กองทุนชราภาพระบบประกันสังคม: ปรับได้แค่ไหนให้ยั่งยืน เพียงพอ และยุติธรรม

ระบบประกัน ในหลักการนั้น หมายถึง การที่สมาชิกจ่ายเบี้ยประกันร่วมกันเพื่อลดความเสี่ยงจากภาระค่าใช้จ่ายที่เกิดจากเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดในอนาคต เช่น ประกันสุขภาพ ประกันอัคคีภัย สำหรับระบบประกันสังคม ของไทยก็มีการประกันความเสี่ยงในหลายรูปแบบ ทั้งการเจ็บป่วย ทุพพลภาพ เสียชีวิต คลอดบุตร ว่างงาน มีบุตร และชราภาพ โดยเบี้ยประกันนั้นมาจากการร่วมสมทบจากนายจ้าง ลูกจ้าง และรัฐบาล ในบทความนี้ เราจะวิเคราะห์ภาพของกองทุนชราภาพเป็นหลัก ซึ่งทำหน้าที่ประกัน ความเสี่ยง ที่คนบางกลุ่มอาจมีอายุยืนยาวเกินกว่าที่คาดคิดและมีเงินออมไม่พอใช้ ระบบการออมภาคบังคับในรูปแบบระบบประกันสังคมนี้ มักจะเรียกกันว่าระบบ defined benefit (DB) กล่าวคือ บำนาญ (benefit) ถูกกำหนด (defined) ไว้ล่วงหน้าตามสูตร โดยระบบใช้เงินสมทบของผู้ประกันตนในรุ่นปัจจุบันเพื่อจ่ายเป็นผลตอบแทนให้ผู้สูงอายุ ผลตอบแทนดังกล่าว มักจะให้เป็นบำนาญตลอดชีวิต มากน้อยขึ้นกับเงินสมทบและระยะเวลาส่งสมทบ
การออมภาคบังคับอีกรูปแบบหนึ่ง คือ ระบบบัญชีออมส่วนบุคคลเพื่อใช้จ่ายยามชราภาพ หรือระบบ defined contribution (DC) โดยในระบบนี้ ผู้ส่งสมทบจะมีบัญชีเป็นของตนเอง บำเหน็จหรือบำนาญที่ได้จึงขึ้นกับเงินที่ตนเองออมไว้ในบัญชีและผลตอบแทนที่เกิดจากการบริหารจัดการเงินในบัญชีนั้น เช่น กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ ระบบทั้งสอง ทั้ง DB และ DC ยังใช้อยู่เป็นที่แพร่หลาย เช่น สหรัฐอเมริกาและแคนาดา เลือกใช้ระบบ DB เป็นภาคบังคับและมี DC เป็นภาคสมัครใจ ออสเตรเลียและอิสราเอล ใช้ระบบ DC เป็นภาคบังคับ รวมทั้งมีบางประเทศที่ภาคบังคับเป็นระบบผสมผสาน เช่น ฝรั่งเศส สวีเดนและอินเดีย (ดูรายละเอียดเพิ่มเติมได้ใน Wasi et al., 2021)
ระบบประกันสังคมภาคบังคับ (มาตรา 33) นั้นเป็นการร่วมสมทบมาจาก 3 ฝ่าย ได้แก่ นายจ้าง 5% ลูกจ้าง 5% และรัฐบาล 2.75% ของเงินเดือน โดยคิดจากเงินเดือนไม่เกินเพดานที่ 15,000 บาท และแบ่งมาเป็นส่วนของกองทุนชราภาพและสงเคราะห์บุตร 7% (นายจ้างและลูกจ้าง 3% และรัฐบาล 1%) ผู้ประกันตนที่ส่งสมทบ 180 เดือน (หรือ 15 ปี) ขึ้นไป มีสิทธิได้รับเงินบำนาญตลอดชีวิต โดยอายุที่เริ่มขอรับบำนาญได้กำหนดไว้ที่ 55 ปี และสูตรเงินบำนาญคิดจาก
ทั้งนี้ ค่าเฉลี่ยของเงินเดือนคิดจากเงินเดือน 60 เดือนสุดท้ายที่ทำงานและมีเพดานเงินเดือนอยู่ที่ 15,000 บาทต่อเดือน ผู้ที่ส่งสมทบน้อยกว่า 180 เดือน แต่มากกว่า 12 เดือน จะได้เงินส่วนสมทบของตนเองและนายจ้าง ส่วนผู้ที่ส่งสมทบน้อยกว่า 12 เดือน จะได้รับเพียงส่วนสมทบของตนเองกลับคืนไป
กฎเกณฑ์ดังกล่าวทั้งฝั่งรายได้และฝั่งรายจ่ายของกองทุนที่ไม่สอดคล้องกัน และกฎเกณฑ์ที่ขาดความยืดหยุ่นที่จะสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจและโครงสร้างประชากรที่เปลี่ยนแปลงไป ทำให้เกิดปัญหาในหลาย ๆ มิติ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความไม่ยั่งยืนของกองทุนฯ บำนาญที่ไม่เพียงพอ และสูตรบำนาญที่ไม่ยุติธรรมสำหรับคนบางกลุ่ม1 โดยบทความนี้จะขอวิเคราะห์และเสนอทางออกในแต่ละประเด็นตามลำดับ
ทั้งงานของ International Labor Organization (2016) และ Poonpolkul et al. (2023) ประเมินว่าหากกองทุนชราภาพไม่มีการปรับเปลี่ยนกฎเกณฑ์ จะมีความเป็นไปได้สูงที่เงินของกองทุนชราภาพจะหมดลงภายในปีช่วง 20–30 ปีข้างหน้า
สาเหตุหลักของประเด็นนี้ มาจากการส่งสมทบและการจ่ายบำนาญที่ไม่สอดคล้องกัน โดยรายรับคิดเป็นเพียง 7% ของเงินเดือนของผู้ประกันตน แต่รายจ่ายคิดเป็นถึงอย่างน้อย 20% ของเงินเดือน2 ในกรณีนี้ หากกองทุนฯ จะอยู่ได้ ก็แปลว่า
- เงินสมทบต่อผู้ประกันตนหนึ่งคนของคนรุ่นหลังสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง ซึ่งแปลว่าคนรุ่นหลังมีเงินเดือนสูงขึ้นและกองทุนฯ มีการปรับเพดานเงินสมทบขึ้นอย่างสม่ำเสมอ
- ผู้ประกันตนรุ่นหลัง มีจำนวนมากขึ้นเรื่อย ๆ ซึ่งจะช่วยให้มีเงินสมทบเข้ามาในกองทุนมากขึ้น
- ผู้ประกันตนอายุไม่ยืนยาวนัก ระบบไม่ต้องจ่ายบำนาญนานมาก
- ผลตอบแทนของเงินลงทุนจะต้องสูงมาก
ในช่วง 25 ปีที่ผ่านมา ทั้งสี่ข้อข้างต้นยังไม่ได้เกิดขึ้นจริง และการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างประชากรทั้งสัดส่วนคนวัยทำงานที่ลดลงและอายุขัยที่สูงขึ้น ก็ทำให้ปัญหาดังกล่าวกลายเป็นระเบิดเวลาที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น
ข้อเสนอแนะ ด้านความไม่สอดคล้องในเรื่องรายรับและรายจ่าย
ในระยะสั้น การปรับเพดานเงินสมทบขึ้นจาก 15,000 บาท จะช่วยบรรเทาปัญหาของกองทุนฯ ได้บ้าง เพราะจะช่วยให้กองทุนฯ มีรายได้มาจ่ายบำนาญให้ผู้รับผลประโยชน์ในรุ่นปัจจุบันมากขึ้น ทั้งนี้ คณะกรรมการประกันสังคมอนุมัติให้มีการปรับเพดานเงินสมทบขึ้นและผ่านการประชาพิจารณ์แล้ว แต่ยังไม่ได้เป็นกฎหมายบังคับใช้ โดยเสนอว่าให้มีการปรับเพดานเงินสมทบ เป็น 17,500 บาท ในปี 2569–71 เป็น 20,000 บาท ในปี 2572–74 และเป็น 23,500 บาท ในปี 2575 ตามลำดับ
อย่างไรก็ดี การปรับเพดานเป็นเพียงการชะลอปัญหาแต่ไม่ได้แก้ที่ต้นเหตุ เพราะกลุ่มที่สมทบเพิ่มขึ้น 7% ของเงินเดือนภายใต้เพดานใหม่ ก็จะได้บำนาญ 20% ของเงินเดือนจากเพดานใหม่ ส่งผลให้รายจ่ายของกองทุนฯ เทียบกับรายได้ยิ่งเพิ่มขึ้นในอนาคต ในระยะยาว หากประเทศไทยยังต้องการให้กองทุนประกันสังคมเป็นหลักประกันรายได้ยามชราภาพของแรงงานในระบบ จำเป็นต้องมีการปรับสูตรทั้งฝั่งอัตราเงินสมทบและสูตรบำนาญ (ตัวอย่างในรายละเอียดด้านล่าง)
ข้อเสนอแนะ ด้านการเปลี่ยนแปลงโครงสร้างของประชากร
รายจ่ายของระบบบำนาญส่วนหนึ่งผูกอยู่กับอายุขัยของสมาชิก หากสมาชิกมีช่วงชีวิตหลังเกษียณที่ยาวขึ้น ระบบก็ต้องจ่ายบำนาญมากขึ้น ระบบในต่างประเทศมีการปรับตัวเพื่อสะท้อนกับอายุขัยของประชากรที่เพิ่มขึ้น โดยอายุเฉลี่ยที่เริ่มขอรับบำนาญได้ในประเทศ OECD เพิ่มจาก 62.7 เป็น 64.4 ปี ในช่วง 30 ปีที่ผ่านมา ของไทย แม้จะมีการกล่าวถึงการขยับอายุที่เริ่มขอรับบำนาญจาก 55 เป็น 60 ปี แต่ก็ยังไม่มีการปรับเปลี่ยน การเสนอแบบก้าวกระโดดดังกล่าวน่าจะทำได้ยากเพราะจะกระทบสมาชิกจำนวนมาก
การปรับอายุที่เริ่มขอรับบำนาญควรจะปรับแบบค่อยเป็นค่อยไปเพื่อให้กระทบคนให้น้อยที่สุด ของสหรัฐอเมริกากำหนดให้อายุที่เริ่มขอรับบำนาญได้อยู่ที่ 62 ปีมาตลอด แต่ค่อย ๆ ขยับอายุที่ได้รับบำนาญเต็มจาก 65 เป็น 67 ปี โดยใช้เวลาถึง 22 ปี ในการค่อย ๆ ขยับเกณฑ์ดังกล่าว (Wasi et al., 2020) ของจีนซึ่งกำลังจะเริ่มปรับขยับอายุเกษียณในปี 2568 นี้ วางแผนว่าจะใช้เวลาปรับ 15 ปี ในการขยับอายุเกษียณของผู้ชายจาก 60 เป็น 63 ปี และของผู้หญิงจาก 50–55 ปี เป็น 55–58 ปี
ประเทศไทยสามารถพิจารณาการขยับอายุในรูปแบบคล้าย ๆ กัน โดยให้อายุที่เริ่มขอรับบำนาญได้อยู่ที่ 55 ปี แต่มีการกำหนดอายุที่ได้รับบำนาญเต็มและค่อย ๆ ขยับอายุรับบำนาญเต็มออกไป โดยผู้ที่ขอรับบำนาญเร็วกว่าอายุรับบำนาญเต็ม จะได้รับบำนาญในระดับที่ลดลง แต่ลดลงอย่างเป็นธรรมเพราะถือว่ามีปีที่รับบำนาญยาวกว่า (ตัวอย่างในรายละเอียดด้านล่าง)
สาเหตุหลักของเรื่องนี้ คือ การที่กฎเกณฑ์ต่าง ๆ ของระบบไม่ได้ยืดหยุ่นพอที่จะสะท้อนโครงสร้างเศรษฐกิจที่เปลี่ยนไป ไม่ได้มีแนวคิดเกี่ยวกับมูลค่าของเงินที่ลดลงเมื่อเวลาผ่านไป ไม่ว่าจะเป็นผลตอบแทน เพดานเงินสมทบและเงินร่วมสมทบ
ข้อเสนอแนะ
การปรับตัวแปรเหล่านี้ให้เป็นมูลค่าจริง (indexation) เป็นคุณลักษณะของระบบรายได้ยามชราภาพทั่วโลก นอกจากการปรับเพดานสมทบที่สำนักงานประกันสังคม (สปส.) เสนอดังกล่าว ควรมีการวางแผนที่จะปรับขึ้นสม่ำเสมอหลังจากปี 2575 ด้วย เพื่อสะท้อนการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและค่าจ้างที่เพิ่มขึ้นโดยอาจจะผูกกับอัตราเงินเฟ้อหรือค่าจ้างเฉลี่ยของประเทศ
ในระยะยาว หากกองทุนฯ สามารถแก้ปัญหาความไม่สอดคล้องระหว่างรายรับและรายจ่ายได้ การพิจารณาปรับมูลค่าบำนาญที่คำนวณแล้วตามค่าครองชีพจะช่วยให้คนที่มีช่วงชีวิตที่ยาวนานมีบำนาญเพียงพอขึ้น หรือปรับสูตรบำนาญให้มีการกระจายรายได้เพื่อช่วยกลุ่มคนรายได้น้อยมากขึ้น
สาเหตุหลักของเรื่องนี้ คือ สูตรเงินบำนาญคิดจากเงินเดือนเพียง 60 เดือนสุดท้าย ส่งให้มูลค่าเงินบำนาญดังกล่าวไม่สะท้อนเงินสมทบตลอดชีวิตการทำงานของผู้ประกันตนบางกลุ่ม หากผู้ประกันตนเงินเดือนสูงมาโดยตลอดแต่กลับมีเงินเดือนลดลงในช่วง 60 เดือนสุดท้ายก็จะได้เงินบำนาญลดลง หรือหากผู้ประกันตนย้ายไปมาตรา 39 ในช่วงท้ายของชีวิตการทำงาน3 (ที่กำหนดให้ส่งสมทบ 432 บาทต่อเดือน เทียบเท่าฐานเงินเดือน 4800 บาท) ก็จะได้รับบำนาญน้อยลง ตัวอย่างเช่น หากมีเงินเดือน 15,000 บาทและส่งสมทบมาตรา 33 เป็นเวลา 15 ปี จะได้บำนาญ 3,000 บาทต่อเดือน แต่หากตัดสินใจย้ายไปมาตรา 39 หลังจากนั้นและสบทบต่ออีก 5 ปี จะเหลือบำนาญเพียง 1,320 บาทต่อเดือน
ข้อเสนอแนะ
ผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank, ILO และ PIER ได้เสนอให้มีการปรับสูตรบำนาญเพื่อแก้เรื่องความไม่ยุติธรรมดังกล่าวมาตั้งแต่ปี 2021 โดยเสนอให้คำนวนบำนาญตามรายได้เฉลี่ยตลอดชีวิตการทำงาน (career average) หรือค่าเฉลี่ยของ 180 เดือนที่เงินเดือนสูงที่สุดและเพิ่มขึ้นตามระยะเวลาที่ส่งสมทบ ทั้งนี้ ควรมีการปรับเงินเดือนที่ใช้คำนวณเป็นมูลค่าจริงด้วย เพราะช่วงชีวิตการทำงานที่เงินเดือนสูงสุดของคนแต่ละรุ่นอาจจะต่างกันไป ในปัจจุบัน สปส. ได้มีการเสนอการปรับสูตรบำนาญตามหลักการดังกล่าว ซึ่งผ่านคณะกรรมการประกันสังคมแล้วเมื่อต้น มี.ค. 2025 และอยู่ในระหว่างประชาพิจารณ์ แต่ยังไม่ได้มีการลงรายละเอียดมากนัก ทั้งนี้ หากมีการปรับเพดานเงินสมทบและกฎเกี่ยวกับอายุที่รับบำนาญได้ไปพร้อม ๆ กันในอนาคต สปส. ต้องมีการพิจารณาอย่างถี่ถ้วนเพื่อให้การเปลี่ยนผ่านเป็นธรรมกับสมาชิกทุกกลุ่ม
สิ่งที่ประเทศไทยต้องพิจารณาในระยะยาว คือ ปัญหารายได้ยามชราภาพไม่เพียงพอสำหรับคนแทบทุกกลุ่ม โดยควรมองที่ภาพใหญ่โดยเอาผู้สูงอายุเป็นตัวตั้งมากกว่าการมองทีละกองทุนฯ ว่าจะปรับแต่ละกองทุนฯ อย่างไร4 แรงงานไทยนั้นมีรูปแบบการทำงานที่หลากหลาย นอกจากแรงงานในระบบที่ทำงานในระบบตลอดชีวิตการทำงาน เรายังมีผู้ประกันตนจำนวนมากที่เคยอยู่ในระบบแต่ออกไปเป็นแรงงานนอกระบบระหว่างทาง รวมทั้งกลุ่มที่ไม่เคยเข้าระบบเลย
ข้อเสนอแนะ
รัฐบาลควรต้องออกแบบระบบทั้งหมดพร้อม ๆ กันในภาพใหญ่ ว่าระบบไหนควรจะทำหน้าที่อะไร ไม่ให้ซ้ำซ้อน การกระจายรายได้จะอยู่ส่วนใด และการจัดสรรงบประมาณไปสนับสนุนระบบใด จึงจะช่วยสนับสนุนการออมและรายได้ยามชราภาพได้มากที่สุด
การปรับเพดานเงินสมทบของประกันสังคมหรือแม้แต่การพิจารณาปรับระบบการออมภาคบังคับไปเป็นระบบ DC จะช่วยให้คนที่มีรายได้สูงในวัยทำงาน มีเงินบำนาญหรือเงินออมเพิ่มขึ้น แต่กลุ่มที่มีรายได้ต่ำหรือออกนอกระบบเร็ว ก็ยังมีปัญหาเงินชราภาพไม่เพียงพออยู่ดี ซึ่งส่วนนี้ทำให้รัฐควรมีการออกแบบการกระจายรายได้ควบคู่กันไป เช่น ระบบประกันสังคมของสหรัฐอเมริกามีกลไกการกระจายรายได้ในสูตรบำนาญ ประเทศที่ใช้ระบบ DC เช่น ออสเตรเลีย มีระบบบำนาญขั้นพื้นฐานที่คัดกรองให้สิทธิประโยชน์กับคนรายได้น้อยมากขึ้น โดยไม่ใช่ให้ทุกคนในระดับที่เท่ากัน
นอกจากนี้ ในปัจจุบันนั้น รัฐสนับสนุนและสร้างแรงจูงใจในการออมสำหรับผู้มีรายได้สูงค่อนข้างมาก เช่น การสนับสนุนทางอ้อมผ่านการให้หักลดหย่อนภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาสำหรับเงินสมทบเข้ากองทุนหลายประเภท (Muthitacharoen, 2017) ในทางกลับกัน สำหรับแรงงานนอกระบบซึ่งมีรายได้ต่ำ แรงจูงในในการร่วมสมทบจากรัฐของกองทุนการออมแห่งชาติหรือประกันสังคม มาตรา 40 ถูกกำหนดไว้ว่าไม่เกิน 1,800 บาทต่อคนต่อปี หากรัฐสามารถสร้างแรงจูงใจให้คนนอกระบบในวัยทำงานร่วมออมได้มากขึ้น น่าจะเป็นผลดีกับทั้งผู้สูงอายุเองและช่วยลดภาระทางการคลังในการดูแลผู้สูงวัยในระยะยาว
ในปัจจุบัน บำนาญคิดเป็น 20% ของเงินเดือนเฉลี่ยหากสมทบ 15 ปี (180 เดือน) และหากสมทบเกิน 15 ปี เพิ่มขึ้นอีก 1.5% ต่อปีที่เพิ่มขึ้น โดยเงินเดือนเฉลี่ยคิดจาก 60 เดือนสุดท้าย
ข้อเสนอแนะ:
- เปลี่ยนจากการใช้ 60 เดือนสุดท้าย มาใช้ 180 เดือนที่มีรายได้สูงที่สุดในช่วงชีวิตการทำงาน
- การใช้จำนวนเดือนเพียง 180 เดือน (15 ปี) มาคำนวณ น่าจะเป็นการเหมาะสมแล้วในช่วงต้นของการเริ่มกองทุนฯ แต่ในอนาคต อาจจะมีการพิจารณาปรับเปลี่ยนให้ใช้ระยะเวลาที่ยาวขึ้น เช่น สหรัฐอเมริกาใช้เวลาเฉลี่ยถึง 35 ปี ของไทยอาจจะค่อย ๆ มีการปรับเปลี่ยนจาก 180 เดือน เป็น 192 เดือน สำหรับผู้ที่เกิดปี 2517 และค่อย ๆ เพิ่มทีละปีตามปีเกิดเป็น 360 เดือน (30 ปี)
- เดือนที่ไม่ทำงานถือว่ารายได้เป็นศูนย์ เช่น กรณีคิดรายได้สูงสุด 192 เดือน หากสมทบ 180 เดือน ให้นับรายได้ 12 เดือนที่เหลือเป็นศูนย์ ซึ่งการคำนวนลักษณะนี้สร้างแรงจูงใจให้คนอยู่ในระบบนานขึ้น
- ปรับด้วยอัตราค่าจ้างเฉลี่ยของประเทศ เพื่อคิดเป็นมูลค่าจริง ณ อายุ 55 ปี
- ยกเลิกการเพิ่ม credit 1.5% เพราะการปรับสูตรในข้อ 3) และ 4) เป็นการสร้างแรงจูงใจให้ทำงานนานขึ้นอยู่แล้ว การใช้ credit 1.5% หากในอนาคต แรงงานส่งเงินสมทบ 30 ปี จะมีเงินสมทบคิดเป็น 32.5% ของเงินเดือน (ขณะที่ส่วนรายรับของกองทุนยังอยู่ที่ร้อยละ 7)
- ทยอยปรับอัตราสมทบอย่างช้า ๆ ให้รายรับของกองทุนฯ สอดคล้องกับรายจ่ายมากขึ้นในระยะยาว
ควรมีการแยกระหว่างอายุที่เริ่มรับบำนาญได้และอายุเกษียณปกติ (ได้รับบำนาญเต็ม) ออกจากกัน โดย
- อายุเริ่มรับบำนาญได้อยู่ที่ 55 ปี สำหรับผู้ประกันตนทุกรุ่น เพราะบางคนอาจจะสุขภาพไม่ดี
- ค่อย ๆ ปรับเพิ่มอายุเกษียณปกติ (รับบำนาญเต็ม) เช่น อายุเกษียณปกติ
- อยู่ที่ 55 ปี สำหรับผู้ที่ก่อนปี 2517
- อยู่ที่ 55 ปี 6 เดือน สำหรับผู้ที่เกิดปี 2517
- อยู่ที่ 56 ปี สำหรับผู้ที่เกิดปี 2518
- และค่อย ๆ ขยับขึ้นไป
- การรับบำนาญก่อนอายุเกษียณปกติ จะได้รับเงินในสัดส่วนที่ลดลงตามจำนวนปีที่ขอรับก่อน โดยใช้อัตราที่เป็นธรรม เพราะมีระยะเวลารับบำนาญที่ยาวกว่า (actuarially fair rate)5
เอกสารอ้างอิง
- ผู้เชี่ยวชาญจาก World Bank และ ILO ก็มีความเห็นสอดคล้องกัน สามารถอ่านรายละเอียดได้จากสรุปการเสวนาวิชาการ Thailand's Pension Reform: Towards an Inclusive, Adequate and Sustainable Pension System↩
- ในช่วงเริ่มจัดตั้งกองทุนประกันสังคม สำนักงานประกันสังคมและผู้เชี่ยวชาญก็พอทราบภาพดังกล่าวอยู่แล้ว และมีความตั้งใจว่าจะค่อย ๆ ปรับอัตราสมทบทั้งฝั่งนายจ้างและลูกจ้างให้สูงขึ้น อย่างไรก็ตาม แม้ว่ากองทุนจะดำเนินการมากว่า 20 ปี ก็ยังไม่สามารถมีการปรับเปลี่ยนอะไรได้↩
- มาตรา 39ของประกันสังคมเป็นการประกันตนแบบสมัครใจสำหรับผู้ที่เคยเป็นผู้ประกันตนในมาตรา 33 มาก่อน แต่ได้ลาออกจากงาน โดยต้องส่งสมทบเดือนละ 432 บาท และได้รับสิทธิประโยชน์ต่างๆ เหมือนมาตรา 33 ยกเว้นการประกันการว่างงาน↩
- อ่านเพิ่มเติมใน PIER Blog, Poonpolkul et al. (2023) และ Wasi et al. (2021)↩
- ตัวอย่างของสหรัฐฯ กรณีอายุเกษียณปกติอยู่ที่ 67 ปี แต่ขอรับบำนาญตั้งแต่อายุ 62 ปี จะถูกหักบำนาญ 30%↩