Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
TH
EN
Research
Research
Discussion Paper
PIERspectives
aBRIDGEd
PIER Blog
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
Discussion Paper ล่าสุด
Exchange Rate Effects on Firm Performance: A NICER Approach
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
aBRIDGEd ล่าสุด
ผลกระทบของการขึ้นค่าเล่าเรียนต่อการตัดสินใจเรียนมหาวิทยาลัย
Events
Events
Conferences
Research Workshops
Policy Forums
Seminars
Exchanges
Research Briefs
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
งานประชุมเชิงปฏิบัติการต่อไป
Joint NSD-PIER Applied Microeconomics Research Workshop
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
งานสัมมนาล่าสุด
Special Economic Zones and Firm Performance: Evidence from Vietnamese Firms
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจ
ป๋วย อึ๊งภากรณ์
Puey Ungphakorn Institute for Economic Research
Community
Community
PIER Research Network
Visiting Fellows
Funding and Grants
PIER Research Network
PIER Research Network
Funding & Grants
Funding & Grants
About Us
About Us
Our Organization
Announcements
PIER Board
Staff
Work with Us
Contact Us
Staff
Staff
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
ประกาศล่าสุด
Call for Papers: PIER Research Workshop 2025
aBRIDGEdabridged
Making Research Accessible
QR code
Year
2025
2024
2023
2022
...
Topic
Development Economics
Macroeconomics
Financial Markets and Asset Pricing
Monetary Economics
...
/static/9c2d54de35d0fc61a331287fd0398233/41624/cover.jpg
15 กรกฎาคม 2567
20241721001600000

เศรษฐกิจอาเซียนภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น

ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกรอบ flexible inflation targeting ในไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย
นุวัต หนูขวัญรวิภา ไวยาวัจกร
เศรษฐกิจอาเซียนภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น
excerpt

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น หรือ flexible inflation targeting นำไปสู่ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจมหภาคอย่างไรสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียน ได้แก่ ไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย บทความนี้ชี้ให้เห็นถึงเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นในหลายด้าน ทั้งการลดลงของระดับและความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อ เศรษฐกิจที่ผันผวนน้อยลง รวมไปถึงเสถียรภาพของระบบการเงินที่ดีขึ้น เพื่อพิสูจน์ว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นเป็นผลจากการนำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้มากน้อยเพียงใด งานวิจัยนี้ได้ใช้วิธี difference-in-differences มาประเมินผลกับกลุ่มตัวอย่างประเทศกำลังพัฒนา และพบว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อส่งผลดีต่อการลดลงของระดับอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก ขณะที่ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจที่ดีขึ้นในด้านอื่น อาจเป็นผลสืบเนื่องจากปัจจัยอื่น ๆ มากกว่า ทั้งนี้ เพื่อรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลาย ที่นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย อาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ส่งผลดีต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจโดยรวม

ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งในปี 1997 หลายประเทศในภูมิภาคอาเซียนได้ปรับเปลี่ยนกรอบการดำเนินนโยบายการเงินจากเดิมที่ใช้ระบบอัตราแลกเปลี่ยนแบบคงที่มาเป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ซึ่งเป็นที่นิยมมาก่อนหน้านี้ในกลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว โดยไทยเริ่มใช้ในปี 2000 ตามมาด้วยฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียในปี 2002 และ 2005 ตามลำดับ ตลอดระยะเวลากว่า 20 ปีภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ ประเทศทั้งสามต้องเผชิญกับความท้าทายอย่างต่อเนื่อง เช่น วิกฤตการเงินโลก (global financial crisis หรือ GFC) ในปี 2008 การแพร่ระบาดของ COVID-19 และอัตราเงินเฟ้อโลกที่เร่งขึ้นในปี 2022 ดังนั้น จึงเป็นคำถามที่น่าสนใจว่า ผลสัมฤทธิ์ของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในแง่ของการบรรลุเสถียรภาพเศรษฐกิจการเงินสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนเป็นเช่นไร รวมไปถึงธนาคารกลางได้มีการพัฒนากรอบการดำเนินนโยบายการเงินอย่างไร เพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

งานวิจัยของ Nookhwun & Waiyawatjakorn (2023) มุ่งที่จะตอบคำถามข้างต้น และถือเป็นงานวิจัยชิ้นแรก ๆ ที่ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในกรณีของอาเซียน ซึ่งล้วนแต่เป็นประเทศกำลังพัฒนาที่ต้องเผชิญกับความท้าทายในการบริหารจัดการเศรษฐกิจมหภาคมากกว่ากลุ่มประเทศที่พัฒนาแล้ว นอกจากนี้ จุดเด่นอีกประการของงานวิจัยนี้คือ การใช้ข้อมูลเศรษฐกิจมหภาคที่มีความยาวกว่า 20 ปีในการประเมิน ซึ่งแตกต่างจากงานวิจัยในอดีตที่มักจะเริ่มประเมินผลสัมฤทธิ์หลังจากประเทศต่าง ๆ เริ่มใช้กรอบเป้าหมายดังกล่าวเพียงแค่ 5–10 ปี ซึ่งเป็นระยะเวลาที่ค่อนข้างสั้นและบางประเทศยังไม่เผชิญกับ shock ที่ส่งผลให้เศรษฐกิจและเงินเฟ้อผันผวนเท่าใดนัก

บทความนี้นำเสนอผลวิจัยของ Nookhwun & Waiyawatjakorn (2023) โดยแบ่งออกเป็น 4 ส่วนหลัก ๆ ส่วนแรกจะเล่าถึงกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ถูกนำมาใช้ในสามประเทศในภูมิภาคอาเซียนว่ามีลักษณะอย่างไร ส่วนที่สองเปรียบเทียบภาวะเศรษฐกิจและการเงินช่วงก่อนและหลังการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อของประเทศทั้งสาม ส่วนที่สาม ผู้เขียนจะตอบคำถามว่าเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้นในระยะหลัง เป็นผลจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน ผ่านวิธี difference-in-differences และในส่วนสุดท้าย จะกล่าวถึงความท้าทายต่าง ๆ ที่ภูมิภาคนี้ต้องเผชิญ รวมถึงการพัฒนากรอบนโยบายการเงินเพื่อให้สามารถรับมือกับความท้าทายได้ดียิ่งขึ้น

1. กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นในภูมิภาคอาเซียน

การดำเนินนโยบายการเงินภายใต้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะให้ความสำคัญกับการรักษาเสถียรภาพด้านราคาในระยะปานกลางเป็นเป้าหมายหลัก กล่าวคือจะพยายามรักษาให้อัตราเงินเฟ้ออยู่ในระดับต่ำและไม่ผันผวน และมีการประกาศเป้าหมายเงินเฟ้อเป็นตัวเลขที่ชัดเจน โดยรูปแบบของเป้าหมายเงินเฟ้ออาจแตกต่างกันได้ในแต่ละประเทศ เช่น ในกรณีของไทย เป้าหมายเงินเฟ้อในปัจจุบันมีรูปแบบเป็นช่วง (range) ที่ 1–3% ซึ่งถือเป็นระดับที่ใกล้เคียงกับเป้าหมายของประเทศที่พัฒนาแล้ว และใช้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปเป็นเป้าหมายจากเดิมที่เคยใช้อัตราเงินเฟ้อพื้นฐานช่วงก่อนปี 20151 ขณะที่ฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียกำหนดเป้าหมายเป็นแบบจุดและมี tolerance band โดยปัจจุบันอยู่ที่ 3±1% และ 2.5±1% ตามลำดับ (รูปที่ 1) ประเด็นที่น่าสนใจคือ ทั้งสองประเทศต่างทยอยปรับเป้าหมายเงินเฟ้อลงมาเรื่อย ๆ (disinflation) จากเดิมที่เป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงแรก ๆ จะอยู่ที่ระดับสูงกว่า 5%

รูปที่ 1: อัตราเงินเฟ้อทั่วไปและกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในสามประเทศในภูมิภาคอาเซียน
ที่มา: CEIC และ FREDหมายเหตุ: เส้นประแสดงค่า tolerance band ซึ่งมักจะถูกกำหนดขึ้นเมื่อเป้าหมายเงินเฟ้ออยู่ในรูปจุด (point target)

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ทั้งสามประเทศนำมาใช้ถือเป็นกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่น (flexible inflation targeting) ซึ่งให้ความสำคัญกับเป้าหมายด้านอื่น ๆ ร่วมด้วย เช่น การเติบโตอย่างยั่งยืนของเศรษฐกิจในไทย และเสถียรภาพของอัตราแลกเปลี่ยนในอินโดนีเซีย เป็นต้น ข้อสังเกตสำคัญสำหรับประเทศในภูมิภาคอาเซียนคือ การให้ความสำคัญกับเสถียรภาพของระบบการเงิน (financial stability) ซึ่งสะท้อนความกังวลของธนาคารกลางในภูมิภาคนี้ต่อความไม่สมดุลในภาคการเงิน โดยไทยได้กำหนดให้เสถียรภาพระบบการเงินเป็นหนึ่งในเป้าหมายนโยบายการเงินมาตั้งแต่ก่อน GFC ส่วนอินโดนีเซียเริ่มผนวกเสถียรภาพด้านนี้เข้ามาหลัง GFC ขณะที่ฟิลิปปินส์จะพิจารณาความเสี่ยงต่อ financial stability ในการตัดสินนโยบายการเงินด้วย แม้ไม่ได้กำหนดเป็นเป้าหมายชัดเจน

โดยหลักการแล้ว เพื่อให้ธนาคารกลางสามารถบรรลุเป้าหมายนโยบายการเงินข้างต้นได้อย่างมีประสิทธิภาพ โครงสร้างเชิงสถาบันนับว่ามีส่วนสำคัญเป็นอย่างยิ่ง ไม่ว่าจะเป็นความมีอิสระของธนาคารกลางในการตัดสินนโยบาย (operational independence) การมีกลไกแสดงความรับผิดชอบ (accountability) รวมถึงความโปร่งใส (transparency) ของการดำเนินนโยบาย ซึ่งธนาคารกลางของทั้งสามประเทศนี้ถือว่ามีองค์ประกอบเหล่านี้ครบถ้วน เช่น การมีวิธีการสื่อสารที่หลากหลายเพื่อให้เกิดความเข้าใจ ความโปร่งใส และเพิ่มประสิทธิผลของนโยบาย ไม่ว่าจะเป็นการแถลงข่าวผลการประชุม การเผยแพร่รายงานนโยบายการเงินหรือรายงานการประชุมฉบับย่อ นอกจากนี้ ในกรณีของไทย ตั้งแต่ปี 2011 ธนาคารกลางยังได้มีการประกาศผลโหวตของคณะกรรมการนโยบายการเงิน ซึ่งช่วยให้สาธารณชนเห็นภาพความเสี่ยงต่อเศรษฐกิจได้ดียิ่งขึ้น ในส่วนของกลไกแสดงความรับผิดชอบ ธนาคารกลางมักใช้การแถลงต่อรัฐสภา ตลอดจนการเขียนจดหมายเปิดผนึก (open letter) ถึงรัฐบาลเมื่ออัตราเงินเฟ้อหลุดออกจากกรอบเป้าหมาย นอกจากนี้ งานศึกษาในอดีต เช่น Dincer & Eichengreen (2014) ต่างชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการที่ดีในเรื่องความโปร่งใส ความเป็นอิสระ2 และธรรมาภิบาลของธนาคารกลางในประเทศทั้งสาม

หลักฐานเชิงประจักษ์ในต่างประเทศ

แม้ว่ากรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะได้รับการยอมรับและถูกนำมาใช้อย่างแพร่หลายในอีกกว่า 50 ประเทศทั่วโลก อีกทั้งทฤษฎีนโยบายการเงินต่างสนับสนุนข้อดีของกรอบเป้าหมายนี้ผ่านการช่วยยึดเหนี่ยวการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนและการหลีกเลี่ยงปัญหา time inconsistency ที่เกิดจากการที่ธนาคารกลางอาจมีแรงจูงใจที่จะกระตุ้นเศรษฐกิจและการจ้างงานในระยะสั้นแม้ว่าจะประกาศออกไปก่อนหน้าว่าจะคุมเงินเฟ้อให้อยู่ในระดับต่ำ อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเชิงประจักษ์ในกรณีของประเทศพัฒนาแล้วยังไม่มีข้อสรุปว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อจะนำไปสู่ผลลัพธ์ต่อเศรษฐกิจมหภาคที่ดีกว่ากรอบเป้าหมายอื่น ๆ (Ball & Sheridan, 2004; Lin & Ye, 2007)

ในกรณีของประเทศกำลังพัฒนา กรอบเป้าหมายเงินเฟ้ออาจให้ผลสัมฤทธิ์ที่ดีกว่า เนื่องจากกรอบดังกล่าวช่วยเพิ่มความโปร่งใสในการดำเนินนโยบายการเงิน ซึ่งจะช่วยยกระดับความน่าเชื่อถือของธนาคารกลางที่มักเป็นปัญหาในประเทศกำลังพัฒนา นอกจากนี้ เศรษฐกิจของประเทศกำลังพัฒนาอาจเผชิญกับความผันผวนที่สูงกว่า ส่วนหนึ่งจากโครงสร้างทางเศรษฐกิจที่อ่อนแอกว่าและความผิดพลาดในการดำเนินนโยบายเศรษฐกิจ ส่งผลให้ประเทศอาจได้รับประโยชน์จากการนำกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมาใช้มากกว่า อย่างไรก็ตาม ผลการศึกษาเชิงประจักษ์สำหรับประเทศกำลังพัฒนามีความไม่ชัดเจนเช่นเดียวกัน (Lin & Ye, 2009; Brito & Bystedt, 2010)

2. เศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียนเปลี่ยนไปเช่นไรบ้างหลังใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

การประเมินผลสัมฤทธิ์ของกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นในงานวิจัยของ Nookhwun & Waiyawatjakorn (2023) ไม่ได้ให้ความสำคัญเพียงการบรรลุเสถียรภาพด้านราคาเท่านั้น แต่พิจารณาถึงเสถียรภาพด้านอื่น ๆ ด้วย ได้แก่ เสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงิน

การบรรลุเสถียรภาพด้านราคา

ในแง่ของเสถียรภาพด้านราคา ผลที่แสดงในรูปที่ 2a พบว่าระดับและความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อปรับลดลงในช่วงเวลาที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ โดยเฉพาะอินโดนีเซียและฟิลิปปินส์ที่อัตราเงินเฟ้อปรับลดลงมาเฉลี่ยอยู่ที่ประมาณ 6% และ 4% ตามลำดับ จากช่วงก่อนหน้าที่อยู่ในระดับสูงกว่า 10% สอดคล้องกับกระบวนการ disinflation ที่เกิดขึ้น ส่วนความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อในทั้งสองประเทศมีแนวโน้มลดลงมากเช่นเดียวกัน ขณะที่ อัตราเงินเฟ้อของไทยปรับลดลงประมาณ 2.5% มาอยู่ที่ 2% หลังจากการเปลี่ยนมาใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

แม้ว่าความผันผวนของเงินเฟ้อจะลดลงชัดเจน อัตราเงินเฟ้อของทั้งสามประเทศต่างเผชิญกับ shock ทางฝั่งอุปทานหรือต้นทุนอย่างต่อเนื่อง ซึ่งทำให้อัตราเงินเฟ้อเคลื่อนไหวออกนอกกรอบเป้าหมายอยู่เรื่อย ๆ โดยอัตราเงินเฟ้อรายเดือนของไทยและอินโดนีเซียหลุดกรอบเป้าหมายประมาณครึ่งหนึ่งของช่วงเวลาทั้งหมด (ประมาณ 20–25 ปี) ขณะที่อัตราเงินเฟ้อของฟิลิปปินส์มีการหลุดกรอบเป้าหมายบ่อยครั้งกว่า อย่างไรก็ดี ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา อัตราเงินเฟ้อของอินโดนีเซียผันผวนต่ำลงมาก และพลาดเป้าหมายน้อยลงอย่างชัดเจน ส่วนหนึ่งจากการดูแลราคาน้ำมันของภาครัฐ แต่อัตราเงินเฟ้อของไทยกลับหลุดกรอบเป้าหมายถึง 70% จากราคาน้ำมันโลกที่ปรับลดลงมากหลังปี 2014 และการเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอื่น ๆ จึงกลายเป็นความท้าทายในการดำเนินนโยบายการเงินของไทยในระยะหลัง

อย่างไรก็ดี การหลุดกรอบเป้าหมายของเงินเฟ้อมักจะเกิดขึ้นเพียงชั่วคราว โดยงานวิจัยข้างต้นพบว่า ค่าความหนืด (persistence) ของอัตราเงินเฟ้อทั้งสามประเทศอยู่ในระดับต่ำและลดลงจากช่วงก่อนใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ กล่าวคือเมื่อเกิด shock ขึ้น อัตราเงินเฟ้อจะกลับเข้าสู่ระดับเดิมได้เร็ว ส่วนหนึ่งอาจเป็นผลจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อที่ช่วยตรึงการคาดการณ์เงินเฟ้อของสาธารณชนไว้ให้ไม่ผันผวน ซึ่งมีผลให้ธุรกิจไม่เร่งปรับราคาสินค้าและค่าจ้างแรงงาน ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาการเคลื่อนไหวของอัตราเงินเฟ้อคาดการณ์จากการสำรวจผู้เชี่ยวชาญทางเศรษฐกิจ พบว่าแม้การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะสั้น (1 ปีข้างหน้า) จะปรับตามอัตราเงินเฟ้อที่เกิดขึ้นจริงอยู่บ้าง แต่การคาดการณ์เงินเฟ้อในระยะยาว (5 ปี) ไม่ได้รับผลกระทบใด ๆ สะท้อนความเชื่อมั่นของสาธารณชนที่มีต่อกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ3

การบรรลุเป้าหมายนโยบายการเงินด้านอื่น ๆ

การใช้นโยบายการเงินเพื่อบรรลุหลายเป้าหมายพร้อมกันอาจก่อให้เกิดการ trade-off ขึ้นได้ เช่น หากธนาคารกลางให้ความสำคัญกับการดูแลอัตราเงินเฟ้อมากเกินไป เสถียรภาพด้านอื่น ๆ อาจถูกบั่นทอนลง ทั้งการเติบโตทางเศรษฐกิจที่ชะลอลง หรือหนี้สินภาคเอกชนที่เร่งตัวขึ้น เป็นต้น อย่างไรก็ดี งานวิจัยของ Nookhwun & Waiyawatjakorn (2023) พบว่าเสถียรภาพของเศรษฐกิจและระบบการเงินมีการปรับดีขึ้นเช่นเดียวกันหลังประเทศใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ

ด้านเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ ผลการศึกษาชี้ว่า ความผันผวนของการเติบโตทางเศรษฐกิจในอินโดนีเซียและไทยลดลงมากถึง 3.0% และ 1.3% ตามลำดับ เมื่อเทียบกับช่วงก่อนหน้า (รูปที่ 2b) เช่นเดียวกับฟิลิปปินส์ที่ความผันผวนปรับลดลงมากกว่า 2% หากไม่รวมข้อมูลช่วงที่เกิดวิกฤต COVID-19 นอกจากนี้ เมื่อพิจารณาช่องว่างผลผลิต (output gap) ซึ่งสะท้อนความแตกต่างของกิจกรรมทางเศรษฐกิจจากระดับศักยภาพ พบว่าส่วนใหญ่แล้วเศรษฐกิจของประเทศทั้งสามเติบโตสอดคล้องกับระดับศักยภาพ ยกเว้นช่วงที่เกิดวิกฤตเศรษฐกิจ ได้แก่ GFC ปี 2008 และวิกฤต COVID-19 ที่ทำให้เศรษฐกิจหดตัวรุนแรง อย่างไรก็ดี ในช่วง GFC เศรษฐกิจของทั้งสามประเทศสามารถฟื้นตัวได้เร็ว โดยใช้เวลาน้อยกว่าหนึ่งปีในการกลับมาเติบโตได้ตามศักยภาพ (รูปที่ 3)

รูปที่ 2: เปรียบเทียบตัวแปรเศรษฐกิจมหภาคในช่วงก่อนและหลังใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ
ที่มา: CEIC, FRED, IMF, Oxford Economics และคำนวณโดยผู้เขียนหมายเหตุ: ช่วงก่อนใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับจากปี 1981 และช่วงหลังใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อนับจนถึงปี 2023 โดยที่ ID = Indonesia, PH = Philippines, TH = Thailand
รูปที่ 3: ช่องว่างผลผลิต (Output gap)
ที่มา: Oxford Economics และคำนวณโดยผู้เขียนหมายเหตุ: คำนวณจากผลต่างระหว่าง real GDP กับ trend ที่คำนวณโดยใช้วิธี HP filter

ด้านเสถียรภาพของระบบการเงิน ข้อสังเกตหนึ่งที่บ่งชี้ถึงพัฒนาการที่ดีขึ้นคือ ภายหลังวิกฤตต้มยำกุ้งปี 1997 ซึ่งส่งผลให้เศรษฐกิจของประเทศทั้งสามหดตัวอย่างมาก ประเทศเหล่านี้ยังไม่เผชิญกับวิกฤตการเงินอีกเลย ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการปรับตัวหลังเกิดวิกฤตต้มยำกุ้ง ทั้งการบริหารจัดการความเสี่ยงของธนาคารพาณิชย์ ความเปราะบางทางการเงินที่ลดลงในภาคธุรกิจและครัวเรือน รวมถึงกรอบนโยบายการเงินใหม่ที่ทำให้ประเทศไม่มีความเสี่ยงจากการถูกโจมตีค่าเงิน นอกจากนี้ เมื่อเกิดวิกฤตขนาดใหญ่ทั้ง GFC และ COVID-19 ระบบการเงินยังคงมีความแข็งแกร่ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการช่วยสนับสนุนการส่งผ่านผลการดำเนินนโยบายการเงินและการฟื้นตัวของกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ทั้งนี้ เมื่อพิจารณาอัตราส่วนของสินเชื่อภาคเอกชน (private credit) ต่อ GDP ซึ่งสะท้อนการสะสมความไม่สมดุลในภาคการเงิน พบว่าแม้อัตราส่วนดังกล่าวจะมีแนวโน้มเพิ่มขึ้นในช่วง 2 ทศวรรษที่ผ่านมา แต่ยังคงอยู่ในระดับต่ำกว่าช่วงก่อนเกิดวิกฤตต้มยำกุ้งมาก โดยเฉพาะไทยและอินโดนีเซีย รวมถึงยังไม่เห็นการเพิ่มขึ้นอย่างฉับพลันของอัตราส่วนดังกล่าวที่มักจะชี้นำการเกิดวิกฤตการเงินในอนาคต

เมื่อเจาะลึกไปที่ระบบธนาคารพาณิชย์ เครื่องชี้ต่าง ๆ สะท้อนความเสี่ยงทางการเงินของธนาคารพาณิชย์ที่อยู่ในระดับต่ำ (รูปที่ 4) เช่น ปริมาณหนี้เสีย (non-performing loans) ในช่วง 10 กว่าปีที่ผ่านมาที่เฉลี่ยอยู่เพียง 2.6% ต่อสินเชื่อรวม โดยปรับลดลงต่อเนื่องหลังวิกฤตต้มยำกุ้ง และไม่ได้ปรับเพิ่มขึ้นมากเมื่อเกิดวิกฤต COVID-19 ส่วนหนึ่งจากการตอบสนองอย่างรวดเร็วจากธนาคารกลางและรัฐบาล4 ด้านอัตราส่วนเงินกองทุนต่อสินทรัพย์เสี่ยง (capital adequacy ratios) ที่สะท้อนความสามารถในการรองรับความสูญเสียของธนาคารพาณิชย์ มีแนวโน้มเพิ่มขึ้นและอยู่เหนือระดับ 15% ในช่วงทศวรรษ 2010 ซึ่งสูงกว่าเกณฑ์การดำรงเงินกองทุนอยู่ไม่น้อย

รูปที่ 4: เครื่องชี้เสถียรภาพของระบบการเงิน
ที่มา: (a) BIS, CEIC, World Bank; (b) CEIC, FREDหมายเหตุ: NPL คิดเป็นอัตราส่วนต่อสินเชื่อทั้งหมด

3. เสถียรภาพเศรษฐกิจที่ปรับดีขึ้น เป็นผลจากกรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมากน้อยแค่ไหน

คำถามหนึ่งที่น่าสนใจคือ เสถียรภาพเศรษฐกิจของประเทศในภูมิภาคอาเซียนที่ปรับดีขึ้นนั้นเป็นผลมาจากการประยุกต์ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ หรือปัจจัยอื่น เช่น shock เกิดขึ้นไม่บ่อยครั้งและไม่รุนแรงเท่าในอดีต การเปลี่ยนแปลงเชิงโครงสร้างอื่น ๆ หรือพัฒนาการที่ดีขึ้นในภาคการเงินตามที่ได้กล่าวมาข้างต้น โดยงานศึกษาในอดีต พบว่าประเทศที่ไม่ได้ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อมีเสถียรภาพเศรษฐกิจที่ดีขึ้นเช่นกันในระยะหลัง

ดังนั้น เพื่อพิสูจน์ข้อเท็จจริงดังกล่าว Nookhwun & Waiyawatjakorn (2023) ได้ประยุกต์ใช้วิธี difference-in-differences เพื่อประมาณค่าผลกระทบ (treatment effect) ของการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อเสถียรภาพของอัตราเงินเฟ้อและเศรษฐกิจ5 โดยมีกลุ่มตัวอย่างคือ ประเทศกำลังพัฒนา 52 ประเทศ ประกอบด้วย 30 ประเทศที่ใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ รวมถึงไทย ฟิลิปปินส์ และอินโดนีเซีย โดยกำหนดให้ประเทศเหล่านี้เป็นกลุ่มทดลอง (treatment group) ขณะที่ 22 ประเทศที่เหลือเป็นกลุ่มควบคุม (control group)

ผลการศึกษาแสดงในรูปที่ 5 พบว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อส่งผลดีในแง่ของการลดลงของอัตราเงินเฟ้อเป็นหลัก โดยอัตราเงินเฟ้อในกลุ่มทดลองลดลงเฉลี่ยประมาณ 2–4% เทียบกับกลุ่มควบคุม อย่างไรก็ตาม การลดลงของความผันผวนของการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อระหว่างกลุ่มทดลองและกลุ่มควบคุมไม่แตกต่างกันอย่างมีนัยสำคัญ โดยมีเพียงกรณีที่ใช้วิธี stacked DiD เท่านั้นที่พบว่าความผันผวนของอัตราเงินเฟ้อลดลงอย่างมีนัยสำคัญทางสถิติ สะท้อนว่าทั้งความผันผวนของการเติบโตทางเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่ปรับลดลงอาจเป็นผลจากปัจจัยอื่น ๆ

รูปที่ 5: ผลกระทบ (treatment effect) จากการใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อต่อเสถียรภาพทางเศรษฐกิจ
ที่มา: ประมาณค่าโดยผู้เขียนหมายเหตุ: ประมาณค่า treatment effect ด้วยวิธี difference-in-differences รวม 4 วิธีตามที่ระบุในแกนนอน โดยแสดงค่าสัมประสิทธิ์พร้อมด้วย 95-percent confidence interval กลุ่มตัวอย่างคือประเทศกำลังพัฒนา 52 ประเทศ โดยใช้ข้อมูลปี 1980–2022

4. ความท้าทายต่อเศรษฐกิจของภูมิภาคอาเซียน กับพัฒนาการของกรอบนโยบายการเงิน

Nookhwun & Waiyawatjakorn (2023) เล่าถึงความท้าทายสำคัญ 2 ประการที่ส่งผลต่อเศรษฐกิจและการตัดสินนโยบายการเงินของประเทศในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งทำให้ธนาคารกลางต้องอาศัยเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายในการรับมือ นอกเหนือจากอัตราดอกเบี้ยนโยบาย

ความท้าทายแรกมาจากความผันผวนของเงินทุนเคลื่อนย้ายระหว่างประเทศ ซึ่งส่งผลต่อเนื่องไปยังความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเฉพาะช่วงหลังจากเกิด GFC ที่มีเงินทุนไหลเข้ามาในภูมิภาคนี้ค่อนข้างมาก รวมถึงบางช่วงที่ความกังวลของนักลงทุนเพิ่มขึ้นจนเกิดการไหลกลับของเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น เมื่อเกิด taper tantrum หรือวิกฤต COVID-19 โดยในกรณีของฟิลิปปินส์และอินโดนีเซีย งานศึกษาโดย International Monetary Fund (2016) พบว่าความผันผวนของเงินทุนดังกล่าวสามารถส่งผลกระทบต่ออัตราดอกเบี้ยของธนาคารพาณิชย์และอัตราผลตอบแทนพันธบัตรรัฐบาลระยะยาวได้ ซึ่งมีผลต่อภาวะการเงินและเศรษฐกิจของประเทศต่อไป6 ในกรณีของไทย ข้อกังวลมักเกิดจากการแข็งค่าของเงินบาทที่ส่งผลต่อกำไรของธุรกิจส่งออก ซึ่งอาจมีผลต่อกิจกรรมทางเศรษฐกิจได้จากการพึ่งพาการส่งออกของไทยที่อยู่ในระดับสูง

การดูแลอัตราแลกเปลี่ยน (FX intervention) กลายเป็นเครื่องมือหลักในการรับมือกับความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยน โดยเมื่อพิจารณาค่าความผันผวนของอัตราแลกเปลี่ยนของสกุลเงินท้องถิ่นกับดอลลาร์ สรอ. พบว่าอัตราแลกเปลี่ยนของประเทศทั้งสามล้วนมีความผันผวนต่ำกว่าประเทศพัฒนาแล้ว บ่งบอกถึงการแทรกแซงของธนาคารกลาง โดยเฉพาะไทยและฟิลิปปินส์ ส่วนอินโดนีเซีย มาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย7 เป็นอีกหนึ่งเครื่องมือที่ถูกนำมาใช้ค่อนข้างมาก โดยเฉพาะในช่วง taper tantrum ร่วมกับมาตรการอื่น ๆ ที่มุ่งลดความเสี่ยงจากหนี้ต่างประเทศให้กับภาคธุรกิจและธนาคารพาณิชย์

ความท้าทายอีกประการมาจากความไม่สมดุลของภาคการเงินที่สะสมอยู่ในบางภาคส่วน ซึ่งท้ายที่สุดอาจปะทุขึ้นจนกลายเป็นความเสี่ยงเชิงระบบ (systemic risks) และบั่นทอนการเจริญเติบโตของเศรษฐกิจในระยะยาว เช่น ปัญหาหนี้ครัวเรือนของไทยที่อยู่ในระดับสูงถึง 90% ต่อ GDP ซึ่งอาจกระทบต่อการบริโภคภายในประเทศ และสร้างความเสี่ยงของการผิดนัดชำระหนี้ ส่วนในฟิลิปปินส์และอินโดนีเซียมีความเสี่ยงในภาคอสังหาริมทรัพย์ สะท้อนผ่านราคาและสินเชื่อที่อยู่อาศัยที่เร่งตัวมากในช่วงต้นทศวรรษที่ 2010

นโยบายการเงินสามารถรับมือกับการก่อตัวของความเสี่ยงในภาคการเงินได้ผ่านการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ย ซึ่งช่วยชะลอการก่อหนี้และพฤติกรรมการแสวงหาความเสี่ยง (risk-taking) อย่างไรก็ดี ธนาคารกลางในภูมิภาคอาเซียนส่วนมากจะใช้นโยบายดูแลเสถียรภาพระบบการเงิน (Macroprudential policy หรือ MAPP) ซึ่งสามารถดูแลความเสี่ยงในภาคการเงินเฉพาะจุดได้ดีกว่า และยังช่วยลด trade-off ระหว่างการดูแลเสถียรภาพของระบบการเงินและเสถียรภาพเศรษฐกิจ8 ทั้งนี้ ภูมิภาคอาเซียนถือว่าเป็นภูมิภาคที่ใช้ MAPP มากกว่าภูมิภาคอื่น ๆ โดยเปรียบเทียบ (Zhang & Zoli, 2016) และมีการใช้มากตั้งแต่ GFC (รูปที่ 6a) โดยเฉพาะมาตรการเกี่ยวกับภาคอสังหาริมทรัพย์ เช่น การกำหนดอัตราส่วนการให้สินเชื่อซื้อบ้านต่อมูลค่าหลักประกัน หรือ loan-to-value ratio เป็นต้น นอกจากนี้ ยังมีการกำหนดกฎเกณฑ์ด้านสภาพคล่องกับเงินกองทุนให้สอดรับกับมาตรฐานสากล (รูปที่ 6b) ทั้งนี้ งานวิจัยจำนวนหนึ่งพบว่า MAPP มีประสิทธิผลในการจัดการกับความเสี่ยงในภาคการเงินค่อนข้างดี (Zhang & Zoli, 2016; Kim et al., 2019)

รูปที่ 6: การใช้นโยบายเฉพาะจุดเพื่อดูแลเสถียรภาพระบบการเงินในภูมิภาคอาเซียน
ที่มา: Integrated Macroprudential Policy Databaseหมายเหตุ: (a) วัดจำนวนครั้งแบบสะสม โดย tightening action = +1 ส่วน loosening action = -1 และ (b) วัดจำนวนครั้งของการประกาศใช้หรือปรับเปลี่ยน macroprudential policy ในช่วงปี 2000–2021 โดย LTV = limit to loan-to-value ratios; DSTI = debt-service-to-income ratios; LD = loan-to-deposit ratios; SIFI = systemically important financial institutions; ตัวอย่างของ Othe เช่น มาตรการที่เกี่ยวข้องกับ stress testing และการจ่ายเงินปันผลของธนาคารพาณิชย์

การผสมผสานของเครื่องมือเชิงนโยบายในยามวิกฤต

การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายที่ได้กล่าวมายิ่งมีความสำคัญมากขึ้นเมื่อเกิดวิกฤตเศรษฐกิจ เนื่องจากความเปราะบางเกิดขึ้นพร้อมกันในหลายภาคส่วน เช่น ช่วงวิกฤต COVID-19 ธนาคารกลางไม่เพียงแต่ปรับลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอย่างรวดเร็ว แต่ยังใช้มาตรการอื่น ๆ ร่วมด้วย ทั้งการลดอัตราเงินสำรองตามกฎหมายของธนาคารพานิชย์ การผ่อนกฎเกณฑ์ด้าน macroprudential การเข้าซื้อพันธบัตรรัฐบาล การใช้มาตรการพักชำระหนี้ รวมถึงการปล่อยกู้ให้ภาคธุรกิจโดยมีภาครัฐช่วยค้ำประกัน เป็นต้น กรอบนโยบายที่อาศัยเครื่องมือที่หลากหลายทำให้ผู้ดำเนินนโยบายสามารถเลือกใช้เครื่องมือในการแก้ปัญหาได้ตรงจุด ทั้งยังช่วยเพิ่มประสิทธิผลของนโยบายและลด trade-off ที่ผู้ดำเนินนโยบายต้องเผชิญหากดำเนินนโยบายผ่านเครื่องมือเดียว ดังนั้น การผสมผสานเครื่องมือเชิงนโยบายจึงอาจเป็นปัจจัยสำคัญที่เอื้อต่อเสถียรภาพเศรษฐกิจและการเงินของประเทศในภูมิภาคอาเซียน9

บทสรุป

กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเป็นกรอบนโยบายการเงินที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย ทั้งในประเทศพัฒนาแล้วและประเทศกำลังพัฒนา งานวิจัยนี้ประเมินผลสัมฤทธิ์ของกรอบนโยบายดังกล่าวผ่านกรณีศึกษาของประเทศในภูมิภาคอาเซียน โดยพบว่าสำหรับภูมิภาคนี้ เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับดีขึ้นในหลายด้านหลังจากเปลี่ยนมาใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อ รวมถึงเสถียรภาพของระบบการเงิน ทั้งนี้ วิธี difference-in-differences ได้ให้ผลการศึกษาเพิ่มเติมว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อส่งผลดีในแง่ของอัตราเงินเฟ้อที่ลดลงเป็นหลัก ขณะที่ความผันผวนของเศรษฐกิจและเงินเฟ้อไม่ลดลงอย่างมีนัยสำคัญ จึงอาจกล่าวได้ว่า กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อแบบยืดหยุ่นเอื้อประโยชน์ให้อัตราเงินเฟ้อทรงตัวอยู่ในระดับต่ำ โดยที่ไม่ก่อให้เกิดต้นทุนต่อความผันผวนของเศรษฐกิจ

บทความนี้ยังชี้ให้เห็นถึงพัฒนาการของกรอบนโยบายการเงินในภูมิภาคนี้ที่อาศัยเครื่องมือเชิงนโยบายที่หลากหลายมาผสมผสานเพื่อให้เกิดประสิทธิผลสูงสุดในการบรรลุเป้าหมายของนโยบายการเงิน ซึ่งเป็นแนวปฏิบัติของธนาคารกลางในประเทศกำลังพัฒนาอื่น ๆ เช่นเดียวกัน และอาจเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยให้เสถียรภาพเศรษฐกิจปรับดีขึ้น ทั้งนี้ การใช้เครื่องมือที่หลากหลายยังคงมีความจำเป็นต่อเนื่องในระยะข้างหน้า ภายใต้โลกที่มีความผันผวนสูง ดังนั้น การยกระดับกรอบการวิเคราะห์การผสมผสานนโยบาย การออกแบบโครงสร้างเชิงสถาบันที่ส่งเสริมการบูรณาการเครื่องมือ รวมถึงการสื่อสารมาตรการต่าง ๆ อย่างมีประสิทธิภาพ จะมีส่วนสำคัญที่ช่วยให้ผู้ดำเนินนโยบายรับมือกับความท้าทายต่าง ๆ ได้ดียิ่งขึ้น

เอกสารอ้างอิง

Ananchotikul, N., Manopimoke, P., Prueksiri, N., & Yongthonsakul, K. (2023). เมื่อโลกหมุนไว: นโยบายการเงินกับการปรับตัวต่อความท้าทายใหม่ (aBRIDGEd No. 2/2023). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Ball, L. M., & Sheridan, N. (2004). Does inflation targeting matter? In B. S. Bernanke & M. Woodford (Eds.), The Inflation-Targeting Debate (pp. 249–276). University of Chicago Press.
Brito, R., & Bystedt, B. (2010). Inflation targeting in emerging economies: Panel evidence. Journal of Development Economics, 91(2), 198–210.
Dincer, N. N., & Eichengreen, B. (2014). Central Bank Transparency and Independence: Updates and New Measures. International Journal of Central Banking, 10(1), 189–259.
International Monetary Fund. (2016). ASEAN-5 cluster report: Evolution of monetary policy frameworks (IMF Staff Country Reports No. 2016/176). International Monetary Fund.
Kim, J., Kim, S., & Mehrotra, A. (2019). Macroprudential policy in Asia. Journal of Asian Economics, 65(C), 101149.
Lin, S., & Ye, H. (2007). Does inflation targeting really make a difference? Evaluating the treatment effect of inflation targeting in seven industrial countries. Journal of Monetary Economics, 54(8), 2521–2533.
Lin, S., & Ye, H. (2009). Does inflation targeting make a difference in developing countries? Journal of Development Economics, 89(1), 118–123.
Nookhwun, N., Nookhwun, N., Theppornpitak, N., Amatyakul, P., Hiruntiaranakul, S., & Apaitan, T. (2021). นโยบายการเงินแบบบูรณาการ รังสรรค์พลังจากการผสานเครื่องมือ (aBRIDGEd No. 13/2021). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Nookhwun, N., & Waiyawatjakorn, R. (2023). Flexible Inflation Targeting and Macroeconomic Performance: Evidence from ASEAN (Discussion Paper No. 208). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Wongwachara, W., Jindarak, B., Tunyavetchakit, S., Klungjaturavet, C., & Nookhwun, N. (2019). มิติใหม่ของนโยบายการเงินและการรักษาเสถียรภาพระบบการเงิน (aBRIDGEd No. 3/2019). Puey Ungphakorn Institute for Economic Research.
Zhang, L., & Zoli, E. (2016). Leaning against the wind: Macroprudential policy in Asia. Journal of Asian Economics, 42(C), 33–52.

  1. ประเทศไทยเคยใช้เป้าหมายแบบเป็นจุด (point) และมี tolerance band ระหว่างปี 2015–2019↩
  2. อย่างไรก็ตาม ประเด็นเรื่องความเป็นอิสระของธนาคารกลางอินโดนีเซียถูกตั้งคำถามอย่างมากในช่วงวิกฤต COVID-19 หลังธนาคารกลางอินโดนีเซีย finance การขาดดุลการคลังบางส่วน↩
  3. อย่างไรก็ตาม ต้องยอมรับว่าเสถียรภาพด้านราคาที่ปรับดีขึ้นในภูมิภาคอาเซียน ส่วนหนึ่งมาจากการควบคุมเงินเฟ้อของทางการผ่านการอุดหนุนราคา (subsidy) และการควบคุมราคา (price control) เช่นที่เกิดขึ้นในอินโดนีเซียและไทย แต่มาตรการของรัฐดังกล่าวมักจะไม่ยั่งยืนจากภาระทางการคลังที่สูงขึ้น ซึ่งทำให้ภาครัฐอาจต้องลดหรือยกเลิกการอุดหนุน จนในบางครั้งทำให้เงินเฟ้อผันผวนขึ้นแทน↩
  4. การเปลี่ยนแปลงเกณฑ์การจัดชั้นลูกหนี้ใหม่เป็นหนึ่งในมาตรการที่ทำให้หนี้เสียไม่เพิ่มขึ้นมาก↩
  5. งานวิจัยนี้ประยุกต์ใช้ staggered difference-in-differences ซึ่งได้รับการพัฒนาขึ้นมาในระยะหลังให้เหมาะกับลักษณะของ treatment ที่เกิดขึ้นไม่พร้อมกัน กล่าวคือ ประเทศแต่ละประเทศอาจเริ่มใช้กรอบเป้าหมายเงินเฟ้อในช่วงเวลาแตกต่างกัน↩
  6. ประเทศอินโดนีเซียได้รับผลกระทบอย่างมากในช่วง taper tantrum ที่ส่งผลให้เงินทุนไหลออกและค่าเงินอ่อนค่าลง ทำให้ทั้งภาครัฐและธนาคารกลางต้องใช้นโยบายแบบเข้มงวดเพื่อกอบกู้เสถียรภาพ↩
  7. มาตรการด้านเงินทุนเคลื่อนย้าย เช่น การกำหนดระยะเวลาขั้นต่ำในการถือครองตราสารที่ออกโดยธนาคารกลาง และการกำหนดเพดานการกู้ยืมเงินจากต่างประเทศของธนาคารพาณิชย์ เป็นต้น↩
  8. ต้นทุนของการปรับขึ้นอัตราดอกเบี้ยเพื่อจัดการกับการสะสมความเสี่ยงในภาคการเงินคือเศรษฐกิจและเงินเฟ้อที่อาจชะลอลงได้ในระยะสั้น ผู้อ่านสามารถศึกษาเพิ่มเติมเกี่ยวกับนโยบายการเงินกับการดูแลเสถียรภาพระบบการเงินได้ที่ Ananchotikul et al. (2023) และ Wongwachara et al. (2019)↩
  9. อ่านเพิ่มเติมเกี่ยวกับการผสานเครื่องมือเชิงนโยบายในบริบทของประเทศไทยได้ที่ Nookhwun et al. (2021)↩
นุวัต หนูขวัญ
นุวัต หนูขวัญ
สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์
รวิภา ไวยาวัจกร
รวิภา ไวยาวัจกร
ธนาคารแห่งประเทศไทย
Topics: Flexible inflation targetingMonetary policyASEAN
Tags: macroeconomicsmonetary economics
ข้อคิดเห็นที่ปรากฏในบทความนี้เป็นความเห็นของผู้เขียน ซึ่งไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของสถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

273 ถนนสามเสน แขวงวัดสามพระยา เขตพระนคร กรุงเทพฯ 10200

โทรศัพท์: 0-2283-6066

Email: pier@bot.or.th

เงื่อนไขการให้บริการ | นโยบายคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล

สงวนลิขสิทธิ์ พ.ศ. 2568 สถาบันวิจัยเศรษฐกิจป๋วย อึ๊งภากรณ์

เอกสารเผยแพร่ทุกชิ้นสงวนสิทธิ์ภายใต้สัญญาอนุญาต Creative Commons Attribution-NonCommercial-ShareAlike 3.0 Unported license

Creative Commons Attribution NonCommercial ShareAlike

รับจดหมายข่าว PIER

Facebook
YouTube
Email