลื่อมล้ำนับเป็นนโยบายเชิงโครงสร้างอย่างหนึ่งซึ่งไม่สามารถประสบความสำเร็จได้โดยง่าย และต้องใช้เวลานานจึงจะเห็นผลลัพธ์ที่ชัดเจน ซึ่งที่ผ่านมานโยบายการแก้ปัญหายังมุ่งไปที่ปลายเหตุ และไม่ได้ทำอย่างเป็นระบบ ดังนั้น เพื่อแก้ปัญหาอย่างยั่งยืนในระยะข้างหน้า นโยบายลดปัญหาความเหลื่อมล้ำจึงควรให้น้ำหนักกับนโยบายการเพิ่มโอกาสในการหารายได้ให้กับครัวเรือน และการปฏิรูปการใช้จ่ายด้านภาษีและเงินโอน ซึ่งหากทุกภาคส่วนตระหนักถึงผลกระทบของปัญหาดังกล่าว และร่วมมือกันแก้ไขปัญหาอย่างจริงจัง ก็จะทำให้เศรษฐกิจไทยกลับมาเติบโตได้อย่างเต็มศักยภาพ เข้มแข็ง ทั่วถึง และยั่งยืนมากขึ้นในระยะยาว

เอกสารอ้างอิง

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (2562) รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำของประเทศไทย ปี 2562.

กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (2560) ยุทธศาสตร์การพัฒนาที่อยู่อาศัยระยะ 20 ปี (พ.ศ. 2560–2579).

Darvas, Z., (2019). ‘Global interpersonal income inequality decline: the role of China and India’ World Development, 121, pp. 16–32.

International Monetary Fund (2014) Redistribution, Inequality and Growth. https://www.imf.org/en/Publications/Staff-Discussion-Notes/Issues/2016/12/31/Redistribution-Inequality-and-Growth-41291

Organisation for Economic Co-operation and Development (2012) Reducing Income Inequality while Boosting Economic Growth: Can it be done?. Available at: https://www.oecd.org/economy/labour/49421421.pdf

Solt, F., (2019). ‘x_swiid8_0.zip’ The Standardized World Income Inequality Database, Versions 8–9, Harvard Dataverse, V5

United Nations ESCAP (2018) Inequality in Asia and the Pacific in the era of the 2030 Agenda for Sustainable Development. Available at: https://www.unescap.org/sites/default/files/publications/ThemeStudyOnInequality.pdf


  1. จากรายงานวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและเหลื่อมล้ำ ฉบับปี 2562↩
  2. ข้อมูล ณ สิ้นปี 2019 โดยนับรวมมูลค่าของเงินสด เงินฝากในธนาคารพาณิชย์ สลากออมสิน ตราสารหนี้ ตราสารทุน และสินทรัพย์บางชนิด เช่น ทองและอัญมณี↩
  3. ตามนิยามของ สศช. คนเกือบจน หมายถึง คนที่มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคอยู่ใกล้เคียงกับเส้นความยากจน ซึ่งมีประมาณ 5.4 ล้านคน หรือ ร้อยละ 7.8 ของประชากรทั้งหมดในปี 2562 ขณะที่คนยากจน หมายถึง คนที่มีรายจ่ายเพื่อการบริโภคอยู่ใต้เส้นความยากจน↩
  4. ครัวเรือนกลุ่มรายได้น้อย หมายถึง ครัวเรือนที่มีรายได้เฉลี่ยต่อเดือนไม่เกิน 24,500 บาท↩
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Development EconomicsMacroeconomicsWelfare Economics
Tags: growthinequality
พิรญาณ์ รณภาพ
พิรญาณ์ รณภาพ
ธนาคารแห่งประเทศไทย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email