Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/6da7f9339608c9cdf204c33f86b991eb/41624/cover.jpg
10 ธันวาคม 2567
20241733788800000

บัตรคนจน ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน?

กรอบคิดทางเศรษฐศาสตร์เพื่อออกแบบและประเมินประสิทธิภาพโครงการบัตรคนจน
พิทวัส พูนผลกุลธนพล กองพาลีธนิสา ทวิชศรี
บัตรคนจน ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน?
note

บทความนี้อยู่ในชุดบทความ “บัตรคนจน” ซึ่งประกอบด้วย 2 บทความย่อย คือ ตอนที่ 1: บัตรคนจนคัดกรอง “คนจน” ได้ดีแค่ไหน? และ ตอนที่ 2: เราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

excerpt

โครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ หรือที่เรียกกันโดยทั่วไปว่าโครงการ “บัตรคนจน” จัดเป็นนโยบายเงินให้เปล่า (cash transfers) ลักษณะหนึ่ง ซึ่งเป็นเครื่องมือกระจายรายได้จากคนรวยไปสู่คนจนเพื่อสร้างความคุ้มครองทางสังคม และมีบทบาทสำคัญในการแก้ปัญหาความยากจนเฉพาะหน้า1 ในปี 2023 มีผู้ได้รับบัตรคนจนจำนวน 14.6 ล้านคน คิดเป็น 6 เท่าของคนไทยที่มีระดับการบริโภคอยู่ต่ำกว่าเส้นความยากจนซึ่งมีจำนวน 2.39 ล้านคน ในปีเดียวกัน2 บทความนี้ประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนที่ผ่านมาโดยวิเคราะห์ข้อมูลการสำรวจเศรษฐกิจและสังคมของครัวเรือน (Socio-Economic Survey: SES) และสร้างกรอบประเมินประสิทธิภาพและความคลาดเคลื่อนของโครงการบัตรคนจนใน 3 ขั้น คือ ขั้นออกแบบเกณฑ์คุณสมบัติ (design error) ขั้นคัดกรองคุณสมบัติของผู้เข้าร่วม (screening error) และขั้นให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหลังจากที่คัดกรองแล้ว (time-lag error)

รายละเอียดโครงการบัตรคนจนของไทย

โครงการบัตรคนจนของไทยมีการเปิดให้ลงทะเบียน 2 รอบ รอบแรกในปี 2017 และรอบที่สองในปี 2022 โดยสามารถลงทะเบียนได้ทั้งผ่านช่องทางออนไลน์บนเว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง หรือผ่านหน่วยงานภาครัฐต่าง ๆ เช่น สำนักงานคลังจังหวัด ที่ว่าการอำเภอ สำนักงานเขต หรือธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์ฯ ทุกสาขา โดยในรอบปี 2017 ผู้ที่มีสิทธิได้รับบัตรต้องมีคุณสมบัติครบถ้วนตามเกณฑ์ 5 ข้อ และในรอบปี 2022 มีการเพิ่มเกณฑ์คุณสมบัติอีก 3 ข้อ พร้อมปรับปรุงรายละเอียดของเกณฑ์คุณสมบัติเดิมบางประการ (รายละเอียดตามตารางที่ 1) ซึ่งภาครัฐมีการเชื่อมโยงฐานข้อมูลของหน่วยงานของรัฐเพื่อระบุว่าผู้ลงทะเบียนมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์หรือไม่

ตารางที่ 1: คุณสมบัติผู้มีสิทธิได้รับบัตรคนจน
รอบลงทะเบียนปี 2017รอบลงทะเบียนปี 2022
มีสัญชาติไทยมีสัญชาติไทย
อายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไปอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป
ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท/ปี*ว่างงานหรือมีรายได้ทั้งสิ้นไม่เกิน 100,000 บาท/ปี*
มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท*มีสินทรัพย์ทางการเงินรวมกันไม่เกิน 100,000 บาท*
ไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือหากเป็นต้องเป็นไปตามเงื่อนไขไม่เป็นเจ้าของกรรมสิทธิอสังหาริมทรัพย์ตามกฎหมาย หรือหากเป็นต้องเป็นไปตามเงื่อนไข
ต้องไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง ข้าราชการ ผู้รับบำเหน็จบำนาญ เป็นต้น
ต้องไม่มีเงินกู้หรือมีเงินกู้ไม่เกินหลักเกณฑ์
ไม่มีบัตรเครดิต
* เกณฑ์รายได้และสินทรัพย์ทางการเงินประเมินต่อคนในปี 2017 และเปลี่ยนเป็นเกณฑ์เฉลี่ยต่อคนในครอบครัวในปี 2022; ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่เว็บไซต์ของกระทรวงการคลัง

โดยขั้นตอนตั้งแต่การเปิดลงทะเบียนจนถึงเริ่มใช้งานบัตรได้ใช้ระยะเวลา 7–8 เดือน (รายละเอียดตามตารางที่ 2) และผู้ที่ได้รับบัตรคนจนจะได้รับสิทธิประโยชน์ 5 อย่าง ประกอบไปด้วย

  1. ได้รับวงเงินซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อการเกษตรจากธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น (ร้านธงฟ้า) และร้านอื่น ๆ ที่กระทรวงพาณิชย์กำหนด โดยมีวงเงิน 200–300 และ 300 บาทสำหรับโครงการรอบปี 2017 และ 2022 ตามลำดับ
  2. ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มจากร้านค้าที่กระทรวงพลังงานกำหนด 45 บาท และ 80 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน สำหรับรอบปี 2017 และ 2022 ตามลำดับ
  3. ค่าเดินทางผ่านระบบขนส่งสาธารณะ โดยในรอบปี 2017 มีวงเงินสำหรับรถ บขส. 500 บาทต่อเดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาทต่อเดือน แต่หากผู้ถือบัตรอาศัยอยู่ในกรุงเทพฯ และปริมณฑลจะได้ค่ารถ ขสมก. และรถไฟฟ้า 500 บาทต่อเดือน สำหรับรอบปี 2022 มีวงเงินรวม 750 บาทต่อคนต่อเดือนสำหรับรถสาธารณะ
  4. เงินช่วยเหลือค่าไฟฟ้า 315 ต่อครัวเรือนต่อเดือน และค่าน้ำประปา 100 บาทต่อครัวเรือนต่อเดือน
  5. เบี้ยผู้พิการเพิ่มเติม 200 บาทต่อเดือน3
ตารางที่ 2: ลำดับเวลาของโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ
ลำดับเวลารอบคัดกรอง 2017รอบคัดกรอง 2022
เปิดลงทะเบียน3 เมษายน–15 พฤษภาคม 2017
(ผู้ลงทะเบียนรวม 14.2 ล้านคน)
5 กันยายน–31 ตุลาคม 2022
(ผู้ลงทะเบียนรวม 20.7 ล้านคน)
ตรวจสอบข้อมูลพฤษภาคม–สิงหาคม 2017กันยายน 2022
ประกาศผลในภาพรวมสิงหาคม–กันยายน 2017
(ผ่านเกณฑ์ 11.47 ล้านคน)
มีนาคม 2023
(ผ่านเกณฑ์ 14.6 ล้านคน)
ตรวจสอบรายชื่อ15 กันยายน 20171 มีนาคม 2023
เริ่มใช้1 ตุลาคม 20171 เมษายน 2023

บัตรคนจนกับฐานข้อมูล SES

บทความนี้วิเคราะห์ประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนบนฐานข้อมูล SES ซึ่งมีกลยุทธ์การสุ่มสำรวจ (sampling strategy) ที่สะท้อนภาพครัวเรือนทั้งหมดของไทย และมีข้อมูลที่จำเป็นในการวิเคราะห์โครงการบัตรคนจนสามส่วนสำคัญ คือ

  1. ข้อมูลคุณลักษณะหลายประการที่ตรงกับคุณลักษณะของเกณฑ์บัตรคนจนซึ่งช่วยให้ประเมินได้ว่าใครมีคุณสมบัติเข้าเกณฑ์และไม่เข้าเกณฑ์บ้าง
  2. ข้อมูลผลประโยชน์จริงที่ได้จากโครงการบัตรคนจน (เฉพาะรอบการสำรวจปี 2021 และ 2023) ที่สามารถนำมาประเมินว่าใครได้รับสิทธิจากบัตรคนจนบ้าง
  3. ข้อมูลการบริโภคซึ่งสามารถใช้เป็นตัวชี้วัดระดับความยากจนได้

ซึ่งข้อมูลทั้งสามส่วนช่วยให้เราสามารถทำการวิเคราะห์โดยใช้วิธีทางสถิติเพื่อประเมินความคลาดเคลื่อนของโครงการบัตรคนจน

อย่างไรก็ดี รายละเอียดของโครงการบัตรคนจนและข้อมูลใน SES มีความแตกต่างกันบางประการ จึงจำเป็นต้องมีการใช้ข้อสมมติในการปรับข้อมูลเพื่อนำมาวิเคราะห์ และเนื่องจาก SES มีการสำรวจในระดับครัวเรือน บทความนี้จึงแปลงข้อมูลระดับครัวเรือนเป็นระดับบุคคลให้สอดคล้องกับบางเกณฑ์ของโครงการ โดยคำนวนจำนวนบัตรคนจนต่อครัวเรือนจากผลประโยชน์รวมที่แต่ละครัวเรือนได้จากโครงการบัตรคนจน (รวมในรูปเงินและสิ่งของ) หารด้วยค่าเฉลี่ยสิทธิประโยชน์ที่ผู้ถือบัตรแค่ละคนได้รับต่อปี4 นอกจากนี้ เรายังสมมติให้สมาชิกทุกคนในครัวเรือนเดียวกันมีค่าคุณสมบัติเท่ากัน โดยพิจารณาเฉพาะสมาชิกครัวเรือนที่มีอายุมากกว่า 18 ปีตามเกณฑ์บัตรคนจนเท่านั้น ยกตัวอย่าง หากครัวเรือน A มีสมาชิก 4 คนที่อายุมากกว่า 18 ปี และได้รับบัตร 1 ใบ ในการวิเคราะห์จะแยกครัวเรือนนี้ออกเป็น 4 คนที่มีคุณสมบัติเหมือนกัน5 โดยมี 1 คนได้รับบัตรและอีก 3 คนไม่ได้รับบัตร การแบ่งลักษณะนี้สอดคล้องกับเกณฑ์รายได้และสินทรัพย์ของรอบโครงการบัตรคนจนปี 2022 ที่ใช้เกณฑ์เป็นค่าเฉลี่ยต่อครัวเรือน (สมาชิกในครัวเรือนเดียวกันจึงมีค่ารายได้และสินทรัพย์ที่นำมาประเมินสิทธิการได้รับบัตรเหมือนกัน) ดังนั้น 1 คนจาก 4 คนที่ได้รับบัตรในตัวอย่างข้างต้นก็สะท้อนโอกาสที่ครัวเรือนที่มีคุณลักษณะดังกล่าวจะได้รับบัตรคนจน

เมื่อเทียบจำนวนบัตรคนจนจากข้อสมมติข้างต้น พบว่าผู้ถือบัตรคนจนที่คำนวนจาก SES ปี 2023 มีจำนวน 11.6 ล้านคน เทียบกับตัวเลขจริงที่ 13.2–14.6 ล้านคน6 ในขณะที่มูลค่าสิทธิประโยชน์รวมผ่านบัตรคนจนที่คำนวณจาก SES ปี 2023 มีมูลค่า 47.5 หมื่นล้านบาท เทียบกับมูลค่าจริงที่ 35–65.4 หมื่นล้านบาท7 ซึ่งน่าจะพอให้เราสามารถใช้ข้อสมมติข้างต้นมาประเมินประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนได้ดีระดับหนึ่ง ทั้งนี้ จำเป็นต้องตีความผลการประเมินอย่างระมัดระวังเนื่องจากข้อสมมติต่าง ๆ ข้างต้นอาจทำให้การประเมินมีความคลาดเคลื่อน รวมถึง sampling strategy ของฐานข้อมูล SES ออกแบบให้สะท้อนประชากรไทยทั้งประเทศในระดับครัวเรือน ซึ่งอาจทำให้ข้อมูลมีความคลาดเคลื่อนเมื่อเปรียบเทียบในระดับบุคคลบ้างอีกด้วย

บัตรคนจนตกอยู่ในมือ “คนจน” จริง ๆ มากแค่ไหน?

บทความนี้สร้างกรอบการวิเคราะห์ประสิทธิภาพของโครงการบัตรคนจนของไทย โดยประเมินสาเหตุหลัก 3 ประการที่ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อน คือ

  1. การตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่ไม่สอดคล้องกับคุณสมบัติของคนจน (design error)
  2. การไม่สามารถคัดกรองคุณสมบัติได้อย่างแม่นยำ (screening error)
  3. การคัดกรองแล้วให้สิทธิประโยชน์เป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการคัดกรองซ้ำ (time-lag error)

เห็นได้ว่า ทั้ง 3 สาเหตุของความคลาดเคลื่อนข้างต้นเกิดขึ้นในแต่ละขั้นตอนหรือช่วงเวลาของโครงการ ได้แก่ ช่วงการออกแบบ ช่วงการคัดกรอง และช่วงที่ใช้บัตรไปแล้วระยะหนึ่ง ตามลำดับ (รูปที่ 1) โดยสาเหตุทั้งหมดร่วมกันกำหนดว่ามีคนจนที่ไม่ได้รับบัตรมากแค่ไหน และมีคนที่ไม่จนแต่ยังได้รับบัตรมากแค่ไหน8

รูปที่ 1: ภาพกรอบวิเคราะห์ประสิทธิภาพโครงการบัตรคนจนเทียบกับแต่ละขั้นตอน

ภาพกรอบวิเคราะห์ประสิทธิภาพโครงการบัตรคนจนเทียบกับแต่ละขั้นตอน

1. ความคลาดเคลื่อนที่มาจากการกำหนดคุณสมบัติผู้รับบัตรที่อาจไม่ตรงกับคุณสมบัติของคนจน (design error)

World Bank (2001) ให้นิยาม “ความยากจน” ว่าเป็นการขาดแคลนความเป็นอยู่ที่ดี (pronounced deprivation in well-being) แต่เกณฑ์การวัดความยากจนในทางปฏิบัติทำได้หลายวิธี ตั้งแต่การวัดในรูปตัวเงินที่สะท้อนผ่านระดับรายได้หรือการบริโภค ไปจนถึงการวัดด้วยเกณฑ์ที่กว้างขึ้นผ่านปัจจัยที่ไม่ใช้รูปของตัวเงิน เช่น สุขภาพ อายุขัย การศึกษา และเวลาว่างที่มีในแต่ละวัน

สำหรับงานศึกษานี้จะประเมินความยากจนโดยใช้เกณฑ์ระดับการบริโภค ซึ่งเป็นหนึ่งในวิธีที่นิยมใช้กัน เพราะมักมองว่าระดับการบริโภคสามารถสะท้อนความเป็นอยู่ที่ดีได้ตรงกว่าระดับรายได้ และไม่ผันผวนเท่ารายได้ (Meyer & Sullivan, 2003) เช่น คนที่ทำงานตามฤดูกาลจะมีรายได้เพียงบางช่วงของปีแต่ยังสามารถเกลี่ยระดับการบริโภคได้ นอกจากนี้ การวัดความยากจนจากการบริโภคยังสอดคล้องกับวิธีการของสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ที่นิยามคนจนว่า คือ คนที่มีระดับรายจ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน ซึ่งคำนวณจากค่าใช้จ่ายอาหารและสินค้าบริการที่ปัจเจกบุคคลจำเป็นต้องใช้ในการดำรงชีวิตขั้นพื้นฐาน (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ที่รายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย ปี 2566)

ทั้งนี้ การคัดกรองคนจนจากระดับการบริโภคไม่ใช่เรื่องที่ง่าย เพราะรัฐมักขาดข้อมูลว่าแต่ละคนมีระดับการบริโภคจริง ๆ เท่าไหร่ ดังนั้น วิธีที่นิยมใช้กันจึงเป็นการคาดการณ์ผ่านคุณลักษณะที่มองเห็นได้ (observable characteristics) และมีความสัมพันธ์กับการบริโภคแทน หรือที่เรียกว่า proxy means test (PMT) ซึ่งการคัดกรองคนจนเมื่อรัฐไม่มีข้อมูลการบริโภค แต่ต้องประมาณการณ์จากเกณฑ์คุณสมบัติที่รัฐมีข้อมูล ก็สามารถจัดเป็น PMT ได้ลักษณะหนึ่ง9

แล้วโครงการบัตรคนจนออกแบบเกณฑ์การคัดกรองที่สะท้อนคนจนจริง ๆ ได้ดีแค่ไหน?

การประเมินประสิทธิภาพของ PMT โดยทั่วไปทำได้โดยการทดสอบว่าเกณฑ์คุณสมบัติคัดกรองที่ใช้ (proxy) สามารถคาดการณ์ระดับการบริโภคจริงของครัวเรือนได้ดีแค่ไหน โดยทดสอบด้วยการสุ่มแบ่งครึ่งข้อมูลออกเป็นสองชุด ได้แก่

  1. ชุด training (sample size = 51,474)
  2. ชุด testing (sample size = 51,842)

แล้วใช้ข้อมูลชุด training ในการหาความสัมพันธ์ระหว่างระดับการบริโภคหลังหักมูลค่าบัตรคนจน (ตัวแปรต้น) และคุณสมบัติที่ถูกใช้เพื่อคัดกรองในโครงการบัตรคนจน (ตัวแปรตาม)10 หลังจากนั้นจึงนำค่าสัมประสิทธิของความสัมพันธ์ที่ได้มาคาดการณ์ระดับการบริโภค (predicted consumption) ด้วยข้อมูลคุณสมบัติคัดกรองในชุด testing ซึ่งเมื่อเราเปรียบเทียบการบริโภคคาดการณ์และการบริโภคจริงในชุดข้อมูล testing ก็จะทำให้สามารถประเมินประสิทธิภาพของ PMT ได้

ตัวแปรต้นในแบบจำลองสามารถอธิบายความผันแปรของตัวแปรตาม (R2) ได้ประมาณ 68%11 โดยการที่แบบจำลองไม่สามารถคาดการณ์ระดับการบริโภคได้ถูกต้องทั้งหมด สะท้อนว่าการตัดสินให้บัตรคนจนบนตามระดับการบริโภคคาดการณ์จะเกิดความผิดพลาดได้ รูปที่ 2 แสดงการบริโภคคาดการณ์ในเกณฑ์นอน และการบริโภคที่แท้จริงในเกณฑ์ตั้งบนข้อมูลชุด testing โดยหากขีดเส้นความยากจน (เส้นสีเขียว) ลงบนทั้งสองแกนจะทำให้สามารถแบ่งกลุ่มคนออกเป็น 4 กลุ่ม คือ

  1. ด้านซ้ายล่าง คือ กลุ่มคนยากจนจริงที่ได้รับบัตรคนจน (correct inclusion)
  2. ด้านขวาบน คือ กลุ่มคนที่ไม่ยากจนและไม่ได้รับบัตรคนจน (correct exclusion)
  3. ด้านขวาล่าง คือ กลุ่มตกหล่น (exclusion error) หมายถึงกลุ่มที่ยากจน (ระดับการบริโภคจริงต่ำกว่าเส้นความยากจน) แต่ไม่ได้รับบัตรคนจนเพราะแบบจำลองประเมินว่าการบริโภคคาดการณ์สูงกว่าเส้นความยากจน
  4. ด้านซ้ายบน คือ กลุ่มรั่วไหล (inclusion error) ซึ่งเป็นกลุ่มที่มีการบริโภคจริงสูงกว่าเส้นความยากจน แต่วิธี PMT ประเมินว่าเป็นกลุ่มที่ยากจน เห็นได้ว่าความคลาดเคลื่อนลักษณะนี้ย่อมเกิดขึ้นใน PMT เพราะข้อจำกัดของข้อมูลที่ทำให้เราไม่สามารถระบุคนจนได้แม่นยำ
รูปที่ 2: เทียบการบริโภคคาดการณ์จากคุณสมบัติคัดกรอง การบริโภคจริง และเส้นความยากจน

เทียบการบริโภคคาดการณ์จากคุณสมบัติคัดกรอง การบริโภคจริง และเส้นความยากจน

อย่างไรก็ดี นอกจากความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากข้อจำกัดทางข้อมูลที่เลี่ยงไม่ได้ ยังอาจมีความคลาดเคลื่อนที่มาจากการออกแบบเกณฑ์ที่อาจไม่ได้สอดคล้องกับคุณสมบัติของคนจน โดยหากใช้เกณฑ์การคัดกรองจริงของโครงการบัตรคนจนมาคาดการณ์ระดับการบริโภคจากความสัมพันธ์ดังกล่าว จะได้การบริโภคคาดการณ์ที่ 9,295 บาทต่อเดือน (เส้นสีน้ำเงินประในรูปที่ 3 แสดงค่า log) ซึ่งสูงกว่าระดับเส้นความยากจนถึง 3 เท่า ซึ่งการใช้เกณฑ์ดังกล่าวในการคัดกรองสะท้อนว่าผู้ออกแบบให้ความสำคัญกับการลดปัญหาการตกหล่นน้อยโดยไม่ได้คำนึงถึงปัญหารั่วไหลมากนักตั้งแต่ขั้นการออกแบบ (design error)

รูปที่ 3: เทียบการบริโภคคาดการณ์ การบริโภคจริง เส้นความยากจน และระดับการบริโภคจากเกณฑ์คัดกรอง

เทียบการบริโภคคาดการณ์ การบริโภคจริง เส้นความยากจน และระดับการบริโภคจากเกณฑ์คัดกรอง

2. ความคลาดเคลื่อนที่มาจากการคัดกรองผู้รับสิทธิได้อย่างไม่แม่นยำ (screening error)

ความคลาดเคลื่อนในขั้นตอนนี้เกิดจากการที่รัฐอาจไม่สามารถคัดกรองคนที่มีคุณสมบัติตรงกับเกณฑ์ที่กำหนดไว้ได้ ซึ่งสาเหตุหนึ่งอาจเกิดจากการขาดข้อมูลที่ครบถ้วนในการคัดกรอง เช่น แม้รัฐจะกำหนดว่าผู้ได้รับสิทธิต้องมีรายได้ต่ำกว่า 1 แสนบาทต่อปี แต่หากรัฐไม่รู้รายได้ที่แท้จริงของประชากรทุกคนก็อาจมีคนรายได้สูงบางคนที่ได้รับสิทธิ์

แล้วโครงการบัตรคนจนมี screening error มากแค่ไหน?

เราพอสามารถตอบคำถามนี้ได้โดยเปรียบเทียบคุณสมบัติของผู้ที่ได้รับบัตร (เรียกว่ากลุ่ม SWC) และผู้ที่ไม่ได้รับบัตร (เรียกว่ากลุ่ม Non-SWC) ในฐานข้อมูล SES ซึ่งได้มีการสอบถามการรับผลประโยชน์จากบัตรคนจนและมีข้อมูลรายได้และสินทรัพย์อย่างละเอียดในปี 2021 และ 2023 โดยในบทความนี้จะแสดงผลของข้อมูลปี 2023 (ท่านสามารถดูผลของปี 2021 ได้ที่ภาคผนวก)

บทความนี้จะประเมินความแม่นยำในการคัดกรองบนตัวอย่างคุณสมบัติสำคัญ 2 ประการ คือ รายได้และสินทรัพย์ รูปที่ 4 แสดงรายได้หลังหักมูลค่าบัตรคนจนในแกนนอน โดยรูปซ้ายมือแสดงจำนวนคนที่อยู่ในแต่ละระดับรายได้ และรูปทางขวามือแสดงค่าสัดส่วน (หารต่อจำนวนคนในกลุ่ม SWC และ Non-SWC) โดยมีการแปลงข้อมูลระดับครัวเรือนออกเป็นระดับบุคคลตามข้อสมมติข้างต้นและใช้น้ำหนักครัวเรือน12 จากข้อมูล SES มาประกอบการคำนวณ ในภาพรวมกลุ่ม SWC มีการกระจุกตัวในระดับรายได้ต่ำมากกว่ากลุ่ม Non-SWC ทั้งนี้ สัดส่วนของคนที่ผ่านเกณฑ์รายได้แต่ไม่ได้รับบัตรคนจนคิดเป็น 58.5% ของคนที่ผ่านเกณฑ์รายได้ทั้งหมด และมีสัดส่วนคนที่ได้รับบัตรแต่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้คิดเป็น 11.5% ของคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์รายได้ทั้งหมด

รูปที่ 4: จำนวน (ซ้าย) และสัดส่วน (ขวา) ของผู้ได้รับบัตรและไม่ได้รับบัตรคนจนในแต่ละระดับรายได้

จำนวน (ซ้าย) และสัดส่วน (ขวา) ของผู้ได้รับบัตรและไม่ได้รับบัตรคนจนในแต่ละระดับรายได้

หมายเหตุ: สัดส่วนของกลุ่ม SWC (Non-SWC) คิดจากจำนวนคนในกล่ม SWC (Non-SWC) นั้น ๆ

รูปที่ 5 แสดงข้อมูลในลักษณะเดียวกันในด้านของสินทรัพย์ทางการเงิน จากรูปเห็นได้ว่าการกระจายตัวของคุณลักษณะทางสินทรัพย์ทางการเงินของกลุ่ม SWC และ Non-SWC ค่อนข้างใกล้เคียงกัน หากพิจารณาเฉพาะบนคุณสมบัตินี้ มีสัดส่วนคนที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับบัตรคิดเป็น 74% ของคนที่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด และมีสัดส่วนคนที่ได้รับบัตรแต่ไม่ผ่านเกณฑ์คิดเป็น 8.2% ของคนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ทั้งหมด

รูปที่ 5: จำนวน (ซ้าย) และสัดส่วน (ขวา) ของผู้ได้รับบัตรและไม่ได้รับบัตรคนจนในแต่ละระดับสินทรัพย์

จำนวน (ซ้าย) และสัดส่วน (ขวา) ของผู้ได้รับบัตรและไม่ได้รับบัตรคนจนในแต่ละระดับสินทรัพย์

หมายเหตุ: สัดส่วนของกลุ่ม SWC (Non-SWC) คิดจากจำนวนคนในกล่ม SWC (Non-SWC) นั้น ๆ

ผู้ถือบัตรคนจนที่ไม่ผ่านเกณฑ์ ไม่ว่าจะเกณฑ์รายได้หรือเกณฑ์สินทรัพย์ทางการเงิน สะท้อนความคลาดเคลื่อนของการคัดกรอง ทั้งนี้ เมื่อประเมินแยกแต่ละเกณฑ์ เราอาจไม่สามารถสรุปได้ว่าผู้ที่ผ่านเกณฑ์แต่ไม่ได้รับบัตรในเกณฑ์หนึ่ง ๆ จะเป็นผู้ตกหล่น เพราะอาจเป็นคนที่ไม่ผ่านคุณสมบัติในเกณฑ์อื่น ๆ ได้

นอกจากนี้ สาเหตุที่คุณสมบัติของผู้ถือบัตรไม่ตรงกับเกณฑ์ส่วนหนึ่งก็อาจเกิดจากการที่ข้อมูล SES ไม่ได้แสดงข้อมูลในปีที่มีการคัดกรองโดยตรง ซึ่งการคัดกรองแล้วให้สิทธิต่อเนื่องในแต่ละปีก็ทำให้เกิดความคลาดเคลื่อนอีกลักษณะหนึ่งที่จะกล่าวถึงในหัวข้อถัดไป

3. ความคลาดเคลื่อนที่เกิดจากการที่คัดกรองแล้วให้สิทธิประโยชน์บัตรคนจนเป็นเวลาหลายปีโดยไม่มีการคัดกรองซ้ำ (time-lag error)

คุณสมบัติของแต่ละคนมักมีการเปลี่ยนแปลงเมื่อเวลาผ่านไป บางคนที่ยากจนในปีที่มีการคัดกรองอาจหลุดพ้นจากความยากจนในปีถัดมา หรือคนที่ไม่จนก็อาจกลายเป็นคนจนได้เช่นกัน

แล้วเกณฑ์การคัดกรองมี time-lag error มากแค่ไหน?

เพื่อประเมินรายได้ที่เปลี่ยนเมื่อเวลาผ่านไป บทความนี้จำลองพลวัติรายได้ครัวเรือนไทยโดยใช้ค่าพารามิเตอร์ที่มาจากการประมาณค่าจากฐานข้อมูล Townsend ซึ่งเป็นฐานข้อมูลที่ติดตามครัวเรือนไทยมากกว่า 10 ปี13 ซึ่งพลวัติรายได้นั้นมีส่วนสำคัญหลักสองส่วน ได้แก่ รายได้ที่เปลี่ยนไปตามช่วงอายุของครัวเรือน (age profile) และ รายได้ที่ไม่แน่นอน (income shock)14 ครัวเรือนถูกแบ่งออกเป็นสองกลุ่มตามระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน ได้แก่ กลุ่มที่จบการศึกษาสูงสุดไม่เกินมัธยมศึกษา และระดับอุดมศึกษาขึ้นไป เนื่องจากสองกลุ่มนี้มีทั้งรายได้ตามช่วงอายุ และความไม่แน่นอนของรายได้ที่ต่างกันไป โดยครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาไม่เกินมัธยมศึกษามักเป็นแรงงานนอกระบบ ซึ่งมีความไม่แน่นอนของรายได้สูง หรือเป็นลูกจ้างแรงงานทักษะต่ำที่รายได้อาจไม่โตตามอายุมากนัก จึงมี age profile ของรายได้ที่ค่อนข้างแบนกว่า15

รูปที่ 6: การกระจายตัวของค่าคาดการณ์รายได้ 4 ปี แบ่งตามกลุ่มอายุ และการศึกษา

การกระจายตัวของค่าคาดการณ์รายได้ 4 ปี แบ่งตามกลุ่มอายุ และการศึกษา

รูปที่ 6 แสดงพลวัติของการกระจายรายได้ของครัวเรือนจากการจำลองแยกตามระดับการศึกษา หากสมมติให้ครัวเรือนมีรายได้ในปีแรกเท่ากับเกณฑ์ที่ 100,000 บาท/ปี16 ซึ่งผ่านเกณฑ์พอดีและได้รับบัตรในปีแรก แต่ไม่มีการคัดกรองซ้ำในปีถัดมา ผลการจำลองพบว่า กลุ่มคนที่มีการศึกษาต่ำซึ่งเป็นกลุ่มที่รายได้โตน้อยและมีความไม่แน่นอนสูง มีสัดส่วนที่จะมีรายได้เกินเกณฑ์ประมาณ 52% ในปีแรก และเพิ่มขึ้นถึงประมาณ 60–70% เมื่อผ่านไป 5 ปี (พื้นที่เหนือเส้นประสีแดง) ซึ่งสัดส่วนนี้สูงกว่าสำหรับกลุ่มครัวเรือนอายุน้อยเนื่องจากกลุ่มนี้มักมีรายได้ที่โตเร็วกว่า ส่วนกลุ่มคนที่มีการศึกษาสูงนั้นโดยเฉลี่ยมีอัตราการโตของรายได้ที่สูงกว่า มีโอกาสได้รายได้เกินเกณฑ์ 56% ในปีแรก และเพิ่มขึ้นถึงกว่า 70–89% เมื่อผ่านไป 5 ปี อย่างได้ก็ดี มีเพียง 3.7% ของครัวเรือนที่มีระดับการศึกษาสูงกว่าอุดมศึกษาเท่านั้นที่ได้รับบัตรคนจน ทั้งนี้ 78.5% ของครัวเรือนไทยมีหัวหน้าครัวเรือนที่ได้รับการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา (ตารางที่ 3) และ 97% ครัวเรือนที่ได้รับบัตรคนจนมีหัวหน้าครัวเรือนที่ระดับการศึกษาต่ำกว่าระดับอุดมศึกษา

ตารางที่ 3: สัดส่วนครัวเรือนไทยแบ่งตามระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือน และสัดส่วนครัวเรือนที่ได้รับบัตรคนจน
ระดับการศึกษาของหัวหน้าครัวเรือนShare ต่อจำนวนครัวเรือนทั้งหมดShare ต่อจำนวนครัวเรือนที่ได้รับบัตรคนจนทั้งหมด
ประถมหรือมัธยมศึกษา78.51%97.14%
อุดมศึกษาขึ้นไป21.49%2.86%
รวม100.00%100.00%
ที่มา: ข้อมูล SES ปี 2023

ความคลาดเคลื่อนจากสามสาเหตุส่งผลให้ผู้ถือบัตรคนจนบางส่วนอาจไม่ได้ยากจนจริง

แม้ว่าบทความนี้จะไม่ได้แยกว่าแต่ละสาเหตุข้างต้นส่งผลให้เกิดความคลาดเคลื่อนสุดท้ายมากน้อยแค่ไหน แต่คงพอกล่าวได้ว่าแต่ละสาเหตุร่วมกันส่งผลให้มีผู้ที่ได้รับบัตรคนจนที่ไม่ได้ยากจนจริง ๆ โดยรูปที่ 7 แสดงระดับการบริโภคต่อหัวหลังหักมูลค่าบัตรคนจน (สำหรับกลุ่มผู้ถือบัตรคนจน) ในแกนนอนและสัดส่วนคนที่อยู่ในแต่ละระดับการบริโภคในแกนตั้ง โดยแปลงข้อมูลระดับครัวเรือนจาก SES ปี 2023 เป็นระดับบุคคลตามข้อสมมติข้างต้นและคำนึงถึงน้ำหนักของครัวเรือนแล้ว ซึ่งหากสมมติให้คนยากจนคือคนที่มีระดับการบริโภคต่ำกว่าเส้นความยากจน (สีแดง) ด้วยข้อสมมติข้างต้น พบว่ามีสัดส่วนการรั่วไหลคิดเป็นประมาณ 20.7% (มีคนไม่จน 10.1 ล้านคน ที่ได้รับบัตรคนจน จากคนไม่จนทั้งหมด 49 ล้านคน) และมีสัดส่วนการตกหล่นคิดเป็นประมาณ 40.4% (มีคนจน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้รับบัตรคนจน จากคนจนทั้งหมด 3.5 ล้านคน)

รูปที่ 7: จำนวน (ซ้าย) และสัดส่วน (ขวา) ของผู้ได้รับบัตรและไม่ได้รับบัตรคนจนในแต่ละระดับการบริโภค

จำนวน (ซ้าย) และสัดส่วน (ขวา) ของผู้ได้รับบัตรและไม่ได้รับบัตรคนจนในแต่ละระดับการบริโภค

หมายเหตุ: สัดส่วนของกลุ่ม SWC (Non-SWC) คิดจากจำนวนคนในกล่ม SWC (Non-SWC) นั้น ๆ

บทสรุป

บทความนี้สร้างกรอบเพื่อวิเคราะห์โครงการบัตรคนจนของไทย โดยประเมินด้วยข้อมูล SES และข้อสมมติบางประการเพื่อให้สามารถเปรียบเทียบข้อมูล SES กับเกณฑ์ของโครงการบัตรคนจน เพื่อตอบคำถามว่าผู้ถือบัตรคนจน “ยากจน” จริงหรือไม่

กรอบการวิเคราะห์ประเมินประสิทธิภาพของโครงการใน 3 ขั้น และพบว่า

  1. โครงการบัตรคนจนมีการตั้งเกณฑ์คุณสมบัติที่สัมพันธ์กับการบริโภคที่สูงกว่าเส้นความยากจนถึง 3 เท่า จึงอาจไม่ได้ออกแบบเพื่อให้เงินกลุ่มคนยากจนเท่านั้น (design error)
  2. เมื่อกำหนดเกณฑ์คุณสมบัติแล้ว รัฐมีการคัดกรองที่ไม่ตรงกับคุณสมบัติที่ตั้งไว้อยู่บ้างในเกณฑ์ของรายได้และสินทรัพย์ทางการเงิน เป็นต้น
  3. การที่รัฐให้สิทธิประโยชน์ต่อเนื่องหลายปีโดยไม่ได้คัดกรองใหม่ ไม่ได้คำนึงถึงการเปลี่ยนแปลงคุณสมบัติของผู้ถือบัตร เช่น ครัวเรือนที่ระดับรายได้เข้าเกณฑ์ในปีที่คัดกรอง ก็มีแนวโน้มที่มีรายได้เกินเกณฑ์เมื่อเวลาผ่านไป ส่งผลให้เกิดปัญหารั่วไหลมากขึ้นหากไม่มีการคัดกรองซ้ำ

โดยความคลาดเคลื่อนทั้ง 3 ขั้น พอช่วยให้เราเข้าใจประสิทธิภาพของโครงการในภาพรวม ซึ่งด้วยข้อสมมติในบทความนี้ เราพอสามารถประเมินได้ว่า ปัญหารั่วไหลคิดเป็นประมาณ 20.7% (มีคนไม่จน 10.1 ล้านคน ที่ได้รับบัตรคนจน จากคนไม่จนทั้งหมด 49 ล้านคน) และมีสัดส่วนการตกหล่นคิดเป็นประมาณ 40.4% (มีคนจน 1.4 ล้านคน ที่ไม่ได้รับบัตรคนจน จากคนจนทั้งหมด 3.5 ล้านคน)

ท่านสามารถอ่านบทความตอนที่ 2 ที่จะช่วยตอบว่าแล้วเราจะปรับโครงการบัตรคนจนให้ดีขึ้นได้อย่างไร?

เอกสารอ้างอิง

Hanna, R., & Olken, B. A. (2018). Universal basic incomes versus targeted transfers: Anti-poverty programs in developing countries. Journal of Economic Perspectives, 32(4), 201–226.
Meyer, B. D., & Sullivan, J. X. (2003). Measuring the Well-Being of the Poor Using Income and Consumption. The Journal of Human Resources, 38, 1180–1220.
Poonpolkul, P. (2023). เศรษฐศาสตร์ “เงินให้เปล่า”: หลากมิติที่รัฐต้องคิดให้กระจายรายได้อย่างมีประสิทธิภาพ (aBRIDGEd No. 22/2023). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Tawichsri, T. (2018). Consumption Responses and Redistributive Implications of Luxury Durable Tax Rebates (Discussion Paper No. 99). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
World Bank. (2001). World Development Report 2000/2001: Attacking Poverty. Oxford University Press.

  1. ดูรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหลักการการออกแบบนโยบายเงินให้เปล่าในบริบทประเทศกำลังพัฒนาได้ใน Poonpolkul (2023)↩
  2. ข้อมูลจากรายงานการวิเคราะห์สถานการณ์ความยากจนและความเหลื่อมล้ำในประเทศไทย (Poverty and Inequality Report 2023) ของสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ↩
  3. ต้องเป็นผู้พิการที่มีบัตรคนพิการและเคยได้รับเบี้ยคนพิการอยู่แล้ว↩
  4. คำนวณจากข้อมูลงบประมาณรายจ่ายรวมและจำนวนผู้ได้รับสิทธิในโครงการบัตรคนจนของรัฐปี 2023↩
  5. การบริโภคเฉลี่ยต่อหัวของสมาชิกครัวเรือน รายรับ สินทรัพย์ทางการเงิน ต่อสมาชิกครัวเรือนอายุตั้งแต่ 18 ปีขึ้นไป และสถาณะการมีวงเงินกู้ บัตรเครดิตและที่อยู่อาศัย↩
  6. SES ปี 2023 สอบถามมูลค่าบัตรคนจนที่ครัวเรือนได้รับในปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนค่าระหว่างปี 2022–2023 ซึ่งจำนวนผู้รับบัตรคนจนจริงปี 2022–2023 อยู่ที่ 13.2 และ 14.6 ล้านคน ตามลำดับ↩
  7. SES ปี 2023 สอบถามมูลค่าบัตรคนจนที่ครัวเรือนได้รับในปีที่ผ่านมา จึงสะท้อนค่าระหว่างปี 2022–2023 โดยงบประมาณจริงปี 2022–2023 อยู่ที่ 34,986.4 และ 65,413.80 ล้านบาท ตามลำดับ↩
  8. ความคลาดเคลื่อนอีกส่วนหนึ่งเกิดจากการที่ผู้เข้าเกณฑ์ไม่สมัครเข้าร่วมโครงการ ซึ่งไม่ได้ทำการวิเคราะห์ในบทความนี้↩
  9. PMT โดยทั่วไปมักพูดถึงการประมาณระดับรายได้ที่รัฐไม่ทราบ ด้วยคุณลักษณะของบุคคลซึ่งมักได้มาผ่านการทำการสำรวจ เช่น พื้นที่ของที่อยู่อาศัย ลักษณะของที่อยู่อาศัย สินทรัพย์ที่มี (เช่น บ้าน โทรศัพท์ เครื่องปรับอากาศ) ทั้งนี้ ในบริบทของงานศึกษานี้ เนื่องจากบัตรคนจนเป็นการประเมินความยากจนซึ่งบทความนี้ให้นิยามบนระดับการบริโภค ประกอบกับรัฐสามารถเชื่อมโยงฐานข้อมูลภาครัฐเพื่อประเมินคุณสมบัติตามเกณฑ์ต่าง ๆ จึงมีลักษณะการประเมินที่สามาถนำกรอบ PMT มาปรับใช้ในการวิเคราะห์↩
  10. งานศึกษานี้แปลงค่าการบริโภคเป็นค่า log ต่อหัวของสมาชิกในครัวเรือน และแปลงค่ารายรับและสินทรัพย์ทางการเงินเป็นค่า log ต่อหัวของสมาชิกครัวเรือนที่อายุมากกว่า 18 ปี สำหรับเกณฑ์วงเงินกู้ บัตรเครดิตและที่อยู่อาศัยใช้ค่า dummy ในระดับครัวเรือน ทั้งนี้ ครัวเรือนในการสำรวจ SES ทั้งหมดมีสัญชาติไทยซึ่งเข้าเกณฑ์อยู่แล้ว โดย regression ใช้วิธีการถ่วงน้ำหนักครัวเรือนจากฐานข้อมูล SES↩
  11. ใกล้เคียงกับงานศึกษาของ Hanna & Olken (2018) ที่ได้ค่า R2 อยู่ระหว่าง 0.53 และ 0.66 ในกรณีของอินโดนีเซียและเปรู↩
  12. น้ำหนักครัวเรือนสะท้อนว่าแต่ละ sample การสำรวจครัวเรือนของ SES สะท้อนจำนวนครัวเรือนในประเทศไทยจริงกี่ครัวเรือน↩
  13. การจะประมาณค่าพารามิเตอร์ income shock ของครัวเรือนได้นั้น ต้องมีข้อมูลติดตามรายได้ของครัวเรือนเดียวกันมากกว่า 3 ปีขึ้นไป ด้วยข้อจำกัดทางข้อมูล ผู้วิจัยจึงได้ใช้ค่าพารามิเตอร์ที่ประมาณค่ามาจากฐานข้อมูล Townsend โดยหากเปรียบเทียบสถิติรายได้ครัวเรือนใน SES กับครัวเรือนตัวอย่างทั้งในชนบทและเมืองจากฐานข้อมูล Townsend นั้น มีค่าเฉลี่ยของรายได้ใกล้เคียงกัน (Tawichsri, 2018, p.12)↩
  14. Income shock ในการศึกษาพลวัติรายได้นั้นมักจำลองตาม AR(1) process โดยมีการประมาณทั้งค่าความ persistent และความผันผวน ของความไม่แน่นอนของรายได้ สามารถดูรายละเอียดการประมาณค่าและค่าพารามิเตอร์ได้ที่ (Tawichsri, 2018, p.17,28)↩
  15. ดูรูป age profile ของรายได้ครัวเรือนจากข้อมูล SES ได้ที่ภาคผนวก↩
  16. หมายเหตุ: ได้ปรับเกณฑ์รายได้จาก เกณฑ์ต่อคนในครัวเรือนให้สอดคล้องกับระดับครัวเรือน และทำการจำลองสำหรับครัวเรือนกลุ่มอายุ 25, 35, 45 และ 55 ปี ตามลำดับ↩
พิทวัส พูนผลกุล
พิทวัส พูนผลกุล
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
ธนพล กองพาลี
ธนพล กองพาลี
ธนาคารแห่งประเทศไทย
ธนิสา ทวิชศรี
ธนิสา ทวิชศรี
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
Topics: Public EconomicsWelfare Economics
Tags: state welfare cardcash transferspolicy evaluation
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email