ความสำคัญของ ESG ในโลกการลงทุนวันนี้

เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์ ได้รับเกียรติจาก คุณนรีรัตน์ สันธยาติ ผู้อำนวยการฝ่ายพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มาบรรยายในงาน Policy Forum: Discourses on Sustainability ในหัวข้อ "ความสำคัญของ ESG ในโลกการลงทุนวันนี้"
คุณนรีรัตน์กล่าวถึงการลงทุนอย่างยั่งยืน (sustainable investing) ที่เข้ามามีบทบาทอย่างมากในโลกการลงทุนปัจจุบัน โดยคำนึงถึงการดำเนินงานด้านสิ่งแวดล้อม สังคม และบรรษัทภิบาล (Environmental, Social and Governance: ESG) เป็นสำคัญ เนื่องด้วยสภาพแวดล้อมของโลกที่เปลี่ยนแปลงไปและประเด็นต่าง ๆ ที่ทั่วโลกต่างกำลังให้ความสำคัญ อาทิ ทรัพยากรธรรมชาติที่ลดลงอย่างรวดเร็ว การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การเข้าสู่สังคมสูงวัย การใช้แรงงานผิดกฎหมาย ประเด็นทุจริตคอร์รัปชัน การพัฒนาเทคโนโลยีอย่างก้าวกระโดด ทั้งนี้ ESG มีความเชื่อมโยงกับผลการดำเนินงานทางการเงินของธุรกิจ ทั้งในด้านความเสี่ยงและโอกาส ศักยภาพในการแข่งขัน และการได้รับการยอมรับจากผู้มีส่วนได้เสีย ซึ่งเกี่ยวข้องโดยตรงกับความอยู่รอดและความสามารถในการเติบโตของธุรกิจในระยะยาว
ด้าน buy side พบว่า นักลงทุนทั่วโลกรวมถึงไทย มุ่งเน้นการลงทุนแบบยั่งยืนมากขึ้นต่อเนื่องและมีแนวโน้มขยายตัวต่อไป โดยเฉพาะกลุ่มนักลงทุน Millenials ที่ให้ความสำคัญ โดยข้อมูลสถิติที่ผ่านมา สะท้อนให้เห็นผลตอบแทนที่น่าดึงดูดใจแก่นักลงทุน เช่น ดัชนีชี้วัด MSCI EM ESG Leaders ที่ให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี MSCI Emerging Markets ในช่วง 15 ปีที่ผ่านมา ตลอดจนดัชนี SETTHSI TRI ที่แม้ว่าจะยังมีกรอบระยะเวลาสั้น แต่พบว่าให้ผลตอบแทนสูงกว่าดัชนี SET TRI ในช่วง 1 ปีที่ผ่านมา ขณะที่นักวิเคราะห์การลงทุนสำนักต่าง ๆ ก็เริ่มพิจารณา ESG ประกอบการวิเคราะห์หลักทรัพย์
ส่วนด้าน sell side คือ บริษัทจดทะเบียนก็เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนเพิ่มขึ้นด้วย โดยเฉพาะในไทยที่ในปี 2564 มีกว่า 321 บริษัทจดทะเบียนที่เปิดเผยข้อมูลด้านความยั่งยืนผ่าน annual report/sd report/one report
สำหรับหน่วยงานกำกับดูแลก็มีการส่งเสริมการลงทุนอย่างยั่งยืน โดยเฉพาะในไทย อาทิ สำนักงานคณะกรรมการกำกับหลักทรัพย์และตลาดหลักทรัพย์ (ก.ล.ต.) กำหนดให้บริษัทจดทะเบียนทุกแห่งเปิดเผยข้อมูลในแบบ 56-1 One Report ตั้งแต่ปี 2565 เป็นต้นไป และเผยแพร่หลักธรรมาภิบาลการลงทุนหรือ Investment Governance Code (I-Code) สำหรับนักลงทุนสถาบัน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติในการลงทุน เช่น การจัดการความขัดแย้งทางผลประโยชน์อย่างเพียงพอ เพื่อประโยชน์สูงสุดของลูกค้า
นอกจากนี้ หน่วยงานกำกับดูแลต่าง ๆ ของไทย ยังร่วมมือกันผ่านคณะทำงานด้านความยั่งยืนในภาคการเงิน เผยแพร่แนวทางการพัฒนาภาคการเงินเพื่อความยั่งยืน (Sustainable Finance Initiatives for Thailand) โดยวางกรอบทิศทางการดำเนินงานต่าง ๆ เช่น การพัฒนาคุณภาพของข้อมูล การสร้างทรัพยากรบุคคลให้มีความรู้ความเข้าใจใน ESG
ด้านตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย (ตลท.) มีบทบาทในการพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง โดยแบ่งออกเป็น 4 ภารกิจสำคัญ ได้แก่
- การให้ความรู้ด้านการลงทุนและประกอบธุรกิจอย่างยั่งยืน เช่น การพัฒนาหลักสูตรของทั้งนักลงทุนและธุรกิจผ่าน SET ESG Academy
- การพัฒนาเครื่องมือต่าง ๆ เช่น Materiality Assessment Application เพื่อเป็นเครื่องมือสำหรับระบุและจัดลำดับประเด็นที่มีความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจและผู้มีส่วนได้เสีย และให้บริษัทนำไปกำหนดนโยบาย ทิศทางการดำเนินงาน และเปิดเผยข้อมูลต่อไป
- การให้คะแนนและพัฒนาข้อมูล ESG เช่น การเผยแพร่ ESG ratings ของบริษัทจดทะเบีย
- การสร้างความตระหนักรู้และให้ความสำคัญ เช่น การให้รางวัล SET Awards จากการดำเนินงานแบบ ESG
ทั้งนี้ มองไปข้างหน้า ตลท. จะมุ่งเน้นพัฒนาความยั่งยืนของตลาดทุนไทยอย่างต่อเนื่อง ภายใต้ ESG ที่มีความสำคัญมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น การพัฒนาชุดข้อมูล ESG ของบริษัทจดทะเบียนให้ได้คุณภาพดี การส่งเสริมให้ ESG เข้าเป็นส่วนหนึ่งของการดำเนินงานบริษัทต่าง ๆ อย่างเป็นรูปธรรม เป็นต้น