Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/2a33ce2dc0f6879668920f488d47c451/41624/cover.jpg
22 กุมภาพันธ์ 2567
20241708560000000

ค่าจ้างขั้นต่ำ การจ้างงาน อำนาจตลาด และการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่

ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อตลาดแรงงานในประเทศต่าง ๆ เป็นอย่างไร
ธนิสา ทวิชศรีศุภนิจ ปิยะพรมดีนฎา วะสี
ค่าจ้างขั้นต่ำ การจ้างงาน อำนาจตลาด และการเติบโตของธุรกิจขนาดใหญ่
excerpt

ทฤษฎีทางเศรษฐศาสตร์นั้นทำนายผลของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำต่อการจ้างงานและการปรับตัวของตลาดต่างกันไป ขึ้นกับลักษณะของตลาดแรงงาน ธุรกิจ กระบวนการผลิต และประเภทของสินค้าและบริการ บทความชิ้นนี้จะเล่าถึงกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์เกี่ยวกับนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ และหลักฐานเชิงประจักษ์จากประเทศต่าง ๆ และประเทศไทย

การกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำเป็นนโยบายที่รัฐบาลทั่วโลกใช้กันอย่างแพร่หลาย โดยเหตุผลหลักสองประการที่รัฐนำมาใช้เพื่อแทรกแซงราคาตลาด ได้แก่

  1. เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในตลาดแรงงานเพราะเชื่อว่านายจ้างมีอำนาจตลาดและกดค่าแรงให้ต่ำเกินไป
  2. เพื่อเป็นเครื่องมือการกระจายรายได้เพื่อลดความเหลื่อมล้ำในสังคม

รูปที่ 1 แสดงค่าดัชนี Kaitz หรือสัดส่วนค่าจ้างขั้นต่ำต่อค่ากลางของค่าจ้างในประเทศต่าง ๆ โดยค่าที่สูงแสดงถึงสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับผลกระทบจากการปรับค่าแรงขั้นต่ำจะมีจำนวนมาก ค่า Kaitz 100% แสดงถึงสัดส่วนลูกจ้างที่ได้รับค่าแรง ณ ค่าจ้างขั้นต่ำ คิดเป็นถึงครึ่งหนึ่งของลูกจ้างทั้งหมด จากในภาพสหรัฐอเมริกามีค่า Kaitz ต่ำสุดที่ 27% และโคลอมเบียมีค่า Kaitz สูงสุดที่ 90% สำหรับประเทศไทย ค่า Kaitz ในปี 2022 อยู่ที่ 71% (คำนวณจากข้อมูลประกันสังคม ซึ่งเป็นแรงงานในระบบครอบคลุม 35% ของแรงงานทั้งหมด)

รูปที่ 1: ดัชนี Kaitz ของประเทศ OECD และประเทศไทย ในปี 2022
ที่มา: OECD และคณะผู้วิจัย

ส่วนแรกของบทความนี้จะเล่าถึงกรอบความคิดทางเศรษฐศาสตร์ว่าคาดการณ์ผลกระทบของการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำต่อตลาดแรงงาน และการปรับตัวของนายจ้างอย่างไร ส่วนที่สองจะเล่าถึงหลักฐานเชิงประจักษ์จากประเทศต่าง ๆ และส่วนสุดท้ายจะเล่าถึงงานศึกษาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทย ว่ามีผลกระทบต่อการจ้างงานและค่าจ้างของลูกจ้างกลุ่มต่าง ๆ อย่างไร

แนวคิดทางเศรษฐศาสตร์คาดการณ์ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอย่างไร

คำทำนายของแบบจำลองทางเศรษฐศาสตร์นั้นต่างกันไปตามลักษณะต่าง ๆ ได้แก่

  1. ลักษณะของตลาดแรงงาน เช่น ก่อนที่จะมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ นายจ้างมีอำนาจตลาดมากน้อยเพียงใด ลูกจ้างมีข้อมูลเรื่องตำแหน่งงานว่างสมบูรณ์แบบหรือไม่
  2. กระบวนการผลิต เช่น นายจ้างสามารถใช้เทคโนโลยีมาทดแทนแรงงานบางส่วนได้มากน้อยเพียงใด
  3. ลักษณะของสินค้าและบริการว่าผู้ซื้อต้องอยู่ภายในพื้นที่เท่านั้น หรือสามารถส่งไปขายในระดับประเทศหรือทั่วโลกได้

นอกจากนี้ ในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ยังต้องคำนึงถึงบทบาทเศรษฐกิจนอกระบบ และความเข้มงวดในการบังคับใช้กฎหมายอีกด้วย โดยสามารถสรุปออกได้เป็นกรณีหลัก ๆ ดังนี้

กรณีตลาดมีการแข่งขันสูง

หากตลาดมีการแข่งขันสูง ค่าจ้างสะท้อนผลิตภาพอยู่แล้ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะลดการจ้างงาน

แบบจำลองตลาดแรงงานแบบแข่งขันสมบูรณ์ (perfect competition) มีข้อสมมติว่า ในตลาดมีนายจ้างและลูกจ้างที่ลักษณะคล้าย ๆ กันจำนวนมาก และตลาดไม่ได้มี friction นั่นคือ ลูกจ้างทราบข้อมูลเกี่ยวกับตำแหน่งงานว่างและสามารถย้ายงานได้อย่างรวดเร็ว นายจ้างเองก็สามารถปลดลูกจ้างออกได้ หากลูกจ้างทำงานไม่ได้ตามที่ตั้งเป้าไว้ ในกรณีนี้ นายจ้างหรือลูกจ้างคนใดคนหนึ่ง จึงไม่มีอำนาจมากพอที่จะกำหนดค่าจ้างได้ ค่าจ้างจึงโดนกำหนดด้วยอุปสงค์และอุปทานของแรงงาน และมีค่าเท่ากับผลิตภาพส่วนเพิ่มของลูกจ้าง (marginal productivity of labor: MPL) โดยจำนวนลูกจ้างที่ยินดีจะทำงาน ณ ค่าจ้างนี้ เป็นกลุ่มที่ค่าจ้างดังกล่าวสูงกว่า reservation wage หรือค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ผู้ที่ว่างงานเลือกที่จะทำงาน ซึ่งมักจะเป็นค่าเสียโอกาสของการทำงาน (opportunity cost of employment) เช่น ค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปทำงาน ค่าจ้างคนอื่นมาดูแลลูกหรือผู้สูงอายุ ความสุขจากการได้พักผ่อน ดังนั้น หากรัฐเข้ามาแทรกแซงตลาด โดยกำหนดให้ค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่า MPL แม้จะมีลูกจ้างที่อยากทำงานมากขึ้น แต่นายจ้างจะลดการจ้างงาน เพราะได้งานไม่คุ้มค่าแรง การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในตลาดที่มีการแข่งขันสูง จึงส่งผลให้ระดับการจ้างงานในตลาดลดลง

กรณีธุรกิจผูกขาด

ธุรกิจที่ผูกขาดการจ้างงานจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่าผลิตภาพแรงงาน การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลูกจ้างและไม่ลดการจ้างงาน

ในธุรกิจบางประเภท ตลาดแรงงานอาจจะไม่ได้มีการแข่งขันสมบูรณ์นัก นายจ้างมีอำนาจตลาดและเป็นผู้กำหนดค่าจ้าง ซึ่งบางครั้ง มีนายจ้างเพียงรายเดียวหรือจำนวนไม่กี่ราย หรือ มี friction บางอย่างในตลาดแรงงาน เช่น ลูกจ้างมีต้นทุนในการหางานใหม่และย้ายงาน จึงทำให้นายจ้างมีอำนาจเหนือลูกจ้างในการกำหนดค่าจ้าง ในตลาดลักษณะนี้ นายจ้างมักจะจ่ายค่าจ้างต่ำกว่า MPL และลูกจ้างส่วนใหญ่ก็ยังไม่ออกจากงานเพราะไม่ได้มีทางเลือกมากนัก (Manning, 2013; Berger et al., 2022) ในกรณีนี้ หากค่าจ้างขั้นต่ำ เป็นการปรับเพิ่มค่าจ้างให้สูงกว่าเดิม แต่ยังไม่ได้สูงกว่า MPL นายจ้างยังสามารถจ้างงานต่อไปได้

กรณีที่ลูกจ้างมีข้อมูลไม่สมบูรณ์

ลูกจ้างบางคนอาจจะได้รับค่าจ้างต่ำกว่าผลิตภาพส่วนเพิ่ม การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะช่วยลูกจ้างกลุ่มนี้ได้ โดยบริษัทที่มีผลิตภาพดีและสามารถให้ค่าจ้างสูงขึ้นได้ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้นและมีลูกจ้างเพิ่มขึ้น

ในกรณีที่ตลาดมีนายจ้างและลูกจ้างจำนวนมาก แต่มี friction เช่น ลูกจ้างแต่ละคนไม่ได้มีข้อมูลโดยสมบูรณ์ บางคนอาจบังเอิญได้รับข้อเสนอการจ้างงานที่ดีกว่าหรือบ่อยกว่า ในขณะที่บางคนได้รับข้อเสนอที่ไม่ดีนัก แม้แต่ลูกจ้างที่มีความสามารถเท่ากัน ก็อาจจะได้รับค่าจ้างไม่เท่ากัน หากลูกจ้างมีงานอยู่แล้ว ลูกจ้างจะรับข้อเสนอเฉพาะงานที่ได้ค่าจ้างมากขึ้นกว่าเดิมเท่านั้น และหากว่างงานอยู่ จะรับข้อเสนอที่ได้ค่าจ้างไม่ต่ำกว่า reservation wage (Burdett & Mortensen, 1998) ซึ่งในแบบจำลองเหล่านี้ reservation wage นอกจากจะขึ้นกับค่าเสียโอกาสของการทำงานดังที่กล่าวข้างต้น ยังขึ้นกับโอกาสที่จะหางานได้ดีกว่าหากเลือกที่จะรับหรือไม่รับงานดังกล่าว ดังนั้น ภาพการกระจายตัวของค่าจ้างในตลาดและโอกาสที่จะมีข้อเสนองานเข้ามาในช่วงที่ว่างงานและทำงาน จึงมีผลต่อ reservation wage ด้วย

หากไม่มีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างในตลาดที่ต่ำที่สุดจะเป็นค่า reservation wage และค่าจ้างสูงสุดจะอยู่ที่ผลิตภาพส่วนเพิ่ม หากมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ไม่ได้สูงกว่าผลิตภาพส่วนเพิ่ม ค่าจ้างที่ต่ำที่สุดในตลาดที่ลูกจ้างจะยอมรับจะปรับมาอยู่ที่ค่าจ้างขั้นต่ำแทน บริษัทที่อยากได้ลูกจ้างเพิ่ม ก็ต้องเสนอค่าจ้างที่สูงขึ้น ซึ่งส่งผลให้บริษัทอื่น ๆ ที่ต้องการรักษาลูกจ้างต้องขึ้นเงินเดือนตาม ๆ กันไป ในกรณีนี้ การปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในระดับที่ไม่สูงเกินผลิตภาพสามารถยกระดับค่าจ้างให้สูงขึ้นได้ โดยไม่จำเป็นต้องส่งผลลบต่อระดับการจ้างงานโดยรวม แต่จะช่วยปันกำไรจากนายจ้างมาสู่ลูกจ้างมากขึ้น

อย่างไรก็ดี แม้ระดับการจ้างงานโดยรวมในระบบเศรษฐกิจจะไม่ลดลง การเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะทำให้เกิด reallocation effect หรือการเคลื่อนย้ายทรัพยากรและแรงงานไปยังธุรกิจที่มีความสามารถในการผลิตมากกว่า โดยหากขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่าผลิตภาพของบางบริษัท บริษัทที่มีผลิตภาพไม่ดีก็ต้องลดการจ้างงาน หรือหากมี productivity ที่ต่ำกว่า reservation wage ของลูกจ้างที่สูงขึ้น ก็ต้องออกจากตลาดไป ส่วนบริษัทที่มีผลิตภาพดีและสามารถเสนอค่าจ้างสูงขึ้นได้ ก็จะมีขนาดใหญ่ขึ้น มีลูกจ้างเพิ่มขึ้น (Engbom & Moser, 2022; Dustmann et al., 2022)

กรณีที่ธุรกิจปรับกระบวนการผลิตหรือส่งผ่านต้นทุนได้

ธุรกิจอาจจะปรับตัวโดยใช้เทคโนโลยีมาแทนแรงงาน หรือส่งผ่านต้นทุนในลักษณะอื่น

ทั้งนี้ เมื่อการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้ต้นทุนของแรงงานบางส่วนเพิ่มขึ้น บางธุรกิจอาจจะมีการปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตร่วมด้วย เช่น นำเทคโนโลยีเข้ามาใช้แทนแรงงาน หรือนำเข้าวัตถุดิบบางส่วนที่เดิมเคยใช้แรงงานผลิตเอง หากคำนวณแล้วมีต้นทุนที่คุ้มกับกำไรมากกว่า หรือนายจ้างอาจจะลดสิทธิประโยชน์หรือสวัสดิการในด้านอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เงินเดือน เช่น มาตรฐานความปลอดภัยและคุณภาพของสภาพการทำงาน (Clemens, 2021)

นอกจากนี้ มีการคาดว่าสินค้าที่เป็น non-tradeable (ผลิตแล้วซื้อขายในพื้นที่เท่านั้น) จะสามารถส่งผ่านต้นทุนผ่านการปรับราคาให้สูงขึ้นได้มากกว่า เช่น ร้านอาหาร บริการตัดผม ซ่อมบ้าน เนื่องจากทุกบริษัทได้รับผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำเหมือนกัน จึงสามารถขึ้นราคาสินค้าพร้อม ๆ กันโดยไม่สูญเสียการแข่งขัน ในขณะเดียวกัน สำหรับสินค้า tradeable ที่สามารถส่งออกไปขายในระดับประเทศหรือระดับโลก เช่น อาหารสำเร็จรูป หรือบริการออนไลน์ หากบริษัทผลักค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นไปสู่ราคาสินค้า ก็จะทำให้สูญเสียการแข่งขันกับบริษัทในประเทศอื่น ๆ ที่ไม่ได้รับผลกระทบจากนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำ (Harasztosi & Lindner, 2019)

กรณีของประเทศกำลังพัฒนา

หากค่าจ้างขั้นต่ำสูงเกินผลิตภาพ เศรษฐกิจนอกระบบจะใหญ่ขึ้น แต่หากค่าจ้างขั้นต่ำยังไม่สูงเกินผลิตภาพ จะดึงแรงงานมาเข้าระบบ

ในบริบทของประเทศกำลังพัฒนา ซึ่งมีเศรษฐกิจนอกระบบขนาดใหญ่ การปรับค่าจ้างขั้นต่ำ อาจจะส่งผลต่อการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างภาคเศรษฐกิจได้ แต่ก็ขึ้นกับว่า ก่อนจะมีการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้น ค่าจ้างในระบบสะท้อนผลิตภาพของลูกจ้างหรือไม่ หากเดิมธุรกิจในระบบจ่ายค่าจ้างใกล้เคียงกับผลิตภาพอยู่แล้ว การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำจะส่งผลให้การจ้างงานในระบบน้อยลง ทำให้ลูกจ้างย้ายไปทำงานนอกระบบมากขึ้น หรือธุรกิจอาจจะเลือกใช้ลูกจ้าง outsource บางส่วน เพื่อลดต้นทุนด้านสวัสดิการหรือสิทธิประโยชน์อื่น ๆ ในทางกลับกัน หากเดิมนายจ้างมีอำนาจตลาดและจ่ายค่าแรงต่ำกว่าผลิตภาพ หากค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับขึ้นไม่ได้สูงกว่าผลิตภาพ แต่สูงกว่าค่าจ้างของงานนอกระบบ การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำที่ทำให้ค่าจ้างในระบบสูงขึ้นและดึงดูดให้แรงงานย้ายจากนอกระบบเข้ามาในระบบมากขึ้น (Strobl & Walsh, 2016)

การขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำอาจเป็น big push ในบางกรณี ส่งให้เกิด industrialization เพิ่มผลิตภาพของแรงงาน และอุปสงค์ท้องถิ่นที่สูงขึ้นตามรายได้ลูกจ้างที่มากขึ้น แบบจำลอง Big Push ของ Murphy et al. (1989) พูดถึงการขยายตัวของเศรษฐกิจที่เกิดจากปรับการผลิตให้เป็นอุตสาหกรรม (industrialization) โดยการนำเทคโนโลยีและเครื่องจักรเข้ามาใช้ในกระบวนการผลิตซึ่งจะยกระดับการผลิต ทำให้มีผลิตภาพต่อลูกจ้างหนึ่งคนสูงขึ้นแต่ก็มีต้นทุนในการนำเทคโนโลยีมาใช้สูง ซึ่งบางภาคธุรกิจ เช่น ภาคการผลิตมีศักยภาพในการปรับเป็นอุตสาหกรรมมากกว่าภาคบริการ Magruder (2013) ได้ต่อยอดแบบจำลอง โดยมองว่าค่าแรงที่แพงขึ้นจากการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำก็อาจเป็นแรงผลักดัน ให้ธุรกิจยอมลงทุนปรับกระบวนการผลิตเป็นอุตสาหกรรม ส่วนอีกแรงส่งของ Big Push มาจากด้านอุปสงค์ที่ลูกจ้างก็เป็นผู้บริโภคของพื้นที่นั้น ๆ การที่ลูกจ้างในระบบได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้น ก็จะมีอุปสงค์ของสินค้าและบริการที่เพิ่มมากขึ้น โดยเฉพาะอย่างยิ่งธุรกิจภาค non-tradeable ซึ่งเป็นสินค้าหรือบริการที่ต้องผลิตและขายในพื้นที่ หรือมีค่าขนส่งสูงมาก ที่ได้รับอานิสงค์จากรายได้ของลูกจ้างที่สูงขึ้นโดยตรง แต่ภาค tradeable ซึ่งยังต้องแข่งกับธุรกิจเดียวกันในต่างพื้นที่หรือต่างประเทศยังอาจไม่ค่อยโต ตารางที่ 1 สรุปผลของ Magruder (2013)

ตารางที่ 1: การคาดการณ์ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อการจ้างงานในระบบ-นอกระบบตามประเภทของอุตสาหกรรม
ผลิตและส่งไปขายในต่างถิ่นได้ (tradeable)ศักยภาพในการปรับเป็นอุตสาหกรรม (industrialization)คาดการณ์
NoYesการจ้างงานในระบบมากขึ้น จ้างงานนอกระบบน้อยลง
NoNoการจ้างงานนอกระบบมากขึ้น
Yes-การจ้างงานไม่เปลี่ยนแปลงหรือลดลง
ที่มา: Magruder (2013) สรุปโดยคณะผู้วิจัย

นอกจากผลของการจ้างงาน ยังมีการคาดการณ์ถึง spillover effect คือ ผลที่หรือกระจายไปยังกลุ่มแรงงานที่มีค่าจ้างสูงกว่าค่าจ้างขั้นต่ำอยู่แล้ว ซึ่งมีทั้งกรณี spillover ข้ามบริษัท ว่าเมื่อบริษัทหนึ่งปรับค่าจ้าง อีกบริษัทก็ต้องปรับค่าจ้างให้สูงกว่า หรือกรณีภายในบริษัทเดียวกัน ว่าเมื่อบริษัทปรับค่าจ้างของกลุ่มทักษะต่ำ ซึ่งเดิมอาจจะได้ค่าจ้างต่ำกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ ขึ้นมาเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำ ก็อาจจะต้องปรับค่าจ้างของกลุ่มอื่น ๆ ในบริษัทด้วย เพื่อให้สะท้อนถึงผลิตภาพที่ต่างกันของลูกจ้างในบริษัท (Cengiz et al., 2019)

ในส่วนถัดไปเราจะเล่าถึงหลักฐานเชิงประจักษ์ในประเทศต่าง ๆ

หลักฐานเชิงประจักษ์จากต่างประเทศ

งานวิจัยที่ศึกษาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำต่อระดับการจ้างงานมีจำนวนมาก โดยเฉพาะในประเทศสหรัฐอเมริกาซึ่งแต่ละมลรัฐมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำที่ต่างกัน โดยข้อสรุปของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำต่อระดับการจ้างงานนั้นขึ้นกับบริบทที่ศึกษา ลักษณะของตลาดและประเภทของธุรกิจ

ในการประเมินหาผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำ จะต้องมีการประมาณการว่า หากไม่มีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ และสภาพเศรษฐกิจและตลาดแรงงานมีแนวโน้มเหมือนเดิม ระดับการจ้างงานหรือผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจอื่น ๆ จะเปลี่ยนแปลงอย่างไร นั่นคือ บางครั้งปัจจัยอื่น ๆ เช่น ความก้าวหน้าทางเทคโนโลยี หรือภัยพิบัติ อาจจะส่งผลต่อแนวโน้มการจ้างงานอยู่แล้ว จึงจำเป็นต้องควบคุมถึงปัจจัยเหล่านี้ อาทิ งานศึกษากลุ่มหนึ่ง (เช่น Card & Krueger, 1994; Aaronson et al., 2018) ใช้วิธีการเปรียบเทียบการจ้างงานของธุรกิจที่อยู่ตรงรอยต่อระหว่างเขตการปกครองซึ่งมีการกำหนดค่าจ้างขั้นต่ำไม่เท่ากัน โดยเปรียบเทียบระดับการจ้างงานก่อนและหลังการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำของทั้งสองเขต ส่วนงานอีกกลุ่มหนึ่ง เปรียบเทียบจำนวนงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าเล็กน้อย (excess jobs) กับการหายไปของจำนวนงานที่เดิมจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ (missing jobs) โดยหากพบว่างานเหล่านี้มีจำนวนพอ ๆ กัน ก็จะสะท้อนถึงระดับการจ้างงานที่ไม่ได้ลดลง (รูปที่ 2)

รูปที่ 2: การคำนวณการจ้างงานที่เปลี่ยนไปจากจำนวนงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าเล็กน้อย (excess jobs) กับการหายไปของจำนวนงานที่เดิมจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ (missing jobs)

การคำนวณการจ้างงานที่เปลี่ยนไปจากจำนวนงานที่ได้รับค่าจ้างเท่ากับค่าจ้างขั้นต่ำหรือสูงกว่าเล็กน้อย (excess jobs) กับการหายไปของจำนวนงานที่เดิมจ่ายค่าจ้างน้อยกว่าค่าจ้างขั้นต่ำ (missing jobs)

ที่มา: Cengiz et al. (2019)

ระดับการจ้างงานโดยรวม

ผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อระดับการจ้างงานโดยรวมยังไม่ชัดเจน มีทั้งงานที่พบว่าการจ้างงานเพิ่มขึ้น ลดลง และไม่เปลี่ยนแปลง

งานของ Derenoncourt & Montialoux (2021) ใช้ข้อมูลในช่วง 1960s–1970s เป็นช่วงที่สหรัฐอเมริกาขยายความครอบคลุมของกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำระดับประเทศไปยังกลุ่มอาชีพที่เดิมไม่ได้รับความคุ้มครอง ผลพบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำและขยายความครอบคลุมไม่ได้ทำให้ระดับการจ้างงานในภาพรวมลดลง Card & Krueger (1994) พบว่าสำหรับอุตสาหกรรม fast food มีระดับการจ้างงานสูงขึ้นในรัฐที่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำในปี 1992 จึงคาดว่านายจ้างเดิมน่าจะมีอำนาจตลาดในการจ้างงานในอุตสาหกรรมดังกล่าว ส่วนงานของ Cengiz et al. (2019) ซึ่งใช้ข้อมูลของสหรัฐอเมริการะหว่างปี 1979–2016 และ Dustmann et al. (2022) ซึ่งใช้ข้อมูลของเยอรมนีที่เพิ่งเริ่มมีนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกในปี 2015 พบว่าค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ทำให้การจ้างงานโดยรวมลดลง

ในทางกลับกัน Clemens & Wither (2019) ศึกษาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำของสหรัฐอเมริกาในช่วงปี 2007–2009 พบว่ากลุ่มแรงงานที่มีค่าแรงระดับต่ำที่รัฐตั้งใจจะช่วย กลับมีระดับการจ้างงานลดลงและรายได้ไม่เติบโตนัก ผลลบที่พบดังกล่าวส่วนหนึ่งน่าจะเป็นเพราะช่วงดังกล่าวเป็นช่วงเศรษฐกิจของสหรัฐอเมริกาอยู่ในช่วงขาลงครั้งใหญ่ นอกจากนี้ Neumark & Corella (2021) ทบทวนงานวิจัย 61 ชิ้นจากประเทศกำลังพัฒนา ก็พบทั้งผลบวกและลบ แต่ส่วนใหญ่พบว่า ผลของการปรับค่าจ้างขั้นต่ำส่งให้ระดับการจ้างงานนั้นลดลง

การโยกย้ายของแรงงาน

แม้การจ้างงานโดยรวมไม่ลดลง แต่มีการโยกย้ายของแรงงานจากบริษัทเล็กไปยังบริษัทใหญ่ที่มีผลิตภาพดีกว่า และธุรกิจขนาดเล็กปิดตัวลง

งานศึกษาหลาย ๆ งานพบว่า แม้ระดับการจ้างงานโดยรวมจะไม่เปลี่ยนแปลง แต่แรงงานที่เคยทำงานในบริษัทเล็กมีการย้ายไปทำงานในบริษัทที่ใหญ่ขึ้นที่มีผลิตภาพสูงขึ้น ขณะที่บริษัทเล็กส่วนหนึ่งปิดตัวลง เช่น Dustmann et al. (2022) (ประเทศเยอรมนี) Engbom & Moser (2022) (ประเทศบราซิล) และ Rama (2001) (ประเทศอินโดนีเซีย) บางธุรกิจที่ปรับตัวไม่ได้ก็มีการปิดตัวมากขึ้น Aaronson et al. (2018) ศึกษาธุรกิจร้านอาหารใกล้รอยต่อของรัฐ พบว่าในรัฐที่มีการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ระดับการจ้างงานของร้านอาหารที่ยังเปิดต่อไปไม่มีการเปลี่ยนแปลง แต่ ร้านที่เน้นใช้ลูกจ้างจำนวนมาก (labor intensive) เช่น fast food มีอัตราการปิดตัวสูงขึ้นในหนึ่งปีถัดมา ส่วนร้านอาหารที่เป็นร้านเต็มรูปแบบ และมีการใช้ทุนหรือเทคโนโลยีเข้ามาช่วย อัตราการปิดตัวไม่ได้เพิ่มขึ้นมากนัก เพราะสามารถปรับกระบวนการผลิตได้

Harrison & Scorse (2010) ซึ่งเจาะดูเฉพาะอุตสาหกรรมเสื้อผ้าสิ่งทอที่มีเจ้าของเป็นบริษัทต่างประเทศในอินโดนีเซีย เช่น Nike, Addidas, Reebok ซึ่งเป็นธุรกิจเป้าหมายให้มีการปรับค่าแรงเพิ่มขึ้น และเป็นบริษัทขนาดใหญ่ก็ไม่พบผลต่อการจ้างงาน แต่พบว่ากำไรของบริษัทเหล่านี้ลดลง และมีการลงทุนลดลง

ผลต่อการจ้างงานที่ต่างกันรายภาคธุรกิจ

ความแตกต่างของอำนาจตลาดและกระบวนการผลิตส่งให้ผลของค่าจ้างขั้นต่ำต่อระดับการจ้างงานในแต่ละภาคธุรกิจต่างกัน

Azar et al. (2023) พยายามวัดอำนาจผูกขาดของนายจ้าง โดยใช้ข้อมูลจากประกาศสมัครงาน รายนายจ้าง รายอาชีพและรายพื้นที่ โดยมองว่าอำนาจตลาดของการจ้างคนงานแต่ละระดับก็ไม่เท่ากัน ตัวอย่างเช่น ในธุรกิจขายปลีก นายจ้างอาจจะมีอำนาจเหนือกว่าในการจ้างพนักงานขาย เพราะผู้สมัครที่ทำงานนี้ได้มีจำนวนมาก ขณะเดียวกัน นายจ้างรายเดิมอาจจะไม่ได้มีอำนาจมากนักในการจ้างพนักงานระดับผู้จัดการ งานนี้พบว่าผลของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งให้ระดับการจ้างงานลดลง หากนายจ้างมีอำนาจตลาดต่ำหรือค่าแรงเดิมอยู่ในระดับที่ใกล้ MPL แต่การจ้างงานเพิ่มขึ้น หากเดิมนายจ้างมีอำนาจตลาดสูง จึงสรุปว่า “there is no such thing as the employment effect of the minimum wage applicable everywhere” นั่นคือ ผลก็สอดคล้องกับกรอบแนวคิดทางเศรษฐศาสตร์ ว่าผลต่อระดับการจ้างงานนั้นขึ้นกับลักษณะของตลาด

หากดูที่กระบวนการผลิต Aaronson & Phelan (2019) และ Lordan & Neumark (2018) พบว่า หลังจากปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำ ระดับการจ้างงานลดลงมากกว่าในอุตสาหกรรมที่แรงงานสามารถถูกทดแทนด้วยเทคโนโลยีได้

แรงงานนอกระบบ

สำหรับประเทศกำลังพัฒนา มีหลักฐานว่า แรงงานนอกระบบใหญ่ขึ้นในธุรกิจบางประเภท

งานของ Jales (2018) ซึ่งใช้ข้อมูลของบราซิลในช่วง 2001–2009 ประมาณการว่าขนาดของแรงงานนอกระบบใหญ่ขึ้น และการปรับเพิ่มของค่าจ้างขั้นต่ำในช่วงดังกล่าวส่งให้แรงงานในระบบย้ายไปเป็นแรงงานนอกระบบร้อยละ 91

Magruder (2013) ศึกษาผลกระทบของการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในอินโดนีเซียในช่วงปี 1990s ซึ่งเป็นช่วงที่เศรษฐกิจกำลังเติบโต และพบผลตามการคาดการณ์ของแนวคิด Big Push ซึ่งได้สรุปไว้ในตารางที่ 1 โดยพบว่า กลุ่ม manufacturing ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีศักยภาพในการปรับเป็นอุตสาหกรรม การจ้างงานเพิ่มขึ้นในกลุ่มที่เป็นบริษัทจดทะเบียน (formal firms) และไม่ได้ส่งออก แต่การจ้างงานลดลงในกลุ่มที่เป็น informal firms และการจ้างงานไม่เปลี่ยนแปลงในธุรกิจส่งออกซึ่งส่วนมากเป็น tradeable ส่วนกลุ่มธุรกิจภาคบริการซึ่งไม่ค่อยมีศักยภาพที่จะปรับเป็นอุตสาหกรรม เป็น non-tradeable และส่วนมากเป็น informal พบว่ามีการจ้างงาน (นอกระบบ) เพิ่มขึ้น เพราะน่าจะได้รับแรงส่งจากอุปสงค์ท้องถิ่นโดยตรงตามที่มีการคาดการณ์ไว้

ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในไทยเป็นอย่างไร

ประเทศไทยเริ่มบังคับใช้กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำครั้งแรกเมื่อปี 1973 ใน 4 จังหวัด ได้แก่ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี สมุทรปราการ และปทุมธานี และต่อมาได้ขยายความครอบคลุมไปทั่วประเทศ โดยค่าจ้างขั้นต่ำนั้นถูกกำหนดโดยคณะกรรมการค่าจ้าง ซึ่งเป็นองค์กรไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนจากภาครัฐ นายจ้าง และลูกจ้าง และค่าจ้างขั้นต่ำของแต่ละจังหวัดนั้นมีอัตราต่างกันไป กฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำบังคับใช้กับนายจ้าง ลูกจ้างทุกคน แต่มีข้อยกเว้น คือไม่มีผลบังคับใช้กับส่วนราชการ รัฐวิสาหกิจ และองค์กรไม่แสวงหากำไร แม่บ้าน ลูกจ้างที่รับจ้างงานไปทำที่บ้าน (เช่น freelance) งานบรรทุกขนถ่ายสินค้าเดินเรือทะเล หรืองานเกษตรกรรม

รูปที่ 3: ค่าจ้างขั้นต่ำของประเทศไทยรายจังหวัดตั้งแต่ปี 2001–2023
ที่มา: PIER Statistics "ค่าแรงขั้นต่ำของประเทศไทย"

รูปที่ 3 แสดงค่าจ้างขั้นต่ำรายจังหวัด โดยในปี 2001 ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 133–165 บาทต่อวัน และค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้นโดยในเดือนมีนาคม 2012 ค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ระหว่าง 215–260 บาทต่อวัน การปรับขึ้นครั้งใหญ่นั้นเกิดขึ้นในเดือนเมษายน 2012 โดยปรับเพิ่มขึ้นร้อยละ 40 ทุกจังหวัด และต่อมาในเดือน มกราคม 2013 ปรับเป็น 300 บาท/วัน ทุกจังหวัด โดยค่าจ้างขั้นต่ำอยู่ในอัตราดังกล่าว จนถึงปี 2017 จึงมีการค่อย ๆ ปรับเพิ่มขึ้น โดยในปัจจุบันอยู่ในอัตรา 330–370 บาทต่อวัน

ผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำในไทยจากงานวิจัยสามารถสรุปได้เป็น 3 ข้อค้นพบ ดังนี้

ช่วงที่ค่าจ้างขั้นต่ำค่อย ๆ ปรับขึ้น

ช่วงที่ค่าจ้างขั้นต่ำค่อย ๆ ปรับขึ้นจนถึงปี 2011 ผลต่อการจ้างงานโดยรวมลดลงเล็กน้อย

Lathapipat & Poggi (2016) ใช้ข้อมูลการสำรวจภาวะการทำงานของประชากร (Labour Force Survey: LFS) ในปี 2002–2010 พบว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำมีผลทำให้การจ้างงานโดยรวมลดลงเล็กน้อย โดยเฉพาะแรงงานอายุน้อยทักษะต่ำ Samart & Kilenthong (2024) ใช้ข้อมูล LFS ในส่วนที่สามารถติดตามแรงงานคนเดิมได้สองปีติดกัน พบว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ส่งผลให้คนที่มีงานอยู่แล้วมีโอกาสตกงานในปีถัดไปมากขึ้น

สำหรับการเคลื่อนย้ายแรงงานระหว่างในระบบและนอกระบบ Del Carpio et al. (2019) พบว่าการปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำ ไม่ได้ทำให้แรงงานนอกระบบใหญ่ขึ้น ขณะที่ Lathapipat & Poggi (2016) พบว่าการจ้างงานภาคเกษตรลดลงเล็กน้อยในจังหวัดที่มีค่าจ้างขั้นต่ำสูงกว่า ทั้งนี้ ข้อมูล LFS ไม่ได้มีตัวแปรที่บอกว่าแรงงานเป็นแรงงานนอกระบบ หรือในระบบชัดเจนนักในช่วงก่อนปี 2016 นักวิจัยจึงมักจะต้องนิยามจากลักษณะอาชีพและภาคธุรกิจ เช่น อาชีพอิสระหรือทำงานในภาคเกษตร

ช่วงที่ปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่

ในช่วงการปรับค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ ผลต่อการจ้างงานโดยรวมไม่ชัดเจน แต่การจ้างงานแรงงานทักษะต่ำในระบบลดลง และนายจ้างมีการปรับตัวในด้านอื่น ๆ

หากไม่ได้แยกแรงงานว่าเป็นในระบบหรือนอกระบบ Lathapipat & Poggi (2016) พบว่าการเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำทำให้การจ้างงานโดยรวมเพิ่มขึ้น Samart & Kilenthong (2024) พบว่าลูกจ้างต่างสัญชาติที่เดิมทำงานในระบบมีโอกาสตกงานมากขึ้น แต่ลูกจ้างสัญชาติไทยมีโอกาสตกงานในปีถัดมาน้อยลง ซึ่งน่าจะเป็นเพราะเมื่อนายจ้างต้องจ่ายค่าจ้างเพิ่มขึ้น จึงเลือกจ้างลูกจ้างสัญชาติไทยมากกว่า เพราะอาจจะมีทักษะมากกว่า อย่างน้อยในการสื่อสารภาษาไทย

อย่างไรก็ดี Samutpradit (2023) วิเคราะห์ผลของค่าจ้างขั้นต่ำต่อกลุ่มลูกจ้างที่มีการศึกษาระดับประถมศึกษา พบว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำครั้งใหญ่ส่งให้การจ้างงานในระบบสำหรับลูกจ้างกลุ่มนี้น้อยลง มีการทำงานนอกระบบมากขึ้น โดยมากเป็นการทำงานให้ครอบครัวแบบไม่ได้รับค่าจ้าง หากดูรายภาคธุรกิจ พบว่ามีการทำให้การจ้างงานแรงงานทักษะต่ำในระบบของภาคการผลิตลดลง นอกจากนี้ ทั้ง Samutpradit (2023) และ Samart & Kilenthong (2024) ยังพบว่า นายจ้างมีการปรับตัวผ่านช่องทางอื่น ๆ เพื่อที่จะลดค่าใช้จ่าย เช่น มีลูกจ้างบาดเจ็บจากการทำงานมากขึ้น ได้พักน้อยลง และสภาพที่ทำงานขาดความปลอดภัยมากขึ้น รวมถึงปรับลดค่าชดเชยอื่น ๆ ของลูกจ้างลง เช่น อาหารกลางวัน และรายได้พิเศษต่าง ๆ ที่ไม่ใช่ค่าแรงหลัก

จากข้อมูลประกันสังคมในช่วงปี 2009–2015 โดยดูเฉพาะกลุ่มลูกจ้างที่อายุ 25–50 ปี เราพบผลที่คล้ายกันว่า การจ้างงานไม่ได้ลดลง แต่แรงงานมีการเคลื่อนย้ายจากบริษัทเล็กไปยังบริษัทใหญ่ และแม้ลูกจ้างบางกลุ่มจะได้รับค่าจ้างเริ่มต้นเพิ่มขึ้นตามกฎหมาย แต่มีอัตราการเพิ่มขึ้นของค่าจ้างตามอายุงานในอัตราที่ช้าลง เช่น เดิมค่าจ้างที่เคยเพิ่มขึ้นร้อยละ 5 ต่อปี อาจจะเพิ่มเพียงร้อยละ 1 นั่นคือ นายจ้าง พยายามหาทางปรับตัวเพื่อทดแทนกับค่าจ้างตอนเริ่มงานที่สูงขึ้นตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำ

ผลต่อค่าจ้าง

หลังจากมีการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ค่าจ้างของลูกจ้างส่วนมากเพิ่มขึ้น รวมถึงมี spillover ไปถึงกลุ่มค่าจ้างปานกลาง แต่ยังมีนายจ้างที่ยังไม่ปฏิบัติตามกฎหมายอยู่บ้าง

ลูกจ้างโดยส่วนมากได้รับค่าจ้างเพิ่มขึ้นในอัตราที่สอดคล้องกับค่าจ้างขั้นต่ำที่ปรับเพิ่ม (Del Carpio et al., 2019; Lathapipat & Poggi, 2016; Samutpradit, 2023) และยังมี spillover effect ที่กว้างไปถึงกลุ่มลูกจ้างที่ได้รับค่าจ้างที่ 60th60^{th}60th percentile หรือมากกว่า (Lathapipat & Poggi, 2016; Samart & Kilenthong, 2024) อย่างไรก็ดี ยังมีการประมาณการว่า น่าจะยังมีกลุ่มนายจ้างไม่ปฏิบัติตามกฎหมายค่าจ้างขั้นต่ำอยู่บ้าง คิดเป็นประมาณร้อยละ 6–20 (Leckcivilize, 2015; Del Carpio et al., 2019; Samutpradit, 2023)

งานศึกษาในประเทศไทยยังไม่มีผู้ใดศึกษาผลของการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำต่อการปิดตัวของธุรกิจที่ได้ผลกระทบ ซึ่งจำเป็นต้องแยกผลของธุรกิจที่ได้รับผลกระทบจากค่าจ้างขั้นต่ำออกจากปัจจัยอื่น ๆ เพราะธุรกิจขนาดเล็กและอายุน้อย ก็มีโอกาสปิดตัวมากกว่าธุรกิจอื่น ๆ อยู่แล้ว

บทสรุปและข้อเสนอแนะเชิงนโยบาย

การปรับเพิ่มค่าจ้างขั้นต่ำเป็นอีกเครื่องมือหนึ่งที่หลายประเทศเลือกใช้เพื่อเป็นเครื่องมือในการกระจายรายได้ และแก้ปัญหากรณีนายจ้างมีการผูกขาดการจ้างงาน ทำให้ลูกจ้างได้รับค่าจ้างที่ต่ำเกินควร ผลจากงานวิจัยต่าง ๆ นั้นพอสรุปได้ว่า

  1. เราไม่สามารถพูดลอย ๆ ได้ว่าการขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำนั้นจะมีผลต่อการจ้างงานหรือไม่ จะต้องวิเคราะห์โดยละเอียดว่าตลาดแรงงานนั้น ๆ มีลักษณะเป็นอย่างไร
  2. ในงานวิจัยที่พบผลลบต่อการจ้างงาน ลูกจ้างที่มักจะตกงานมักจะเป็นกลุ่มทักษะต่ำ ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นเป้าหมายของนโยบายค่าจ้างขั้นต่ำที่อยากเข้ามาช่วยเหลือคนกลุ่มนี้
  3. ในหลาย ๆ ประเทศ พบว่าการปรับขึ้นค่าจ้างขั้นต่ำไม่ได้ส่งผลกระทบกับระดับการจ้างงานโดยรวม แต่มีการเคลื่อนย้ายแรงงานจากบริษัทขนาดเล็กไปยังบริษัทขนาดใหญ่ที่มีผลิตภาพดีกว่า และธุรกิจขนาดเล็กปิดตัวลง
  4. สำหรับประเทศกำลังพัฒนาอย่างประเทศไทยนั้น ยังมีเรื่องของการบังคับใช้กฎหมายและแรงงานนอกระบบขนาดใหญ่ โดยการปรับค่าจ้างขั้นต่ำอาจจะส่งให้การจ้างงานในระบบน้อยลง ธุรกิจขนาดเล็กปรับตัวออกไปเป็นธุรกิจนอกระบบ รวมถึงนายจ้างยังมีการปรับตัวเพื่อลดต้นทุนผ่านช่องทางอื่น เช่น สวัสดิการ หรือความปลอดภัยในสภาพแวดล้อมในการทำงาน

ดังนั้น การประเมินผลกระทบของค่าจ้างขั้นต่ำนั้น จะต้องมีการประเมินในหลาย ๆ มิติ และคำนึงถึงลักษณะของตลาดทั้งฝั่งการจ้างงาน และฝั่งผลผลิต รวมถึงมิติต่าง ๆ ที่นายจ้างอาจจะมีการปรับตัวเพื่อพยายามส่งผ่านต้นทุนไปในรูปแบบอื่น

เอกสารอ้างอิง

Aaronson, D., French, E., Sorkin, I., & To, T. (2018). Industry dynamics and the minimum wage: a putty-clay approach. International Economic Review, 59(1), 51–84.
Aaronson, D., & Phelan, B. J. (2019). Wage shocks and the technological substitution of low-wage jobs. The Economic Journal, 129(617), 1–34.
Azar, J., Huet-Vaughn, E., Marinescu, I., Taska, B., & von Wachter, T. (2023). Minimum Wage Employment Effects and Labour Market Concentration. Review of Economic Studies.
Berger, D. W., Herkenhoff, K. F., & Mongey, S. (2022). Minimum wages, efficiency and welfare. National Bureau of Economic Research.
Burdett, K., & Mortensen, D. T. (1998). Wage differentials, employer size, and unemployment. International Economic Review, 257–273.
Card, D., & Krueger, A. B. (1994). Minimum Wages and Employment: A Case Study of the Fast-Food Industry in New Jersey and Pennsylvania. The American Economic Review, 84(4), 772–793.
Cengiz, D., Dube, A., Lindner, A., & Zipperer, B. (2019). The effect of minimum wages on low-wage jobs. The Quarterly Journal of Economics, 134(3), 1405–1454.
Clemens, J. (2021). How do firms respond to minimum wage increases? understanding the relevance of non-employment margins. Journal of Economic Perspectives, 35(1), 51–72.
Clemens, J., & Wither, M. (2019). The minimum wage and the Great Recession: Evidence of effects on the employment and income trajectories of low-skilled workers. Journal of Public Economics, 170, 53–67.
Del Carpio, X. V., Messina, J., & Sanz-de Galdeano, A. (2019). Minimum wage: Does it improve welfare in Thailand? Review of Income and Wealth, 65(2), 358–382.
Derenoncourt, E., & Montialoux, C. (2021). Minimum wages and racial inequality. The Quarterly Journal of Economics, 136(1), 169–228.
Dustmann, C., Lindner, A., Schönberg, U., Umkehrer, M., & Vom Berge, P. (2022). Reallocation effects of the minimum wage. The Quarterly Journal of Economics, 137(1), 267–328.
Engbom, N., & Moser, C. (2022). Earnings inequality and the minimum wage: Evidence from Brazil. American Economic Review, 112(12), 3803–3847.
Harasztosi, P., & Lindner, A. (2019). Who Pays for the Minimum Wage? American Economic Review, 109(8), 2693–2727.
Harrison, A., & Scorse, J. (2010). Multinationals and anti-sweatshop activism. American Economic Review, 100(1), 247–273.
Jales, H. (2018). Estimating the effects of the minimum wage in a developing country: A density discontinuity design approach. Journal of Applied Econometrics, 33(1), 29–51.
Lathapipat, D., & Poggi, C. (2016). From Many to One: Minimum Wage Effects in Thailand (Discussion Paper No. 41). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Leckcivilize, A. (2015). Does the minimum wage reduce wage inequality? Evidence from Thailand. IZA Journal of Labor & Development, 4(1), 1–23.
Lordan, G., & Neumark, D. (2018). People versus machines: The impact of minimum wages on automatable jobs. Labour Economics, 52, 40–53.
Magruder, J. R. (2013). Can minimum wages cause a big push? Evidence from Indonesia. Journal of Development Economics, 100(1), 48–62.
Manning, A. (2013). Monopsony in motion: Imperfect competition in labor markets. Princeton University Press.
Murphy, K. M., Shleifer, A., & Vishny, R. W. (1989). Industrialization and the big push. Journal of Political Economy, 97(5), 1003–1026.
Neumark, D., & Corella, L. F. M. (2021). Do minimum wages reduce employment in developing countries? A survey and exploration of conflicting evidence. World Development, 137, 105165.
Rama, M. (2001). The consequences of doubling the minimum wage: the case of Indonesia. ILR Review, 54(4), 864–881.
Samart, W., & Kilenthong, W. T. (2024). Minimum Wage Effects on Labor Market Outcomes: Evidence from Thailand. Thailand and The World Economy, 42(1), 1–21.
Samutpradit, S. (2023). Employment effects of minimum wages in a dual economy: Evidence from Thailand. Journal of Development Economics, 103213.
Strobl, E., & Walsh, F. (2016). Monopsony, minimum wages and migration. Labour Economics, 42, 221–237.

  1. การที่ Jales (2018) และ Engbom & Moser (2022) พบผลต่างกันสำหรับประเทศบราซิล น่าจะเป็นเพราะ Engbom & Moser (2022) ใช้ข้อมูลลูกจ้างชายเท่านั้น และเป็นข้อมูล administrative ส่วน Jales (2018) ใช้ข้อมูลของลูกจ้างทั้งชายและหญิง↩
ธนิสา ทวิชศรี
ธนิสา ทวิชศรี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ศุภนิจ ปิยะพรมดี
ศุภนิจ ปิยะพรมดี
University College London
นฎา วะสี
นฎา วะสี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Labor and Demographic EconomicsDevelopment
Tags: minimum wagesemploymentlabor market
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email