Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/99f58e1a6405e115f7bde2840fef05c2/41624/cover.jpg
15 มีนาคม 2565
20221647302400000

ความเต็มใจที่จะจ่ายในการซื้อที่ดินในโลก Metaverse

สกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระมีความสัมพันธ์กับความเต็มใจที่จะจ่ายในการซื้อที่ดินในโลก Metaverse
ความเต็มใจที่จะจ่ายในการซื้อที่ดินในโลก Metaverse
excerpt

ราคาที่ดินใน The Sandbox Metaverse ขึ้นไปสูงสุดถึง 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ โดยหากวัดเป็นดัชนี All-Sales Index ราคาที่ดินในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้นถึง 300 เท่า นอกจากนี้ ผู้วิจัยยังพบว่าสกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระ (ซึ่งอาจพิจารณาเป็นหน่วยวัดมูลค่า หรือ unit of account ของผู้ซื้อ) มีความสัมพันธ์กับความเต็มใจที่จะจ่าย (willingness to pay) ในการซื้อที่ดินในโลก Metaverse โดยเฉลี่ยแล้วการซื้อขายที่ดินโดยใช้ เหรียญ SAND จะเกิดขึ้นที่ราคาสูงที่สุด รองลงมาคือ เหรียญ ETH และสุดท้ายคือเหรียญ USDC ซึ่งอาจเป็นผลจากการที่เหรียญ SAND แข็งค่าขึ้นอย่างมากในช่วงเวลาที่ผ่านมาทำให้ผู้ถือเหรียญ SAND มีความเต็มใจที่จะจ่ายสูงกว่า

มารู้จักโลก Metaverse

คำว่า Metaverse ถูกใช้ครั้งแรกในนิยายเรื่อง Snow Crash ของ Neal Stephenson ซึ่งตีพิมพ์ในปี 1992 ในนิยายเรื่องนี้ โลก Metaverse เป็นโลกเสมือนจริงที่ผู้คนเข้าไปสร้างตัวตนและใช้ชีวิตอยู่เพื่อหนีจากโลกความเป็นจริงที่เลวร้าย โดยคำว่า meta มากจากคำว่า beyond ส่วนคำว่า verse มาจากคำว่า universe

ในเวลาต่อมาก็ได้มีความพยายามสร้างโลกเสมือนตามแนวคิดนี้ โดยล่าสุดเทคโนโลยีที่ถูกนำมาใช้ในการสร้างโลกเสมือนนี้คือเทคโนโลยี blockchain หรือ ระบบเก็บข้อมูลและประมวลผลแบบกระจายศูนย์ ที่เป็นเทคโนโลยีพื้นฐานในการสร้างสินทรัพย์ดิจิทัลประเภทต่าง ๆ เช่น cryptocurrency, digital token, และ NFTs1 โดยเมื่อมีการสร้างโลกเสมือนบน blockchain จะทำให้ผู้สร้างสามารถสร้างระบบเศรษฐกิจในโลกเสมือนนี้ได้ โดยสามารถสร้าง cryptocurrency ขึ้นมาใหม่สำหรับโลกเสมือนนี้เพื่อเป็นสื่อกลางการใช้จ่าย ส่วนของใช้หรือสินค้าต่าง ๆ ในโลกเสมือนนี้จะสามารถถูกสร้างขึ้นมาในรูปแบบ NFT จึงสามารถแสดงความเป็นเจ้าของได้

ปัจจุบันมีโลก Metaverse ที่ถูกสร้างขึ้นมาอยู่หลายแห่ง แต่โลก Metaverse ที่อยากชวนให้มาทำความรู้จักในบทความนี้คือ The Sandbox

รูปที่ 1: แผนที่ของ The Sandbox Metaverse

แผนที่ของ The Sandbox Metaverse

ที่มา: The Sandbox

The Sandbox Metaverse กับการซื้อขายที่ดิน

The Sandbox ถูกสร้างขึ้นมาบน blockchain โดยมีวัตถุประสงค์หลักคือให้คนมาจับจองที่ดินในโลกเสมือนนี้เพื่อสร้างกิจกรรมต่าง ๆ และให้คนอื่น ๆ เข้ามาร่วมใช้เวลาทำกิจกรรมเหล่านี้มาก ๆ ปกติเราคงคุ้นกับประโยชน์ของการซื้อที่ดินในโลกจริง เช่น เพื่อสร้างที่พักอาศัย เพื่อนำมาทำประโยชน์ทางธุรกิจ หรือเพื่อเก็งกำไร การซื้อที่ดินในโลก Metaverse ก็สามารถหาผลประโยชน์ได้เช่นกัน โดยแบ่งได้เป็น 2 วิธีหลัก ๆ วิธีแรกคือซื้อไว้เพื่อขายต่อในราคาที่สูงขึ้น ส่วนวิธีที่สองคือซื้อเพื่อให้ได้สิทธิ์ในการเปิดร้านเพื่อสร้างกิจกรรมใน Metaverse นั้น ๆ ซึ่งการเปิดร้านอาจจะหมายถึง การเปิดร้านขายของที่เป็น NFT ให้คนเข้ามาซื้อ การสร้างเกมส์ให้คนเข้ามาเล่น หรือการจัดกิจกรรมต่าง ๆ ให้คนเข้ามาร่วม โดยแน่นอนว่าเจ้าของที่ดินที่สร้างกิจกรรมขึ้นมาก็หวังว่าจะสามารถสร้างรายได้จากการที่มีผู้เข้ามาร่วมกิจกรรมเหล่านี้

หากผู้ใดต้องการจับจองที่ดินใน The Sandbox ก็จะต้องเข้ามาซื้อ LAND ซึ่งเป็น NFT ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นตัวแทนของที่ดินในโลกนี้ โดยในแผนที่ The Sandbox มี LAND ทั้งหมด 166,464 หน่วย (408 x 408) ซึ่งจะถูกขายในตลาดแรก (primary market) โดย The Sandbox เอง ส่วนการขายต่อที่ดินมือสอง (secondary market) มักจะทำผ่านตลาดซื้อขาย NFT ออนไลน์ เช่น OpenSea โดยการซื้อขายที่ดินนี้สามารถทำได้ผ่านสื่อกลางการแลกเปลี่ยนได้หลายชนิด เช่น เหรียญ SAND2 ซึ่งเป็น cryptocurrency ที่ถูกสร้างขึ้นมาเพื่อเป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยนในโลก The Sandbox เหรียญ Ethereum (ETH) ซึ่งเป็น cryptocurrency อีกชนิดหนึ่งที่ใช้กันแพร่หลาย รวมถึงเหรียญ USD Coin (USCD) ซึ่งเป็นหนึ่งใน cryptocurrency ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนตรึงอยู่กับดอลลาร์สหรัฐฯ เป็นต้น

ปัจจุบันการซื้อขายที่ดินในโลก The Sandbox เป็นที่สนใจค่อนข้างมาก โดยมีบริษัทต่าง ๆ รวมถึงผู้มีชื่อเสียงได้เข้าไปจับจองพื้นที่ เช่น Adidas, Atari, PwC Hong Kong, SCB 10X, Snoop Dogg, และ Pranksy เพื่อใช้พื้นที่ในการสร้างเกมส์ เปิดร้าน หรือจัดงานกิจกรรมต่าง ๆ โดยที่ดินถูกขายในราคาที่สูงขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2021 พบว่ามีผู้ซื้อที่ดินใน The Sandbox ในราคาสูงถึง 4.3 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ นอกจากนี้ Nakavachara and Saengchote (2022) ได้ทำการวัดดัชนีราคาที่ดินใน The Sandbox โดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) ในช่วงเวลาเดือนธันวาคม 2019 ถึงเดือนมกราคม 2022 พบว่า ราคาที่ดินในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มสูงถึง 300 เท่าเลยทีเดียว

รูปที่ 2: ดัชนีราคาที่ดิน All-Sales Index โดยวัดราคาในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ

ดัชนีราคาที่ดิน All-Sales Index โดยวัดราคาในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ

ที่มา: Nakavachara & Saengchote (2022)

อย่างไรก็ดี การวัดดัชนีราคาที่ดินโดยใช้ราคาที่ดินทั้งหมด (All-Sales Index) มีจุดอ่อนตรงที่ที่ดินที่ถูกซื้อขายในแต่ละช่วงเวลาอาจจะไม่ใช่ที่ดินผืนเดียวกัน หากต้องการดูว่าที่ดินผืนเดิมถูกซื้อขายด้วยราคาที่สูงขึ้นจริงไหม ควรสร้างดัชนีราคาที่ดินโดยใช้ราคาของที่ดินผืนที่มีการซื้อขายซ้ำเท่านั้น (Repeated-Sales Index) โดย Nakavachara & Saengchote (2022) ได้ใช้วิธีคำนวณ Repeated-Sales Index ของ Case et al. (1987) แล้วพบว่าราคาที่ดินในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ เพิ่มขึ้น 12 เท่า (ซึ่งแม้จะต่ำกว่าในกรณีของ All-Sales Index ค่อนข้างมาก แต่การเพิ่มของราคาที่ดินถึง 12 เท่าในช่วงเวลา 2 ปี ก็ถือว่าสูงมากแล้วเมื่อเทียบกับการเพิ่มขึ้นของที่ดินในโลกจริง)

รูปที่ 3: ดัชนีราคาที่ดิน Repeated-Sales Index โดยวัดราคาในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ (กราฟแท่ง) เปรียบเทียบกับ All-Sales Index (เส้น)

ดัชนีราคาที่ดิน Repeated-Sales Index โดยวัดราคาในหน่วยดอลลาร์สหรัฐฯ (กราฟแท่ง) เปรียบเทียบกับ All-Sales Index (เส้น)

ที่มา: Nakavachara & Saengchote (2022)

ความเต็มใจที่จะจ่ายต่างกันไหมหากเปลี่ยนสกุลเหรียญที่ใช้ชำระ?

ในการคำนวณดัชนีราคาที่ดิน Nakavachara & Saengchote (2022) ได้มีการทำการวิเคราะห์ปัจจัยที่มีผลต่อราคาที่ดิน (hedonic pricing analysis) แล้วพบว่าโดยเฉลี่ยแล้ว เมื่อ LAND ถูกซื้อขายโดยใช้เหรียญ SAND จะมีราคาสูงกว่า LAND ที่ถูกซื้อขายโดยใช้เหรียญ ETH (เปรียบเทียบโดยแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เนื่องจากทุกธุรกรรมไม่ได้ชำระด้วยเงินตราแต่ชำระด้วยเหรียญใดเหรียญหนึ่ง จึงแปลงมูลค่าเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ เพื่อให้สะดวกต่อการเปรียบเทียบ) นอกจากนี้ ยังพบว่าเมื่อ LAND ถูกซื้อขายโดยใช้ cryptocurrency ประเภทที่มีอัตราแลกเปลี่ยนตรึงอยู่กับดอลลาร์สหรัฐฯ เช่น เหรียญ USDC จะมีราคาต่ำกว่า LAND ที่ถูกซื้อขายโดยใช้เหรียญ SAND และ ETH (เปรียบเทียบโดยแปลงเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ) โดยหากให้เรียงลำดับแล้วพบว่า โดยเฉลี่ยแล้วการซื้อขายที่ดินโดยใช้เหรียญ SAND จะเกิดขึ้นที่ราคาสูงที่สุด รองลงมาคือเหรียญ ETH และสุดท้ายคือเหรียญ USDC

เป็นที่น่าสนใจว่าสกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระ ซึ่งอาจพิจารณาเป็นหน่วยวัดมูลค่า (unit of account) ของผู้ซื้อ มีความสัมพันธ์กับราคาซื้อขายที่ดินที่เกิดขึ้นในโลก Metaverse โดยผู้วิจัยมองว่ามีความเป็นไปได้ว่าความเต็มใจที่จะจ่าย (willingness to pay) ในการซื้อที่ดินใน Metaverse ของผู้ที่ถือสกุลเหรียญที่ต่างกันอาจมีความต่างกัน หากดูจากอัตราแลกเปลี่ยนของ SAND กับ USD ในช่วงเวลาที่ทำการวิเคราะห์ พบว่า SAND แข็งค่าขึ้นสูงสุดประมาณ 135 เท่า ในขณะที่เมื่อดูจากอัตราแลกเปลี่ยนของ ETH กับ USD พบว่า ETH แข็งค่าขึ้นประมาณ 10.7 เท่า

กล่าวคือมีความเป็นไปได้ว่าผู้ซื้ออาจไม่ได้มองราคาที่ดินเป็นดอลลาร์สหรัฐฯ แต่มองเป็นเหรียญสกุลอื่น ทำให้ผู้ถือเหรียญ SAND (ที่แข็งค่าขึ้นมามากเมื่อเทียบกับเหรียญสกุลอื่น) อาจรู้สึกได้ว่าที่ดินไม่ได้ราคาสูงขึ้นมาก จึงมีความยินดีที่จะจ่ายราคาที่สูงกว่าได้ ในขณะที่ผู้ถือเหรียญ ETH (ที่แข็งค่าขึ้นมาเมื่อเทียบกับดอลลาร์สหรัฐฯ แต่อ่อนค่าลงเมื่อเทียบกับ SAND) มีความยินดีที่จะจ่ายราคาที่ต่ำกว่าผู้ที่ถือ SAND แต่สูงกว่าผู้ที่ถือ USDC (ที่มีอัตราแลกเปลี่ยนอิงกับดอลลาร์สหรัฐฯ) ซึ่งแม้ความแตกต่างของราคา LAND ในแต่ละสกุลเงินอาจดูเหมือนว่ามีโอกาสแสวงหาผลกำไรได้ (arbitrage opportunity) แต่ไม่สามารถพิจารณาอย่างนั้นได้อย่างตรงไปตรงมาเพราะ

  1. การซื้อขายที่ดินมือสองใน OpenSea หลายครั้งไม่ใช่การตั้งขายตรง ๆ แต่มีการมายื่นประมูลของผู้ซื้อ
  2. การแลกเหรียญเป็นสกุลอื่นหรือโอนข้ามกระเป๋าสตางค์มักมีค่าธรรมเนียม

ข้อสรุป

แม้ว่าในโลก The Sandbox จะมีเหรียญ SAND ซึ่งถูกออกแบบให้เป็นสื่อกลางการแลกเปลี่ยน แต่การซื้อขายในตลาดรองสามารถเกิดขึ้นผ่านเหรียญใดก็ได้อย่างอิสระเมื่ออยู่บน blockchain ตัวอย่างของ The Sandbox แสดงให้เห็นว่าสกุลเหรียญที่เลือกใช้ชำระมีความสัมพันธ์กับความเต็มใจที่จะจ่ายในการซื้อที่ดิน เมื่อราคาที่ดินซึ่งเป็นปัจจัยการผลิตประเภทหนึ่งได้รับอิทธิพลจากอัตราแลกเปลี่ยน ก็อาจส่งผลกระทบต่อการตัดสินใจของผู้เล่นในระบบเศรษฐกิจได้ การที่สินทรัพย์ต่าง ๆ ในโลก Metaverse สามารถซื้อขายผ่านสกุลเหรียญใดก็ได้จึงสามารถสร้างความท้าทายให้กับผู้กำหนดนโยบายเศรษฐกิจและการเงินของแต่ละโลก Metaverse ที่ไร้พรมแดนระหว่างกัน

เอกสารอ้างอิง

Case, K. E., Shiller, R. J., & others. (1987). Prices of single-family homes since 1970: new indexes for four cities. New England Economic Review, Sep, 45–56.
Nakavachara, V., & Saengchote, K. (2022). Is Metaverse LAND a Good Investment? It Depends on Your Unit of Account! (Discussion Paper No. 172). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.

  1. สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (กลต.) ได้ให้นิยามไว้ ดังนี้

    • คริปโทเคอร์เรนซี (cryptocurrency) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ใช้เป็นสื่อกลางในการซื้อขายแลกเปลี่ยนเพื่อให้ได้มาซึ่ง สินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใด หรือแลกเปลี่ยนระหว่างสินทรัพย์ดิจิทัลด้วยกัน
    • โทเคนดิจิทัล (digital token) แบ่งออกเป็น
      • โทเคนดิจิทัลเพื่อการลงทุน (investment token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิในการเข้าร่วม ลงทุนในโครงการหรือกิจการใด ๆ และ
      • โทเคนดิจิทัลเพื่อการใช้ประโยชน์ (utility token) เป็นเหรียญดิจิทัลที่ให้สิทธิแก่ผู้ถือในการได้มาซึ่งสินค้า บริการ หรือสิทธิอื่นใดที่เฉพาะเจาะจง

    ส่วน Non-Fungible Token (NFT) คือ การนําเทคโนโลยีมาใช้แสดงความเป็นเจ้าของ หรือให้สิทธิในสิ่งใดสิ่งหนึ่งหรือที่มีลักษณะเฉพาะในแต่ละเหรียญ ไม่สามารถทดแทนกันได้ (non-fungible) เช่น งานศิลปะ เพลง รูปภาพ ของสะสมเกี่ยวกับศิลปินหรือนักกีฬา↩

  2. ณ วันที่ 7 มีนาคม 2022 นั้น 1 SAND มีมูลค่าประมาณ 2.84 ดอลลาร์สหรัฐฯ (CoinMarketCap)↩

ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Digital EconomyUrban, Rural, Regional, Real Estate, and Transportation EconomicsFinancial Markets and Asset Pricing
Tags: metaversereal estate price indexwillingness to pay
คณิสร์ แสงโชติ
คณิสร์ แสงโชติ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย
วรประภา นาควัชระ
วรประภา นาควัชระ
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email