Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
Discussion Paper ล่าสุด
Thailand and the Middle-Income Trap: An Analysis from the Global Value Chain Perspective
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
aBRIDGEd ล่าสุด
ค่าเงินบาทผันผวน: “ตัวปรับสมดุล” หรือ “ตัวป่วน” เศรษฐกิจไทย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
งานสัมมนาล่าสุด
Confidence and College Applications: Evidence from a Randomized Intervention
The Impact of Climate Change on Thai Households
งานสัมมนาล่าสุด
The Impact of Climate Change on Thai Households
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
ประกาศล่าสุด
ลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือในการพัฒนาฐานข้อมูลเพื่อแก้ไขปัญหาหนี้สินเกษตรกรไทย
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2023
2022
2021
2020
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/162b9ff3d780000368d90afe7a4cb8e9/e9a79/cover.png
3 พฤษภาคม 2565
20221651536000000

รับมืออย่างไร เมื่อการบริหารสภาพคล่องนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบที่สูงขึ้น

การบริหารสภาพคล่องอาจเพิ่มหรือลดความเสี่ยงเชิงระบบซึ่งขึ้นกับลักษณะความเสี่ยงที่ธนาคารเผชิญ
รับมืออย่างไร เมื่อการบริหารสภาพคล่องนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบที่สูงขึ้น
excerpt

เมื่อสภาพคล่องของระบบธนาคารเข้าสู่ภาวะวิกฤต ธนาคารอาจต้องเผชิญกับการกักตุนสภาพคล่องในตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคาร หรือการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องออกจากระบบจากความตื่นตระหนก ซึ่งเป็นการซ้ำเติมให้ปัญหาสภาพคล่องลุกลามและรุนแรงขึ้น บทความนี้นำเสนอแบบจำลองเครือข่ายธนาคารเพื่อศึกษาพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องของธนาคารที่มีต่อความเสี่ยงและมาตรการของผู้กำกับดูแลที่ธนาคารต้องเผชิญในภาวะวิกฤต และวิเคราะห์นัยเชิงนโยบายในการลดความเสี่ยงสภาพคล่องเชิงระบบ ผลการศึกษาพบว่าการบริหารสภาพคล่องของธนาคารอาจทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบสูงขึ้นได้ และการกำกับดูแลที่เหมาะสมสามารถลดความเสี่ยงเชิงระบบได้

สภาพคล่องของธนาคารเป็นปัจจัยสำคัญที่มีผลต่อความสามารถในการชำระภาระผูกพันทางการเงินของธนาคารให้แก่นักลงทุนและผู้ฝากเงินเมื่อเกิดการไถ่ถอน ธนาคารสามารถบริหารสภาพคล่องในหลายช่องทาง โดยหนึ่งในช่องทางที่สำคัญคือการปรับสภาพคล่องผ่านตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank market) ซึ่งธนาคารที่มีสภาพคล่องส่วนเกินสามารถปล่อยกู้ให้แก่ธนาคารที่ขาดสภาพคล่อง ในภาวะที่เศรษฐกิจอ่อนแอหรือระบบการเงินประสบปัญหารุนแรง ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องในระบบธนาคารมีแนวโน้มจะเพิ่มสูงขึ้น ซึ่งสามารถนำไปสู่การลุกลามของปัญหาทั้งจากภาวะความตื่นตระหนก และการส่งผ่านความเสี่ยงในตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคาร จนมีผลต่อการเพิ่มขึ้นของความเสี่ยงเชิงระบบ

วิกฤตการณ์ทางการเงินโลกในช่วงปี 2007–2008 (global financial crisis) เป็นตัวอย่างของเหตุการณ์ที่เผชิญกับภาวะความตื่นตระหนกของทั้งนักลงทุนสถาบันและนักลงทุนรายย่อยจากความเสี่ยงในภาคการเงินที่สูงขึ้น ทำให้เกิดพฤติกรรมการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่อง (bank run) ออกจากระบบสถาบันการเงิน และสร้างปัญหาด้านสภาพคล่องเชิงระบบ ซึ่งเป็นหนึ่งในสาเหตุที่ก่อให้เกิดการล้มลงของสถาบันการเงินและสร้างความเสียหายเป็นวงกว้าง มีหลายงานวิจัยที่พยายามอธิบายพฤติกรรมของธนาคารและการส่งผ่านความเสี่ยงในช่วงวิกฤตการณ์ โดยเฉพาะลักษณะความเชื่อมโยงกันในเครือข่ายธนาคาร (interbank network) ซึ่งหลักฐานเชิงประจักษ์แสดงให้เห็นถึงการลดลงอย่างมีนัยสำคัญของปริมาณธุรกรรมในตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (เช่น Affinito & Pozzolo (2017) และ Brunetti et al. (2019) สำหรับตลาดในประเทศอิตาลีและในภูมิภาคยุโรป ตามลำดับ) สะท้อนถึงระดับของความเชื่อมโยงหรือความสัมพันธ์กันในเครือข่ายธนาคาร (interbank interconnectedness) ที่ลดลงในช่วงวิกฤตการณ์ โดยมีแนวโน้มมาจากพฤติกรรมการลดการปล่อยกู้ระหว่างธนาคารเพื่อกักตุนสภาพคล่อง

หากผู้กำกับดูแลไม่สามารถควบคุมความตื่นตระหนกในภาวะวิกฤตที่จะเป็นเหตุให้เกิดพฤติกรรมการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารและการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องที่รุนแรงได้ ประโยชน์ของการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมของธนาคารจะถูกลดทอนไปอย่างมาก และอาจจะไม่คุ้มค่ากับต้นทุนการบริหารสภาพคล่องที่สูง ทำให้ธนาคารเลือกที่จะละเลยต่อความเสี่ยงสภาพคล่องและนำไปสู่ความเสี่ยงเชิงระบบที่สูงขึ้นได้ ดังนั้น การเข้าใจในสถานการณ์ของความเสี่ยงและพฤติกรรมการปรับสภาพคล่องในเครือข่ายธนาคารจะเป็นประโยชน์ต่อผู้กำกับดูแลในการประเมินผลกระทบต่อเสถียรภาพระบบการเงิน ตลอดจนการออกแบบนโยบายในการกำกับดูแลความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

บทความนี้สรุปงานวิจัยฉบับเต็มของ Charoensom & Watewai (2022) ซึ่งได้นำเสนอแบบจำลองที่อธิบายพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องในเครือข่ายธนาคารที่ขึ้นกับปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่สำคัญ และประเมินความเสี่ยงเชิงระบบภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ ตลอดจนวิเคราะห์นัยเชิงนโยบายในการกำกับดูแลความเสี่ยงที่สะท้อนพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องของธนาคาร

แบบจำลองสภาพคล่องในเครือข่ายธนาคารมีองค์ประกอบอะไรบ้างและทำงานอย่างไร?

ผู้วิจัยเสนอแบบจำลองที่อธิบายการเปลี่ยนแปลงระดับสภาพคล่องในเครือข่ายธนาคารภายใต้ภาวะของระบบการเงินที่สามารถเปลี่ยนแปลงระหว่างภาวะปกติ (normal regime) และภาวะวิกฤต (crisis regime) ซึ่งประกอบด้วยปัจจัยเสี่ยงที่สะท้อนปัญหาด้านสภาพคล่องประเภทต่าง ๆ ในภาวะนั้น ๆ โดยธนาคารในแบบจำลองจะมีการกู้ยืมสภาพคล่องกันผ่านตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคารตามโครงสร้างเครือข่ายธนาคาร และจะบริหารสภาพคล่องจากช่องทางนอกตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคารเพื่อให้ต้นทุนเฉลี่ยระยะยาวมีค่าต่ำที่สุด ซึ่งต้นทุนการบริหารสภาพคล่องส่วนหนึ่งสะท้อนแนวทางการกำกับดูแลของผู้กำกับดูแล งานวิจัยนี้กำหนดค่าพารามิเตอร์ส่วนหนึ่งเทียบเคียงจากงานวิจัยในต่างประเทศและอีกส่วนหนึ่งกำหนดโดยผู้วิจัย โดยรายละเอียดในแต่ละส่วนของแบบจำลองมีดังนี้

ปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพคล่อง

แบบจำลองกำหนดให้มีปัจจัยเสี่ยง 4 ประเภทที่สะท้อนสภาวะความเสี่ยงในระบบการเงิน

  1. ความผันผวนของการฝากและถอนสภาพคล่องจากนอกเครือข่ายธนาคาร แสดงถึงพฤติกรรมการฝากและถอนเงินทั่วไปที่เกิดขึ้นระหว่างวันของผู้ฝากเงิน เป็นต้น
  2. ระดับความเชื่อมโยงในเครือข่ายธนาคารผ่านการกู้ยืม กำหนดจากลักษณะความเชื่อมโยงระหว่างธนาคาร (connectivity) และขนาดของธุรกรรมการกู้ยืม (interbank exposure) โดยกำหนดให้ระดับความเชื่อมโยงสามารถลดลงอย่างมากในภาวะวิกฤตเพื่อแสดงถึงการลดลงของกิจกรรมการกู้ยืมในเครือข่ายธนาคารอย่างรุนแรง (collapsed network) ซึ่งมีแนวโน้มเกิดจากพฤติกรรมกลัวความเสี่ยงในเครือข่ายที่ก่อให้เกิดความต้องการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคาร
  3. ปัญหาสภาพคล่องเชิงระบบที่รุนแรง เป็นความเสี่ยงที่ธนาคารทั้งเครือข่ายมีโอกาสเผชิญพร้อมกันในภาวะวิกฤต เช่น ผลกระทบจากการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องออกจากระบบธนาคารพร้อมกันอย่างรุนแรงและฉับพลันเมื่อระบบการเงินเข้าสู่ภาวะวิกฤต
  4. การเคลื่อนย้ายสภาพคล่องไปที่ที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องต่ำ (flight-to-quality) คือภาวะที่มีการถอนสภาพคล่องออกจากธนาคารที่มีความเสี่ยงสูงและ/หรือมีการฝากสภาพคล่องกับธนาคารที่มีความเสี่ยงต่ำ ซึ่งอาจเป็นผลมาจากความตื่นตระหนกของนักลงทุนต่อปัญหาสภาพคล่องเชิงระบบในภาวะวิกฤต โดยการไถ่ถอนสภาพคล่องสามารถซ้ำเติมสภาพคล่องของระบบทำให้เพิ่มความตื่นตระหนกและนำไปสู่การไถ่ถอนสภาพคล่องที่รุนแรงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

ต้นทุนการบริหารสภาพคล่องและนัยเชิงนโยบายด้านการกำกับดูแลความเสี่ยง

นอกจากปัจจัยความเสี่ยงที่อธิบายข้างต้น แต่ละธนาคารสามารถปรับเพิ่มหรือลดสภาพคล่องจากช่องทางนอกตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคาร เช่น การกู้หรือปล่อยกู้เพื่อปรับสภาพคล่องผ่านธนาคารกลาง โดยแต่ละธนาคารควบคุมสภาพคล่องโดยมีจุดประสงค์เพื่อให้สภาพคล่องอยู่ในระดับที่เหมาะสมซึ่งเป็นระดับที่ก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุดทั้งในด้านผลตอบแทนและความเสี่ยงของธนาคาร ธนาคารมีต้นทุนในการบริหารสภาพคล่องที่แปรผันตามอัตราการปรับเพิ่มหรือลดสภาพคล่องของธนาคาร และในกรณีที่สภาพคล่องของธนาคารไม่ได้อยู่ในระดับที่เหมาะสม ธนาคารจะเผชิญกับภาระต้นทุนทางธุรกิจและต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบ (regulatory cost) โดยต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบมาจาก 2 ปัจจัยที่สะท้อนทางเลือกในการกำกับดูแลดังนี้

  1. ความช่วยเหลือด้านการปรับสภาพคล่อง (liquidity facilities) เป็นปัจจัยที่ช่วยลดต้นทุนแก่ธนาคารและสนับสนุนให้ปรับสภาพคล่องได้สะดวกรวดเร็วมากขึ้น ซึ่งเปรียบเสมือนเป็นมาตรการผ่อนปรนจากผู้กำกับดูแล เช่น อัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมที่ต่ำและการลดข้อจำกัดในการกู้ยืมสภาพคล่อง
  2. ภาระต้นทุนจากระดับสภาพคล่องที่ไม่เหมาะสม (penalty) เป็นปัจจัยที่ทำให้ธนาคารต้องตระหนักถึงการบริหารสภาพคล่องมากขึ้น ซึ่งสะท้อนนัยเชิงนโยบายของผู้กำกับดูแลด้านการออกกฎเกณฑ์เพื่อกำหนดระดับความเข้มงวดในการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องของธนาคาร

โครงสร้างเครือข่ายธนาคาร

งานวิจัยนี้อ้างอิงโครงสร้างของเครือข่ายธนาคารจากตัวอย่างงานวิจัยในต่างประเทศ (Van Lelyveld & others (2014) Craig & Ma (2021) และ Lin & Zhang (2022)) ซึ่งอธิบายเครือข่ายธนาคารที่เป็นลักษณะ core-periphery โดยกำหนดให้เครือข่ายธนาคารมีทั้งธนาคารขนาดใหญ่ (core banks) และธนาคารขนาดเล็ก (peripheral banks) โดยที่ธนาคารขนาดใหญ่มีจำนวนน้อย มีการเชื่อมโยงระหว่างธนาคารกันเองในระดับสูงและเชื่อมโยงกับธนาคารขนาดเล็กในระดับที่ต่ำกว่า ขณะที่ธนาคารขนาดเล็กมีจำนวนมากแต่ไม่มีการเชื่อมโยงกันเอง ธนาคารที่เชื่อมโยงกันจะมีการกู้ยืมกันผ่านตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคารตามระดับสภาพคล่องของแต่ละธนาคาร

แนวทางการบริหารสภาพคล่องของธนาคารภายใต้ดุลยภาพ

การศึกษาพบว่าการบริหารสภาพคล่องของแต่ละธนาคารภายใต้ดุลยภาพ (Nash equilibrium) จะปรับเปลี่ยนไปตามปัจจัยเสี่ยงและภาระต้นทุนในการปฏิบัติตามกฎระเบียบที่กำหนดโดยผู้กำกับดูแลผ่าน 2 องค์ประกอบ

  1. การสำรองสภาพคล่องสำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคาร (interbank lending provision) ทำหน้าที่ปรับสมดุลการกู้ยืมระหว่างธนาคาร กล่าวคือ ธนาคารจะเตรียมสภาพคล่องส่วนนี้เมื่อตระหนักว่าจะมีการกู้ยืมจากธนาคารอื่นในเครือข่าย โดยธนาคารบริหารสภาพคล่องผ่านสัดส่วนการตั้งสำรองต่อภาระที่มีต่อเครือข่ายการกู้ยืมระหว่างธนาคาร
  2. การกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้า (precautionary liquidity) เป็นการกำหนดเป้าหมายสภาพคล่องเพิ่มเติมจากระดับที่เหมาะสมเพื่อลดผลกระทบจากปัญหาด้านสภาพคล่องที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต โดยธนาคารบริหารสภาพคล่องผ่านการกำหนดเป้าหมายและความเร็วในการปรับสภาพคล่องเข้าสู่เป้าหมาย (speed of adjustment)

ระดับความเสี่ยงที่สูงขึ้นส่งผลต่อการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงเชิงระบบอย่างไร ?

ความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่เกิดขึ้นในภาวะวิกฤตมีผลต่อแนวทางการบริหารสภาพคล่องของธนาคารทั้งในภาวะวิกฤตและภาวะปกติ โดยการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมหรือหละหลวมของธนาคารจะส่งผลต่อความเสี่ยงเชิงระบบ การวิจัยนี้ศึกษาพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงเชิงระบบภายใต้สถานการณ์ต่าง ๆ โดยความเสี่ยงเชิงระบบวัดจากสัดส่วนมูลค่าความสูญเสีย (loss rate) ที่คำนวณจากอัตราส่วนระหว่างผลรวมของขนาดของธนาคารที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องต่อผลรวมของขนาดของธนาคารทั้งหมดในระบบภายในระยะเวลาหนึ่ง ๆ ซึ่งผลการศึกษาพบว่าความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยงต่าง ๆ ในภาวะวิกฤตมีผลต่อพฤติกรรมการบริหารสภาพคล่องและระดับของความเสี่ยงเชิงระบบดังนี้

การกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤต

การศึกษาพบว่าการลดลงของระดับความเชื่อมโยงในเครือข่ายธนาคารผ่านกิจกรรมการกู้ยืมที่ลดลงในช่วงวิกฤต มีแนวโน้มที่จะสะท้อนพฤติกรรมของความต้องการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤตที่รุนแรงมากขึ้น ภายใต้ค่าพารามิเตอร์ในการศึกษานี้ ธนาคารขนาดใหญ่ซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้กู้ในตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารเมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต จะเพิ่มระดับการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าตั้งแต่อยู่ในภาวะปกติเพื่อชดเชยสภาพคล่องจากตลาดที่คาดว่าจะหายไปในภาวะวิกฤต ในขณะที่ธนาคารขนาดเล็กซึ่งมีแนวโน้มที่จะเป็นผู้ให้กู้ในตลาดเมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต จะลดระดับการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าตั้งแต่อยู่ในภาวะปกติจากการคาดการณ์ถึงการลดบทบาทของการเป็นผู้ให้กู้สภาพคล่องในภาวะวิกฤต โดยสัดส่วนของธนาคารที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องสำหรับธนาคารขนาดใหญ่มีค่าสูงขึ้นเมื่อการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤตมีระดับที่สูงขึ้น แต่มีค่าลดลงสำหรับธนาคารขนาดเล็ก การกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤตจึงส่งผลเสียต่อธนาคารที่มีแนวโน้มที่จะได้รับสภาพคล่องจากตลาดเมื่อเข้าสู่ภาวะวิกฤต และผลกระทบจะเพิ่มความรุนแรงขึ้นตามระดับการกักตุนที่สูงขึ้นแม้ธนาคารจะมีการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าชดเชยไว้ก่อนแล้วก็ตาม

ภาพที่ 1: ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤต

ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤต

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

ด้านขวาของภาพที่ 1 (ระดับการกักตุนเป็นบวก) แสดงถึงสัดส่วนมูลค่าความสูญเสียของระบบซึ่งจะเพิ่มขึ้นตามระดับความรุนแรงของการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤตเนื่องจากธนาคารที่มีแนวโน้มที่จะได้รับผลกระทบในเชิงลบคือธนาคารขนาดใหญ่ ในทางกลับกัน ผู้กำกับดูแลอาจเลือกดำเนินนโยบายที่ส่งเสริมให้ตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารสามารถทำงานในภาวะวิกฤตได้ในระดับที่มากกว่าภาวะปกติโดยคาดหวังว่าสัดส่วนมูลค่าความสูญเสียของระบบจะลดลง ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่าระดับความเชื่อมโยงในเครือข่ายธนาคารผ่านการกู้ยืมที่สูงเกินไปไม่สามารถช่วยลดสัดส่วนมูลค่าความสูญเสียของระบบได้ (ด้านซ้ายของภาพที่ 1 เมื่อระดับการกักตุนติดลบ) โดยมีสาเหตุมาจากการเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็วของจำนวนธนาคารขนาดเล็กที่ประสบปัญหาขาดสภาพคล่องจากการถูกดึงสภาพคล่องผ่านตลาดการกู้ยืมระหว่างธนาคารที่สูงเกินไป การกำกับดูแลจึงควรเน้นให้ธนาคารที่มีแนวโน้มจะเป็นผู้กู้ในภาวะวิกฤตมีการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าในภาวะปกติและกำหนดความเร็วในการปรับสภาพคล่องเข้าสู่เป้าหมายที่สูงขึ้น ควบคู่กับการลดความต้องการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารที่มีแนวโน้มเกิดขึ้นในภาวะวิกฤตเพื่อให้ตลาดกู้ยืมระหว่างธนาคารยังคงสามารถทำงานได้ตามปกติ

การแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องจากระบบในช่วงเข้าสู่ภาวะวิกฤต

การศึกษาพบว่าหากการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องจากระบบอย่างรุนแรงและฉับพลันในช่วงเข้าสู่ภาวะวิกฤตมีความรุนแรงขึ้น ธนาคารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับเป้าหมายการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าในภาวะปกติ เพื่อรองรับการไหลออกของสินทรัพย์สภาพคล่องเมื่อภาวะวิกฤตมาถึง แต่ในขณะเดียวกันธนาคารก็ลดความรัดกุมในการบริหารสภาพคล่อง โดยการลดความเร็วในการปรับสภาพคล่องเข้าสู่เป้าหมายและลดการถือสำรองสภาพคล่องสำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคาร เพื่อไม่ให้ต้นทุนในการบริหารสภาพคล่องโดยรวมสูงเกินไป และเมื่อความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องสูงเกินระดับหนึ่ง ธนาคารจะเปลี่ยนมาปรับลดระดับเป้าหมายการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าแทน เพราะสภาพคล่องจากการกักตุนล่วงหน้าส่วนใหญ่จะถูกไถ่ถอนออกไปเมื่อภาวะวิกฤตมาถึง ประโยชน์ของการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าจึงแทบจะหมดไป การบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องที่มีแนวโน้มที่จะลดความรัดกุมเมื่อความเสี่ยงสูงขึ้นจึงทำให้ความเสี่ยงเชิงระบบเพิ่มสูงขึ้นอย่างรวดเร็วเมื่อระดับความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสภาพคล่องเพิ่มสูงขึ้นตามที่แสดงในภาพที่ 2 ผู้กำกับดูแลจึงจำเป็นต้องดำเนินนโยบายที่เน้นการลดความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องในภาวะวิกฤตและเน้นให้ธนาคารบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมขึ้น โดยหากผู้กำกับดูแลไม่สามารถควบคุมความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องให้อยู่ในระดับที่ไม่สูงมากได้ ประโยชน์จากการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมจะมีจำกัด และการเตรียมมาตรการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตจะเป็นสิ่งที่เลี่ยงไม่ได้

ภาพที่ 2: ความเสี่ยงเชิงระบบกับความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องในช่วงเข้าสู่ภาวะวิกฤต

ความเสี่ยงเชิงระบบกับความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องในช่วงเข้าสู่ภาวะวิกฤต

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

การเคลื่อนย้ายสภาพคล่องไปที่ที่มีความเสี่ยงด้านสภาพคล่องต่ำในภาวะวิกฤต

การศึกษาพบว่าหากความรุนแรงของการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องไปที่ที่มีความเสี่ยงสภาพคล่องต่ำในภาวะวิกฤตมีระดับที่สูงขึ้นตามความตื่นตระหนกที่มากขึ้น ธนาคารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มระดับเป้าหมายการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าในภาวะปกติ และเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองสภาพคล่องสำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคาร โดยการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมจะช่วยรักษาสภาพคล่องของธนาคารให้อยู่ในระดับที่ไม่ต่ำเกินไปเมื่อภาวะวิกฤตมาถึง ความเสี่ยงสภาพคล่องของธนาคารจึงอยู่ในระดับที่ไม่สูงมากนัก การไหลออกของสภาพคล่องจากความตื่นตระหนกที่สูงขึ้นจึงถูกลดทอนลงหรือหมดไป ยิ่งไปกว่านั้น หากธนาคารสามารถดำรงสภาพคล่องในระดับที่สูงในช่วงวิกฤต ความเสี่ยงสภาพคล่องที่ต่ำของธนาคารจะสร้างความเชื่อมั่นให้เกิดการไหลเข้าของสภาพคล่องได้ การบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องที่รัดกุมส่งผลให้ความเสี่ยงเชิงระบบไม่แปรผันตามระดับความรุนแรงของการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องมากนักตามที่แสดงในภาพที่ 3 ภาระในการกำกับดูแลสำหรับความเสี่ยงประเภทนี้จึงอยู่ในระดับต่ำ ผู้กำกับดูแลควรเน้นให้ธนาคารเห็นถึงประโยชน์ของการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมในภาวะปกติเพื่อลดการไหลออกหรือเพิ่มการไหลเข้าของสภาพคล่องในภาวะวิกฤต

ภาพที่ 3: ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับความรุนแรงของการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องไปที่ที่มีความเสี่ยงต่ำในภาวะวิกฤต

ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับความรุนแรงของการเคลื่อนย้ายสภาพคล่องไปที่ที่มีความเสี่ยงต่ำในภาวะวิกฤต

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

แนวทางการกำกับดูแลในภาวะวิกฤตส่งผลต่อการบริหารสภาพคล่องและความเสี่ยงเชิงระบบอย่างไร?

ผลการศึกษาข้างต้นแสดงให้เห็นว่าการดำเนินนโยบายของผู้กำกับดูแลที่ส่งเสริมให้ธนาคารเพิ่มความรัดกุมในการบริหารสภาพคล่องมีแนวโน้มที่จะช่วยลดความเสี่ยงเชิงระบบได้ และการเตรียมมาตรการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตก็อาจจะเป็นสิ่งที่หลีกเลี่ยงได้ยากในบางสถานการณ์ การศึกษานี้นำเสนอพฤติกรรมการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องของธนาคารและระดับของความเสี่ยงเชิงระบบที่ตอบสนองต่อการดำเนินนโยบายต่าง ๆ ของผู้กำกับดูแลดังนี้

การเพิ่มความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในภาวะวิกฤต

การศึกษาพบว่าการเพิ่มความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในภาวะวิกฤต เช่น การกำหนดอัตราดอกเบี้ยสำหรับเงินกู้ยืมจากผู้กำกับดูแลที่ต่ำ หรือการลดข้อจำกัดในการกู้ยืมสภาพคล่องในภาวะวิกฤต ส่งผลให้ธนาคารมีแนวโน้มที่จะลดเป้าหมายการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าในภาวะปกติ และเลือกแก้ปัญหาสภาพคล่องในภาวะวิกฤตจากการใช้มาตรการช่วยเหลือแทน นอกจากนี้ ธนาคารแต่ละแห่งสามารถเข้าถึงสภาพคล่องได้ในต้นทุนที่ลดลง ธนาคารจึงมีแนวโน้มที่จะลดการสำรองสภาพคล่องสำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคารเมื่ออยู่ในภาวะวิกฤต ถึงแม้มาตรการช่วยเหลือจะช่วยลดปัญหาสภาพคล่องในภาวะวิกฤตได้ แต่ก็ทำให้ธนาคารลดความรัดกุมในการบริหารสภาพคล่องในภาวะปกติ มาตรการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตจึงสามารถลดความเสี่ยงเชิงระบบได้เพียงเล็กน้อยเท่านั้นตามที่แสดงในภาพที่ 4 นอกจากนี้ การใช้มาตรการช่วยเหลือในภาวะวิกฤตอาจต้องแลกมาด้วยต้นทุนของผู้กำกับดูแลที่สูงขึ้น

ภาพที่ 4: ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในภาวะวิกฤต

ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับความช่วยเหลือด้านสภาพคล่องในภาวะวิกฤต

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

การเพิ่มภาระต้นทุนจากระดับสภาพคล่องที่ไม่เหมาะสมในภาวะวิกฤต

การศึกษาพบว่าการเพิ่มภาระต้นทุนจากระดับสภาพคล่องที่ไม่เหมาะสมในภาวะวิกฤต เช่น การเพิ่มระดับความเข้มงวดของกฎเกณฑ์โดยผู้กำกับดูแล ส่งผลให้ธนาคารมีแนวโน้มที่จะเพิ่มเป้าหมายการกักตุนสภาพคล่องล่วงหน้าในภาวะปกติเพื่อรองรับปัญหาสภาพคล่องที่จะเกิดขึ้นในภาวะวิกฤต นอกจากนี้ เมื่ออยู่ภายใต้ภาวะวิกฤตธนาคารจะปรับสภาพคล่องเข้าสู่เป้าหมายรวดเร็วขึ้น พร้อมกับการเพิ่มสัดส่วนการกันสำรองสภาพคล่องสำหรับการกู้ยืมระหว่างธนาคาร ซึ่งแนวทางการบริหารสภาพคล่องดังกล่าวจะช่วยให้ธนาคารสามารถรักษาสภาพคล่องให้ใกล้เคียงกับระดับที่เหมาะสมและเป็นการบรรเทาภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นในภาวะวิกฤต โดยความเสี่ยงเชิงระบบจะลดลงตามระดับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้นอย่างชัดเจน เนื่องจากการบริหารความเสี่ยงของธนาคารที่ต้องระมัดระวังมากขึ้นจากความเข้มงวดในการกำกับดูแลที่สะท้อนผ่านต้นทุนตามที่แสดงในภาพที่ 5 อย่างไรก็ตาม การบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตของธนาคารจะมาพร้อมกับต้นทุนการบริหารสภาพคล่องที่สูงขึ้น และอาจส่งผลเชิงลบต่อระบบทางอ้อมได้

ภาพที่ 5: ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับภาระต้นทุนจากระดับสภาพคล่องที่ไม่เหมาะสมในภาวะวิกฤต

ความเสี่ยงเชิงระบบกับระดับภาระต้นทุนจากระดับสภาพคล่องที่ไม่เหมาะสมในภาวะวิกฤต

ที่มา: คำนวณโดยคณะผู้เขียน

บทสรุปและนัยเชิงนโยบาย

การวิเคราะห์ภายใต้แบบจำลองนี้แสดงให้เห็นว่าเมื่อธนาคารต้องเผชิญกับความเสี่ยงสภาพคล่องที่สูงขึ้น ธนาคารอาจมีการบริหารสภาพคล่องที่รัดกุมหรือหละหลวมขึ้นตามลักษณะและผลกระทบของความเสี่ยงนั้น ๆ ในกรณีที่ธนาคารมีแนวโน้มที่จะละเลยต่อความเสี่ยงที่สูงขึ้น แนวทางการบริหารสภาพคล่องอาจไปซ้ำเติมความเสี่ยงเชิงระบบให้เพิ่มสูงขึ้น จึงเป็นความท้าทายของผู้กำกับดูแลในการดำเนินนโยบายที่จะควบคุมผลกระทบของความเสี่ยงให้อยู่ในระดับที่ยอมรับได้

ผู้กำกับดูแลสามารถลดความเสี่ยงเชิงระบบผ่านการลดความรุนแรงของปัจจัยเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เช่น ลดความต้องการกักตุนสภาพคล่องระหว่างธนาคารในภาวะวิกฤตหรือลดความรุนแรงของการแห่ไถ่ถอนสินทรัพย์สภาพคล่องในภาวะวิกฤต เป็นต้น ในขณะเดียวกันผู้กำกับดูแลอาจดำเนินนโยบายที่เปลี่ยนพฤติกรรมการบริหารความเสี่ยงของธนาคารทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤตผ่านการช่วยเหลือโดยตรงจากการอำนวยความสะดวกด้านการกู้ยืมสภาพคล่องหรือผ่านทางการกำกับดูแลให้ธนาคารมีนโยบายการบริหารความเสี่ยงด้านสภาพคล่องที่รัดกุมขึ้น ซึ่งแนวทางการกำกับดูแลทั้งสองส่งผลต่อทิศทางการบริหารสภาพคล่องของธนาคารที่ต่างกัน ตลอดจนภาระต้นทุนแฝงที่อาจเกิดขึ้นในแต่ละทางเลือกของการกำกับดูแล

ในกรณีที่ผู้กำกับดูแลมีแผนการหรือส่งสัญญาณที่จะช่วยเหลือสภาพคล่องเมื่อเกิดภาวะวิกฤต ธนาคารมีแนวโน้มที่จะบริหารสภาพคล่องด้วยความรัดกุมที่น้อยลงเนื่องจากคาดการณ์ว่าจะได้รับความช่วยเหลือในช่วงวิกฤต ซึ่งเป็นปัญหาด้าน moral hazard การเพิ่มความช่วยเหลือดังกล่าวจึงลดความเสี่ยงเชิงระบบได้ไม่มากนัก และยังอาจก่อให้เกิดภาระต้นทุนแฝงต่อผู้กำกับดูแลเอง เช่น ผลกระทบต่อความน่าเชื่อถือของผู้กำกับดูแล ซึ่งอาจบั่นทอนประสิทธิภาพในการดำเนินนโยบายอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องทั้งภาคการเงินและภาคเศรษฐกิจจริง การศึกษานี้ไม่ได้คำนึงถึงภาระต้นทุนแฝงที่ผู้กำกับดูแลอาจต้องเผชิญ ซึ่งเป็นสิ่งสำคัญที่ควรต่อยอดการศึกษาต่อไปว่าภาระต้นทุนดังกล่าวจะส่งผลกระทบทางอ้อมและย้อนกลับมามีผลต่อความเสี่ยงเชิงระบบอย่างไร

การกำกับดูแลอีกประเภทหนึ่ง คือ การส่งเสริมให้ธนาคารมีการบริหารสภาพคล่องอย่างระมัดระวัง ผู้กำกับดูแลจำเป็นต้องออกแบบนโยบายที่กระตุ้นให้ธนาคารต้องเตรียมความพร้อมเพื่อรองรับความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง เช่น การเพิ่มความเข้มงวดในการดำรงสินทรัพย์สภาพคล่องในช่วงภาวะวิกฤต ตลอดจนการมีบทลงโทษที่ชัดเจนเมื่อมีการปฏิบัติที่ไม่สอดคล้องกับกฎเกณฑ์ที่กำหนด ผลการศึกษาบ่งชี้ว่าการเพิ่มความเข้มงวดในช่วงภาวะวิกฤตมีแนวโน้มที่ทำให้ธนาคารเพิ่มความรัดกุมในการบริหารความเสี่ยงสภาพคล่องทั้งในภาวะปกติและภาวะวิกฤต ผลลัพธ์ดังกล่าวมีส่วนช่วยในการลดระดับความเสี่ยงเชิงระบบอย่างชัดเจน อย่างไรก็ตาม แนวทางการกำกับดูแลประเภทนี้อาจทำให้ธนาคารต้องเผชิญกับภาระต้นทุนที่เพิ่มขึ้น เช่น ต้นทุนด้านการดำเนินงาน และต้นทุนด้านการจัดหาสภาพคล่อง ต้นทุนเหล่านี้ยังไม่ได้ถูกนำเข้าไปวิเคราะห์ในแบบจำลองซึ่งอาจมีผลกระทบต่อความคุ้มทุนของธนาคารและส่งผ่านไปยังความเสี่ยงเชิงระบบได้เช่นกัน

เอกสารอ้างอิง

Affinito, M., & Pozzolo, A. F. (2017). The interbank network across the global financial crisis: Evidence from Italy. Journal of Banking & Finance, 80, 90–107.
Brunetti, C., Harris, J. H., Mankad, S., & Michailidis, G. (2019). Interconnectedness in the interbank market. Journal of Financial Economics, 133(2), 520–538.
Charoensom, C., & Watewai, T. (2022). Optimal Liquidity Control and Systemic Risk in an Interbank Network with Liquidity Shocks and Regime-dependent Interconnectedness (Discussion Paper No. 175). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Craig, B., & Ma, Y. (2021). Intermediation in the interbank lending market. Journal of Financial Economics.
Lin, S., & Zhang, H. (2022). Interbank contagion risk in China under an ABM approach for network formation. European Financial Management.
Van Lelyveld, I., & others. (2014). Finding the core: Network structure in interbank markets. Journal of Banking & Finance, 49, 27–40.
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Game TheoryFinancial Institutions
Tags: liquidity risk managementinterbank marketliquidity crisis
โชติพงศ์ เจริญสม
โชติพงศ์ เจริญสม
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ไทยศิริ เวทไว
ไทยศิริ เวทไว
จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2566 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email