Climate change กับ เศรษฐกิจ เกี่ยวข้องกันอย่างไร?
เนื้อหาการบรรยายในงาน PIER Research Brief นี้ ถูกกลั่นกรองจากบทความ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ กับ เศรษฐกิจ (Climate Change and the Economy)
ดร.กรรณิการ์ ธรรมพานิชวงค์ สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ศ.ดร.กฤษฎ์เลิศ สัมพันธารักษ์ University of California San Diego และ คุณสวิสา พงษ์เพ็ชร University of Oxford ได้รวบรวมและสังเคราะห์งานวิจัยทั้งในและต่างประเทศผ่านบทความ PIERspectives โดยนำเสนอแนวคิดพื้นฐานเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (climate change) สถานการณ์ climate change ของโลกและของประเทศไทย ภาพจำลองการปล่อยก๊าซเรือนกระจกในอนาคตและแบบจำลองภูมิอากาศต่าง ๆ ตลอดจนผลกระทบของ climate change ต่อเศรษฐกิจในภาพรวมและภาคเศรษฐกิจต่าง ๆ โดยสรุปได้ดังนี้
สภาพภูมิอากาศของโลกตั้งแต่ในอดีตมีความแปรปรวนอยู่แล้ว แต่กิจกรรมของมนุษย์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งการใช้พลังงานเชื้อเพลิงฟอสซิลที่มากขึ้นและการเพิ่มขึ้นของประชากรที่ทำให้เกิดการเปลี่ยนแปลงการใช้ประโยชน์ที่ดินเพื่อเกษตรกรรมและรองรับการขยายตัวของเมือง เป็นสาเหตุสำคัญของการเพิ่มขึ้นของอุณหภูมิพื้นผิวโลกในช่วงหลังยุคปฏิวัติอุตสาหกรรมเป็นต้นมา นอกจากนี้ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศของโลกยังเห็นได้จากปรากฏการณ์เช่น ธารน้ำแข็งที่ลดลง ระดับน้ำทะเลที่สูงขึ้น ตลอดจนการเกิดสภาพอากาศสุดขั้วที่รุนแรงและถี่ขึ้น
สำหรับสภาพภูมิอากาศของไทยในอดีตจนถึงปัจจุบัน พบว่า มีสภาพอากาศที่ร้อนขึ้นและร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งสภาพอากาศสุดขั้วของไทยมีความรุนแรงขึ้นและเกิดบ่อยครั้งขึ้น หากพิจารณาแนวโน้มสภาพภูมิอากาศของไทยในอนาคต ข้อมูลจากหลายแบบจำลองภูมิอากาศพบว่า อุณหภูมิเฉลี่ยของไทยในอนาคตมีแนวโน้มสูงขึ้นในทุกภาพจำลอง โดยมีแนวโน้มที่จะเผชิญอากาศร้อนมากขึ้นและมีช่วงเวลาที่อากาศร้อนยาวนานขึ้น อีกทั้งยังคาดการณ์ว่าไทยจะเผชิญกับทั้งปัญหาภัยแล้งและน้ำท่วมฉับพลันจากเหตุการณ์ฝนตกหนักมากยิ่งขึ้น
ในแง่ของผลกระทบต่อระบบเศรษฐกิจ climate change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์และรายได้ ตลอดจนการปรับเปลี่ยนพฤติกรรมของทั้งธุรกิจ ครัวเรือน สถาบันการเงิน และภาครัฐ ซึ่งเป็นปัจจัยพื้นฐานที่ทำให้ระบบเศรษฐกิจมหภาคเปลี่ยนแปลงตามไปด้วย ทั้งผลผลิตมวลรวมในประเทศ (GDP) เงินเฟ้อ และความเหลื่อมล้ำในระบบเศรษฐกิจ
สำหรับผลกระทบของ climate change ต่อภาคการผลิตสินค้าและบริการ ทั้งภาคเกษตรกรรม ภาคอุตสาหกรรมการผลิต และภาคบริการโดยเฉพาะภาคท่องเที่ยว พบว่าแต่ละภาคได้รับผลกระทบจาก climate change ที่แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับการเปิดรับภัยคุกคามและความอ่อนไหวต่อสภาพภูมิอากาศ ขณะที่ครัวเรือนก็ได้รับผลกระทบจาก climate change เช่นกัน ทั้งการเจ็บป่วยหรือเสียชีวิตจากเหตุการณ์สภาพอากาศสุดขั้ว การกระจายตัวของโรคติดต่อ ความเสียหายของโครงสร้างพื้นฐานทางด้านสาธารณสุข การย้ายถิ่นที่อยู่ ตลอดจนผลกระทบต่อรายได้ รายจ่าย สินทรัพย์ และหนี้สินของครัวเรือน นอกจากนี้ ความเสี่ยงทางกายภาพจาก climate change และความเสี่ยงจากการเปลี่ยนผ่านสู่ระบบเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ ทำให้ความเสี่ยงทางการเงินของภาคการเงินสูงขึ้น ทั้งความเสี่ยงด้านเครดิต ความเสี่ยงด้านภาวะตลาด ความเสี่ยงด้านสภาพคล่อง ตลอดจนความเสี่ยงด้านการปฏิบัติการ ส่วนผลกระทบต่อการคลังภาครัฐ climate change ส่งผลกระทบต่อสินทรัพย์ รายได้ และรายจ่ายของภาครัฐ ซึ่งในที่สุดแล้วมีผลต่อหนี้สินและความยั่งยืนทางการคลัง
ในแง่ของผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาค climate change ส่งผลกระทบต่อ GDP ทั้งฝั่งอุปสงค์รวมและฝั่งอุปทานรวม กระทบต่อระดับราคาและภาวะเงินเฟ้อ และมีแนวโน้มที่จะทำให้ความเหลื่อมล้ำทางเศรษฐกิจรุนแรงขึ้น เนื่องจากธุรกิจและครัวเรือนต่าง ๆ มีความเปราะบางและมีความสามารถในการรับมือต่อ climate change ที่แตกต่างกัน
หากพิจารณากรณีของไทย มีงานศึกษาของชัยธัช จิโรภาส ดร.พิม มโนพิโมกษ์ และสุพริศร์ สุวรรณิก (2022) ที่พบว่าสภาพภูมิอากาศที่ผิดปกติส่งผลทางลบต่อการขยายตัวทางเศรษฐกิจมหภาคของไทย แต่ไม่ส่งผลกระทบต่อเงินเฟ้อมากนัก โดยจังหวัดที่มีรายได้ต่อหัวต่ำจะได้รับผลกระทบเชิงลบจากสภาพอากาศที่ผิดปกติสูงกว่าจังหวัดอื่น ๆ
มองไปข้างหน้า ทุกภาคส่วนจำเป็นต้องมีส่วนร่วมในการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก การปรับและขับเคลื่อนระบบเศรษฐกิจสู่เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ และการปรับตัวต่อ climate change ตลอดจนจัดการกับความท้าทายและอุปสรรคในการดำเนินงาน ไม่ว่าจะเป็นองค์ความรู้ การเข้าถึงเทคโนโลยี หรือการเข้าถึงแหล่งเงินทุน ซึ่งนำไปสู่บทบาทของภาครัฐและภาคส่วนอื่น ๆ ในการสนับสนุนการดำเนินงานด้าน climate change ดังกล่าว