เจาะลึกเงินเฟ้อไทยผ่านข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อย
excerpt
การดูแลไม่ให้เงินเฟ้อสูงและผันผวนจนเกินไปมีความสำคัญมากต่อการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ผู้ดำเนินนโยบายจึงจำเป็นต้องเข้าใจที่มาและลักษณะของพลวัตเงินเฟ้อไทยเพื่อให้สามารถตัดสินนโยบายได้อย่างเหมาะสม อย่างไรก็ดี เนื่องจากเงินเฟ้อประกอบไปด้วยการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการจำนวนมาก บทความนี้จึงใช้ประโยชน์จากข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมาเพื่อทำความเข้าใจเกี่ยวกับเงินเฟ้อไทยในเชิงลึก ผลการศึกษาพบว่า เงินเฟ้อไทยไม่ค่อยอ่อนไหวไปกับปัจจัยมหภาค เช่น วัฏจักรเศรษฐกิจ แต่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะสินค้าโดยเฉพาะในหมวดพลังงานเป็นสำคัญ อย่างไรก็ตาม ผลของปัจจัยเฉพาะไม่ได้มีการส่งผ่านไปสู่ราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ในวงกว้างเท่าใดนัก ซึ่งส่วนหนึ่งสะท้อนถึงความสามารถของธนาคารกลางในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน ทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะสามารถคลี่คลายไปได้เองและไม่ส่งผลยืดเยื้อ ทั้งนี้ ผลการศึกษามีนัยเชิงนโยบายต่อการดูแลเสถียรภาพด้านราคา รวมถึงการประเมินแนวโน้มและความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อในภาพรวม
หลังจากที่อัตราเงินเฟ้อโลกอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพมาตลอดในช่วงหลายทศวรรษที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อในหลายประเทศได้เริ่มเร่งตัวสูงขึ้นอย่างรวดเร็วและต่อเนื่องมาตั้งแต่ต้นปี 2021 ไม่ว่าจะเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว เช่น สหรัฐฯ และสหราชอาณาจักร ที่อัตราเงินเฟ้อสูงขึ้นจากประมาณ 1% เป็น 9% ภายในเวลา 1 ปี หรือแม้แต่ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา เช่น ไทย ที่อัตราเงินเฟ้อเดือนล่าสุด (ก.ค. 2022) นั้นสูงถึง 7.61% ซึ่งเป็นระดับสูงที่สุดในรอบ 14 ปี สถานการณ์ดังกล่าวย่อมสร้างความท้าทายให้กับผู้ดำเนินนโยบาย เนื่องจากภาวะเงินเฟ้อส่งผลกระทบต่อความกินดีอยู่ดีของประชาชน รวมถึงการเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจ ธนาคารกลางในหลายประเทศจึงเริ่มปรับแนวทางการดำเนินนโยบายการเงินให้เข้มงวดขึ้นเพื่อชะลอการเร่งตัวของราคาสินค้าและบริการ
การทำความเข้าใจสถานการณ์เงินเฟ้อในไทย จำเป็นอย่างยิ่งที่ต้องอาศัยความเข้าใจเกี่ยวกับที่มาและลักษณะของพลวัตเงินเฟ้อ ดังนั้น บทความนี้จึงมุ่งศึกษาพลวัตเงินเฟ้อไทยผ่านมุมมองเชิงจุลภาค โดยใช้ประโยชน์จากข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อยนับร้อยรายการที่จัดเก็บโดยกระทรวงพาณิชย์ในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา เพื่อทำความเข้าใจปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อไทยในเชิงลึก รวมถึงนัยที่มีต่อการดำเนินนโยบายการเงิน การศึกษานี้ต่างจากงานศึกษาในอดีตที่มักวิเคราะห์เงินเฟ้อไทยผ่านแบบจำลองและข้อมูลทางเศรษฐกิจในระดับมหภาค ซึ่งเป็นเพียงตัวเลขรวมที่ไม่สามารถสะท้อนพัฒนาการสำคัญที่เกิดขึ้นในสินค้าและบริการแต่ละชนิดที่มีความแตกต่างกันได้1
เพื่อให้ผู้อ่านเห็นภาพว่า การวิเคราะห์เงินเฟ้อจากมุมมองจุลภาคมีความสำคัญ รูปที่ 1 แสดงภาวะเงินเฟ้อไทยในช่วง 20 ปีที่ผ่านมา โดยพื้นที่แรเงาในรูปแสดงช่วงของการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการรายย่อยทุกรายการในตะกร้าเงินเฟ้อ จากพื้นที่แรเงาที่มีขนาดค่อนข้างกว้าง สะท้อนให้เห็นว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปตัวรวม (เส้นสีส้ม) แท้จริงแล้วซ่อนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการรายย่อยจำนวนมาก โดยการเปลี่ยนแปลงราคาของสินค้าและบริการเหล่านี้มีทั้งที่ต่ำและสูงไปกว่าตัวเลขรวมด้วยขนาดที่แตกต่างกันออกไป เช่น ในช่วงต้นปี 2022 การเปลี่ยนแปลงของราคาเนื้อสุกรเมื่อเทียบกับปีก่อนหน้าที่สูงถึง 22.6% สืบเนื่องจากโรคระบาด ASF และราคาน้ำมันที่เพิ่มขึ้น 32.1% จากเหตุการณ์สงครามรัสเซีย-ยูเครน เป็นต้น
การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการรายย่อยที่แตกต่างกันมาก ย่อมสะท้อนว่า shock หรือปัจจัยขับเคลื่อนเงินเฟ้อในสินค้าและบริการแต่ละรายการในตะกร้าเงินเฟ้อมีหลากหลาย ปัจจัยเหล่านี้สามารถแบ่งออกได้เป็น 2 กลุ่ม ได้แก่
- ปัจจัยร่วม หรือปัจจัยมหภาค (common หรือ macroeconomic shock) ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง เช่น การเปลี่ยนแปลงของผลิตภาพการผลิตโดยรวมของประเทศ วัฏจักรเศรษฐกิจ หรือการดำเนินนโยบายการเงิน เป็นต้น
- ปัจจัยเฉพาะ (idiosyncratic หรือ sector-specific shock) ที่ส่งผลต่อราคาสินค้าหรือบริการบางประเภทเท่านั้น เช่น ผลจากโรคระบาดในสุกรที่กล่าวมาข้างต้น สภาพอากาศแปรปรวนที่ส่งผลกระทบต่อปริมาณผลผลิตผักหรือผลไม้ มาตรการภาครัฐที่อุดหนุนค่าน้ำค่าไฟ การขึ้นภาษีเหล้าบุหรี่ เป็นต้น
นักวิชาการมักเรียกการเปลี่ยนแปลงของราคาที่เป็นผลจากปัจจัยเฉพาะว่าเป็นการเปลี่ยนแปลงราคาเชิงเปรียบเทียบ (relative price changes) เนื่องจากราคาสินค้าหรือบริการที่ได้รับผลกระทบจาก shock นั้นจะเปลี่ยนไปเมื่อเทียบกับราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ซึ่งแตกต่างจาก common shock ที่ทำให้ราคาสินค้าและบริการในระบบเศรษฐกิจเปลี่ยนแปลงเป็นวงกว้างและไปในทิศทางเดียวกัน โดยการแยกแยะผลกระทบของปัจจัยทั้งสองมีความสำคัญต่อการดูแลเงินเฟ้อของธนาคารกลาง เพราะเงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยร่วมเป็นส่วนที่นโยบายการเงินสามารถดูแลได้ผ่านการปรับอัตราดอกเบี้ยนโยบาย ขณะที่เงินเฟ้อที่เกิดจากปัจจัยเฉพาะเป็นส่วนของเงินเฟ้อที่อยู่นอกเหนือจากการควบคุมของนโยบายการเงิน เพราะเป็นการเปลี่ยนแปลงที่สะท้อนความไม่สมดุลของอุปสงค์และอุปทานในตลาดใดตลาดหนึ่งเท่านั้น
วิธีหนึ่งที่นิยมใช้กันในการคำนวณหาส่วนของเงินเฟ้อที่ถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยร่วม (common component) คือ การนำวิธี Principal Component Analysis (PCA) มาหาส่วนของการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการทั้งหมดในตะกร้าเงินเฟ้อที่เคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน โดยรูปที่ 2 แสดงความสำคัญของเงินเฟ้อในส่วนนี้โดยวัดจากสัดส่วนของความแปรปรวน (variance) ของเงินเฟ้อในระดับสินค้าและบริการรายหมวดย่อยที่ถูกอธิบายโดย common component ซึ่งเห็นได้ชัดเจนว่า บทบาทของ common component ในการอธิบายการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อไทยหลังปี 2001 นั้น น้อยลงมาก เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า โดยปรับลดลงจากประมาณ 30% เหลือเพียง 15% ภายในเวลาอันสั้น
หากมองในอีกด้านหนึ่ง บทบาทที่น้อยลงของ common component สะท้อนว่าเงินเฟ้อไทยในรายหมวดย่อยนั้นถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะสินค้าหรือ relative price changes เป็นหลัก โดยจากรูปที่ 3 จะเห็นได้ว่าปัจจัยเฉพาะเหล่านี้ มักมีที่มาจากความเคลื่อนไหวของราคาสินค้าในหมวดพลังงาน เนื่องจากปัจจัยเฉพาะในหมวดนี้สามารถอธิบายความผันผวนของเงินเฟ้อไทยในส่วนที่ถูกขับเคลื่อนจาก relative price changes ได้เป็นสัดส่วนสูงถึง 87.9% เทียบกับหมวดอาหารสดและหมวดพื้นฐานที่ 8.9% และ 3.2% ตามลำดับ นอกจากนี้ เรายังพบว่าบทบาทของปัจจัยเฉพาะที่มาจากหมวดพลังงานนั้นเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ โดยหากพิจารณาช่วงก่อนและหลังวิกฤตการเงินโลกปี 2008 สัดส่วนความสำคัญเพิ่มขึ้นจาก 79.3% เป็น 87.8% ในขณะที่ความสำคัญของปัจจัยเฉพาะในหมวดอาหารสดมีน้อยลงจาก 17.7% เป็น 8.6% ความสำคัญของปัจจัยเฉพาะในหมวดพลังงานต่อความผันผวนของเงินเฟ้อไทยสะท้อนสัดส่วนการนำเข้าน้ำมันที่สูงเพื่อใช้การผลิตและการบริโภค ประกอบกับราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกมีความผันผวนที่สูงมาก
ปรากฎการณ์ที่ common component มีความสำคัญน้อยลงในไทย ตรงกับช่วงที่ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) นำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นหรือ Flexible Inflation Targeting มาใช้ คล้ายกับปรากฎการณ์ที่ความสำคัญของ common component ในประเทศสหรัฐฯ ลดลงในช่วงกลางทศวรรษ 1990 ซึ่งตรงกับช่วงที่อัตราเงินเฟ้อสหรัฐฯ ปรับลดลงมาอยู่ในระดับต่ำและมีเสถียรภาพ ส่วนหนึ่งจากนโยบายการเงินที่มีความน่าเชื่อถือมากขึ้น (Borio et al., 2021) การดำเนินนโยบายการเงินที่ให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคา ย่อมมีส่วนในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน ซึ่งสามารถลดทอนบทบาทของ common component ในการอธิบายเงินเฟ้อผ่าน 2 ช่องทางหลัก ได้แก่
- ความอ่อนไหวของราคาสินค้าและบริการต่อปัจจัยร่วมที่จะก่อให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในวงกว้างมีน้อยลง เนื่องจากผู้ประกอบการเชื่อว่าธนาคารกลางจะสามารถดูแลเงินเฟ้อให้อยู่ในกรอบเป้าหมายได้แม้จะเผชิญกับ macroeconomic shock เช่น การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจ
- ปัจจัยเฉพาะสินค้าจะไม่ส่งผลกระทบไปยังราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ เป็นวงกว้างผ่านการปรับเงินเฟ้อคาดการณ์โดยประชาชนและธุรกิจ ทำให้ยากที่จะเกิดปรากฏการณ์ที่ราคาสินค้าและบริการหลายชนิดเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกัน (common co-movement)
ในส่วนต่อไป บทความนี้จะประเมินว่าเหตุผลทั้ง 2 ข้อข้างต้นเป็นจริงมากน้อยแค่ไหนในบริบทของไทย เพื่อมาช่วยอธิบายสาเหตุว่าทำไมปัจจัยร่วมจึงมีความสำคัญน้อยลง
ผลวิจัยจากหลายประเทศในระยะหลังมักพบว่า ความสัมพันธ์ระหว่างอัตราเงินเฟ้อและภาวะเศรษฐกิจในประเทศมีน้อยลง หรือที่เรียกว่า flattened Phillips curve ซึ่ง Manopimoke & Direkudomsak (2015) ชี้ให้เห็นว่า หลังปี 2000 ปรากฎการณ์ flattened Phillips curve นี้เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน ซึ่งเป็นสัญญาณหนึ่งที่บ่งชี้ว่า ปัจจัยร่วมหรือปัจจัยมหภาคไม่ได้ส่งผลต่อเงินเฟ้อมากเท่าในอดีต อย่างไรก็ตาม งานศึกษาของ Manopimoke & Direkudomsak (2015) ที่ใช้ข้อมูลในระดับมหภาคเพื่อศึกษา Phillips curve อาจมองข้ามความสัมพันธ์ดังกล่าวในบางหมวดที่ระดับจุลภาคไปได้ ยกตัวอย่างเช่น ราคาในหมวดบริการ น่าจะอ่อนไหวกับวัฏจักรเศรษฐกิจไทยมากกว่าราคาสินค้าในหมวด tradables ที่มักเคลื่อนไหวไปตามปัจจัยภายนอกประเทศ
รูปที่ 4 (ซ้าย) แสดงความสัมพันธ์ระหว่างเงินเฟ้อรายหมวดย่อยและวัฏจักรเศรษฐกิจผ่านแบบจำลอง Phillips curve ในบริบทของไทย โดยวัฏจักรเศรษฐกิจนั้นวัดผ่านช่องว่างของผลผลิต (output gap) ผลการศึกษาชี้ให้เห็นว่า แม้พิจารณาความสัมพันธ์ Phillips curve ในระดับสินค้าและบริการรายย่อย การเปลี่ยนแปลงของวัฏจักรเศรษฐกิจไม่ได้ส่งผลต่อราคาสินค้าและบริการของไทยในวงกว้างเท่าใดนัก โดยราคาสินค้าและบริการเกินครึ่ง ไม่มีความสัมพันธ์อย่างมีนัยสำคัญกับ output gap ในขณะที่สินค้าและบริการที่เหลือประมาณ 41.5% แม้พบความสัมพันธ์ที่มีนัยสำคัญทางสถิติ แต่ทว่าค่าสัมประสิทธิ์ที่วัดได้มักอยู่ในระดับที่ค่อนข้างต่ำ โดยหาก output gap ลดลง 1% จะทำให้การเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการหมวดนั้น ๆ ลดลงเพียง 0.01–0.35% เท่านั้น บทบาทของวัฏจักรเศรษฐกิจต่อเงินเฟ้อไทยที่มีค่อนข้างน้อยนี้ จะเห็นได้ชัดจากรูปที่ 4 (ขวา) ซึ่งนำผลการศึกษา Phillips curve ข้างต้นมาคำนวณหาส่วนของเงินเฟ้อที่ถูกขับเคลื่อนโดยวัฏจักรเศรษฐกิจ (cyclical inflation) และส่วนที่ไม่สัมพันธ์กับวัฏจักรเศรษฐกิจ (acyclical inflation) โดยพบว่า เงินเฟ้อไทยจะถูกอธิบายโดย acyclical inflation เป็นสำคัญ โดยเฉพาะในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
แม้เงินเฟ้อไทยจะไม่ค่อยอ่อนไหวกับปัจจัยมหภาค แต่การเคลื่อนไหวของราคาสินค้าและบริการหลายประเภทยังสามารถเคลื่อนไหวไปในทิศทางเดียวกันได้หาก relative price shock ที่มีบทบาทมากในไทย ส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ในลักษณะที่กระจายและเป็นวงกว้าง โดยปกติแล้ว ผลกระทบของ relative price shock สามารถส่งผ่านไปยังราคาสินค้าและบริการชนิดอื่นได้ด้วยกลไกการส่งผ่านต้นทุนโดยตรง (direct pass through) เช่น ราคาเนื้อสุกรที่แพงทำให้ราคาอาหารสำเร็จรูปปรับสูงขึ้น อย่างไรก็ตาม การส่งผ่านในลักษณะนี้จะไม่กระจายไปในวงกว้าง ผิดกับการที่ relative price shock นั้นเริ่มส่งผลมายังเงินเฟ้อคาดการณ์ของประชาชนและธุรกิจ ซึ่งจะทำให้มีผลต่อเนื่องมาที่พฤติกรรมการกำหนดราคาสินค้าและค่าจ้างแรงงานโดยผู้ประกอบการ และเกิดการปรับราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง (second round effect) ทั้งนี้ โดยส่วนใหญ่แล้ว การเกิด second round effect ในลักษณะนี้มักเกิดในกรณีที่ relative price shock นั้นมีขนาดใหญ่มากและเกิดขึ้นอย่างยาวนานและต่อเนื่อง เช่น กรณีการเกิด oil price shock ในยุค 1970 หรือในกรณีที่ธนาคารกลางไม่สามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ระยะยาวได้ดี
บทความนี้ศึกษาลักษณะการส่งผ่านของ relative price shock ในไทยผ่าน 2 วิธี วิธีแรกอิงงานศึกษาของ Borio et al. (2021) เพื่อหาความสัมพันธ์ระหว่าง relative price shock กับเงินเฟ้อพื้นฐานซึ่งเป็นส่วนของเงินเฟ้อที่อาจใช้สะท้อนแนวโน้ม (trend) ของเงินเฟ้อไปในระยะยาวได้และช่วยบ่งชี้ถึงการเกิด second round effect ผลการศึกษาที่แสดงในรูปที่ 5 พบว่า ค่าสัมประสิทธิ์ที่แสดงผลกระทบของ relative price shock ที่มีต่อเงินเฟ้อพื้นฐานส่วนใหญ่กระจุกตัวอยู่ใกล้ศูนย์ ซึ่งรวมถึงค่าสัมประสิทธิ์ของ relative price shock ที่เกิดในสินค้าหมวดพลังงานและอาหารสดก็ยังไม่กระจายตัวมากเช่นกัน (พื้นที่สีแดง) จึงสะท้อนว่าการเกิด relative price shock ไม่ได้ก่อให้เกิดผลกระทบในวงกว้างต่อราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ และทำให้เงินเฟ้อตัวรวมต้องเพิ่มขึ้นหรือลดลงต่อเนื่องยาวนาน การที่ผลของ relative price shock ไม่กระจายตัวเป็นวงกว้างในกรณีของไทยนั้น สอดคล้องกับผลการศึกษาของ Borio et al. (2021) ที่ใช้ข้อมูลของสหรัฐฯ ในช่วงเดือน ม.ค. 1986 ถึง ธ.ค. 2019 และพบว่า การเกิด second round effect ในสหรัฐฯ นั้นมีจำกัด เนื่องจากความสามารถของธนาคารกลางในการยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชนมีประสิทธิภาพ
อีกวิธีหนึ่งที่สามารถใช้ศึกษาการกระจายตัวของปัจจัยเฉพาะที่ส่งผลต่อเนื่องไปยังราคาสินค้าและบริการประเภทอื่นคือ การนำแบบจำลอง Generalized Vector Autoregression มาคำนวณ shock spillover ตามวิธีการของ Diebold & Yilmaz (2012) วิธีนี้จะวิเคราะห์ว่าที่มาของความแปรปรวนของราคาสินค้าและบริการในหมวดย่อย มาจาก shock ภายในหมวดตนเองหรือจากหมวดอื่น ๆ มากน้อยแค่ไหน ซึ่งหากค่าความแปรปรวนของราคาถูกอธิบายด้วย shock ในหมวดตัวเองเป็นหลัก ย่อมแสดงว่าการกระจายตัวของปัจจัยเฉพาะไปยังราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ ในตะกร้าเงินเฟ้อนั้นมีจำกัด ซึ่งท้ายที่สุดจะส่งผลให้การเปลี่ยนแปลงไปในทิศทางเดียวกันระหว่างราคาสินค้าและบริการในตะกร้าเงินเฟ้อนั้นมีไม่มากนัก
รูปที่ 6 แสดงให้เห็นว่า ความแปรปรวนของเงินเฟ้อไทยที่จำแนกเป็น 19 หมวดหลัก ขึ้นอยู่กับ shock ในหมวดตัวเองเป็นสำคัญ โดยอยู่ที่สัดส่วนเฉลี่ยสูงถึง 46.6% (ค่าเฉลี่ยของตัวเลขในกล่อง diagonal สีเทา) ส่วนความรุนแรงของ spillover ระหว่างแต่ละหมวดสินค้า อยู่ในระดับค่อนข้างต่ำ (ค่าเฉลี่ยของตัวเลขในกล่อง off-diagonal ซึ่งวัดการส่งผ่านระหว่างหมวด อยู่ที่ 3%) และไม่ได้มีลักษณะที่กระจายเป็นวงกว้าง เนื่องจากมักเกิดขึ้นระหว่างหมวดที่มีความเกี่ยวข้องกันสูง เช่น shock spillover ในหมวดอาหาร (ช่องที่ 1 ถึง 7) เป็นต้น
หากพิจารณาเพิ่มเติมว่าเงินเฟ้อในหมวดใดเป็นหมวดที่รับและส่ง shock ต่อหมวดอื่น ๆ ในตะกร้าเงินเฟ้อมากที่สุด ตัวเลขที่แสดงอยู่ในช่องขวาสุด (From others) ชี้ให้เห็นว่าหมวดที่ได้รับ shock spillover มากที่สุดคือหมวดอาหารสำเร็จรูป (83.8%) ซึ่งรับมาจากหมวดเครื่องประกอบอาหารเป็นหลัก (31.3%) เนื่องจากเป็นต้นทุนที่สำคัญ สำหรับหมวดที่เป็นฝ่ายส่งออก shock มากที่สุดตามตัวเลขในช่องล่างสุดในตาราง (To Others) คือหมวดพลังงาน ซึ่งส่งออกไปยังหมวดค่าโดยสารสาธารณะมากที่สุด (19%) และยังส่งผ่านไปยังหมวดอื่น ๆ ด้วยพอสมควร ซึ่งไม่น่าแปลกใจในเมื่อสินค้าในหมวดพลังงาน ได้แก่ น้ำมัน ไฟฟ้า ถือได้ว่าเป็นปัจจัยสำคัญในการผลิตสินค้าแทบทุกประเภท ดังนั้น ผลการศึกษาในส่วนนี้จึงชี้ให้เห็นว่า หมวดต่าง ๆ ในตะกร้าเงินเฟ้อส่งผ่าน shock ให้กันและกันในระดับที่ไม่ได้สูงมากหรือกระจายเป็นวงกว้าง หรืออาจกล่าวได้ว่า shock spillover เหล่านี้สะท้อนการส่งผ่านของต้นทุนโดยตรงมากกว่าเป็นลักษณะของการเกิด second round effect และทำให้เงินเฟ้อที่มาจากปัจจัยเฉพาะสามารถคลี่คลายได้เองและไม่ยืดเยื้อ อย่างไรก็ดี ผู้ดำเนินนโยบายอาจต้องติดตาม shock ในบางหมวด โดยเฉพาะหมวดพลังงาน ที่หากเกิดขึ้นรุนแรงและต่อเนื่อง อาจนำไปสู่ผลกระทบต่อราคาในวงกว้างได้ง่ายกว่า shock ในหมวดอื่น ๆ
การที่เงินเฟ้อไทยถูกขับเคลื่อนโดยปัจจัยเฉพาะเป็นสำคัญ ส่งผลให้เงินเฟ้อไทยมีความผันผวนสูง ซึ่งความผันผวนนี้จะไม่สะท้อนการเปลี่ยนแปลงของราคาสินค้าและบริการในวงกว้าง อีกทั้งไม่สะท้อนแรงกดดันต่อเงินเฟ้อในระยะยาวได้ดีเท่าไหร่นัก ดังนั้น การคำนวณและติดตามเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อ (underlying inflation) จึงมีความสำคัญมากเพื่อช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบาย โดยเฉพาะธนาคารกลาง สามารถประเมินทิศทางและแรงกดดันเงินเฟ้อได้ดียิ่งขึ้น เนื่องจาก underlying inflation จะช่วยขจัดการเคลื่อนไหวของเงินเฟ้อในส่วนที่เป็นความผันผวนในระยะสั้นออกไป โดยเฉพาะส่วนที่เป็นผลจาก relative price changes ซึ่งบทบาทของนโยบายการเงินในการเข้าไปจัดการมีอยู่จำกัด
บทความนี้ใช้แบบจำลองทางเศรษฐมิติ Generalized Dynamic Factor Model ตามวิธีของ Forni et al. (2000) มาคำนวณปัจจัยร่วมของราคาสินค้าและบริการรายย่อย หรือเรียกว่า Common Component CPI ซึ่งสามารถนำไปใช้พิจารณาแนวโน้มเงินเฟ้อประกอบกับเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้ออื่น ๆ ที่ ธปท. ติดตามอยู่ ทั้งนี้ เครื่องชี้ที่สร้างขึ้นจะทำให้เห็นภาพว่าในช่วงที่อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปรับสูงขึ้นตาม relative price shock เช่นในบริบทปัจจุบัน ราคาสินค้าและบริการในหมวดอื่น ๆ เพิ่มสูงขึ้นตามมากน้อยเพียงใด
รูปที่ 7 แสดง Common Component CPI กับเครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้ออื่นๆ ที่ ธปท. ติดตาม (พื้นที่แรเงา) ซึ่งรวมถึงอัตราเงินเฟ้อพื้นฐาน โดยสังเกตได้ว่า เครื่องชี้แนวโน้มเงินเฟ้อทั้งหมดของไทย มีทิศทางการเคลื่อนไหวที่สอดคล้องกัน และมีความผันผวนน้อยกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปพอสมควร ในปัจจุบัน จะเห็นได้ว่าค่าของ Common Component CPI ในเดือน มิ.ย. 2022 ที่ 2.42% อยู่ในระดับต่ำกว่าอัตราเงินเฟ้อทั่วไปที่ 7.66% ค่อนข้างมาก และยังอยู่ภายในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อระยะปานกลางซึ่งกำหนดไว้ที่ 1–3% ดังนั้น ถึงแม้ว่าความเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อไทยในช่วงนี้จะถูกขับเคลื่อนโดย relative price shock เป็นสำคัญ ปัจจัยเหล่านี้ยังไม่ส่งผลกระทบต่อราคาสินค้าและบริการอื่น ๆ เป็นวงกว้าง และน่าจะสามารถคลี่คลายไปได้เองในระยะสั้นอย่างที่เคยเกิดขึ้นในอดีต ดังนั้น ความเสี่ยงต่อการเกิดปัญหาเงินเฟ้อสูงต่อเนื่องจึงยังมีไม่มากนัก
การศึกษาเงินเฟ้อผ่านข้อมูลราคารายหมวดย่อยทำให้ได้ข้อสรุปว่า ปัจจัยเฉพาะมีบทบาทสำคัญต่อการอธิบายพลวัตเงินเฟ้อไทย ขณะที่ปัจจัยมหภาคกลับมีบทบาทน้อย ซึ่งส่วนหนึ่งเป็นผลมาจากการที่ธนาคารกลางสามารถยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ได้ดีในช่วงสองทศวรรษที่ผ่านมา อย่างไรก็ดี การดำเนินนโยบายการเงินท่ามกลาง relative price shock ย่อมมีความท้าทาย เนื่องจาก relative price shock มักเกิดจากปัจจัยด้านอุปทานที่นโยบายการเงินไม่สามารถควบคุมได้ ดังนั้น ผู้ดำเนินนโยบายควรมองผ่าน (look through) ความผันผวนระยะสั้นเหล่านี้ โดยเน้นการดำเนินนโยบายแบบยืดหยุ่นและให้ความสำคัญกับการปรับตัวของเงินเฟ้อเข้าสู่กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในระยะปานกลางเป็นหลัก รวมทั้งตระหนักว่านโยบายที่เหมาะสมกับการจัดการกับ relative price shock เหล่านี้ อาจเป็นมาตรการรัฐที่สามารถเข้าไปจัดการกับปัญหาในแต่ละ sector ได้ตรงจุดมากกว่า
ความท้าทายอีกประการหนึ่งในการดูแลเงินเฟ้อที่ถูกขับเคลื่อนโดย relative price shock คือความเสี่ยงที่ในบางช่วงเวลาที่ relative price shock มีความรุนแรงและยืดเยื้อ ในกรณีนี้ ผลกระทบของ shock อาจกระจายเป็นวงกว้างผ่านการเกิด second round effect ซึ่งผลลัพธ์ที่ตามมาคือเงินเฟ้อที่จะคงค้างอยู่ในระดับสูงเป็นเวลานาน และก่อให้เกิดต้นทุนที่สูงทางด้านเศรษฐกิจเนื่องจากธนาคารกลางอาจต้องใช้นโยบายการเงินที่เข้มงวดมากเพื่อลดเงินเฟ้อลงมาให้อยู่ในกรอบเป้าหมาย ดังนั้น ในบริบทดังกล่าว ธนาคารกลางควรเน้นการยึดมั่น (commit) ในกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อเพื่อยึดเหนี่ยวเงินเฟ้อคาดการณ์ของสาธารณชน
บทเรียนจากงานศึกษานี้ยังมีนัยต่อการติดตามภาวะเงินเฟ้อสำหรับการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งต้องอาศัยข้อมูลราคาในเชิงลึกเพื่อวิเคราะห์ที่มาของเงินเฟ้อ และประเมินการกระจายตัวของผลกระทบของ relative price shock ซึ่งจะทำให้สามารถประเมินแนวโน้มเงินเฟ้อและความเสี่ยงต่อเงินเฟ้อในภาพรวมได้อย่างถูกต้องแม่นยำขึ้น โดยข้อมูลเชิงลึกดังกล่าว ยังมีความสำคัญต่อการสื่อสารกับสาธารณชน เพื่อให้เข้าใจถึงที่มาของเงินเฟ้อและการตัดสินนโยบายการเงินได้ดียิ่งขึ้นอีกด้วย
เอกสารอ้างอิง
- ผู้อ่านสามารถดู Apaitan et al. (2020) เพิ่มเติม ซึ่งเป็นงานศึกษาแรกที่ใช้ข้อมูลราคาสินค้าและบริการรายย่อยเพื่อศึกษาพลวัตเงินเฟ้อไทย↩